คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2208/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อพิเคราะห์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งมีข้อตกลงที่โจทก์ยอมให้แก่จำเลยทั้งสามผ่อนชำระหนี้ตามเช็คพิพาทเป็นงวด โดยฝ่ายจำเลยยอมออกเช็คฉบับใหม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งผลของการประนีประนอมยอมความดังกล่าว ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น แม้เช็คที่ฝ่ายจำเลยสั่งจ่ายทั้งสามฉบับตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้อันเป็นการไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยทั้งสามรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้ได้อีก ถือได้ว่าหนี้ที่จำเลยทั้งสามได้ออกเช็คพิพาทตามฟ้องเพื่อใช้เงินนั้นเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดคดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 นับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1832/2547 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 2 กระทง ลงโทษจำเลยที่ 1 กระทงแรกปรับ 50,000 บาท กระทงที่ 2 ปรับ 20,000 บาท ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทงแรก จำคุกคนละ 9 เดือน กระทงที่ 2 จำคุกคนละ 3 เดือน รวมปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 70,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 12 เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 35,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 เดือน นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1427/2549 ของศาลชั้นต้น หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ยกคำขอให้นับโทษต่อในส่วนจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า หลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในคดีนี้แล้ว ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสามทำสัญญาตกลงกันโดยโจทก์ให้จำเลยทั้งสามผ่อนชำระหนี้ตามเช็คพิพาทเป็นงวดและฝ่ายจำเลยออกเช็คฉบับใหม่ 3 ฉบับ ให้แก่โจทก์ ตามหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับลงวันที่ 28 มกราคม 2548 ท้ายอุทธรณ์เพิ่มเติมของจำเลยทั้งสาม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปแล้วหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิเคราะห์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวซึ่งมีข้อตกลงที่โจทก์ยอมให้จำเลยทั้งสามผ่อนชำระหนี้ตามเช็คพิพาทเป็นงวด โดยฝ่ายจำเลยยอมออกเช็คฉบับใหม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งผลของการประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น แม้เช็คที่ฝ่ายจำเลยสั่งจ่ายทั้งสามฉบับตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้อันเป็นการไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยทั้งสามรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้ได้อีก ถือได้ว่าหนี้ที่จำเลยทั้งสามได้ออกเช็คพิพาทตามฟ้องเพื่อใช้เงินนั้นเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกัน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า เป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share