คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2308/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ และมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงและพิมพ์ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความหรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้กระทำในฐานเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์กรของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น” ซึ่งการฝ่าฝืนมาตรา 33 นี้มีโทษทางอาญาตามมาตรา 82 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความและไม่ปรากฎว่าเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 33 การที่จำเลยที่ 2 เรียงหรือแต่งฟ้องอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ครบองค์ประกอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 215 ประกอบด้วยมาตรา 158 (7) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 8, 9, 14, 31, 35 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 ริบเลื่อยและมีดของกลาง ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือน ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 9 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกคนละ 4 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ และมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงและพิมพ์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความหรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาลหรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น” ซึ่งการฝ่าฝืนมาตรา 33 นี้มีโทษทางอาญาตาม มาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ และไม่ปรากฎว่าเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นตาม มาตรา 33 การที่จำเลยที่ 2 เรียงหรือแต่งฟ้องอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย คำฟ้องอุทรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ครบองค์ประกอบตามประมวลกฎมหายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 215 ประกอบด้วยมาตรา 158 (7) ที่จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดามิได้เรียนหนังสือจึงอ่านและเขียนหนังสือไม่ได้ ไม่สามารถที่จะเรียงและเขียนอุทธรณ์ได้ด้วยตนเอง จำเลยที่ 1 เป็นภริยาจำเลยที่ 2 นั้น ไม่สามารถรับฟังได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มานั้น จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 1 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 แล้วฎีกาในส่วนนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้คงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าสมควรลงโทษจำเลยที่ 2 สถานเบาและรอการลงโทษให้หรือไม่ ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติสำคัญที่ประชาชนควรร่วมกันบำรุงรักษาป้องกันไว้ จำเลยที่ 2 บุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ป่าสงวนแห่งชาติเป็นของตนเองโดยร่วมกันใช้เลื่อยตัดแบบใช้มือ ตัด โค่นไม้ยืนต้น คิดเป็นเนื้อที่ 6 ไร่ 66 ตารางวา เป็นการทำให้เสื่อมเสียป่าสงวนแห่งชาติอันมีผลกระทบต่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งจะเป็นผลเสียหายต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ พฤติการณ์ในการกระทำความผิดนับว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อทรัพยากรป่าไม้และสังคมส่วนรวม แม้จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และมีภาระต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัวก็ยังไม่เพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share