คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3407/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแปลความหมายแห่งสัญญานั้นจะต้องดูข้อความที่ปรากฏในสัญญาทั้งฉบับและเจตนาของคู่สัญญาที่มุ่งทำสัญญาต่อกัน ตามสัญญาจำนองมีข้อความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 ที่ 14 ที่ 16 ที่ 17 และ ผ. จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ตามสัญญาฝากเก็บและแปรสภาพข้าวเปลือกของจำเลยที่ 1 ที่ทำไว้กับโจทก์เป็นเงินแต่ละจำนวนที่ระบุไว้ตามลำดับ ซึ่งเป็นการระบุจำนวนต้นเงินไว้ชัดแจ้งแน่นอน แสดงให้เห็นว่าผู้จำนองแต่ละคนมีเจตนาจำนองที่ดินซึ่งประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงินที่ระบุไว้ในสัญญาจำนองเท่านั้น แม้สัญญาจำนองจะมีข้อสัญญาด้วยว่า เมื่อมีการบังคับจำนองเอาทรัพย์ซึ่งจำนองนี้ออกขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับค่าอุปกรณ์ต่างๆ ดังได้กล่าวแล้วนั้นเงินยังขาดอยู่จำนวนเท่าใด ผู้จำนองและลูกหนี้ยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวน ก็มีความหมายแต่เพียงว่าผู้จำนองแต่ละคนยอมเข้ารับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาภายในต้นเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระของต้นเงินดังกล่าวเท่านั้น หาได้มีความหมายว่าจะต้องรับผิดชำระหนี้ที่ขาดจำนวนหลังจากบังคับจำนองซึ่งเท่ากับจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ทั้งจำนวนไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 175,006,206.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้บังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 20 หากไม่พอให้จำเลยที่ 7 ถึงที่ 17 และที่ 20 ชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 14 ที่ 16 ที่ 17 และที่ 20 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ที่ 10 ถึงที่ 13 ที่ 18 และที่ 19 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ที่ 8 ที่ 14 และที่ 17 ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นายอนุชา นายสุธน นางจอมศรี และนายสมคิด เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยดังกล่าวตามลำดับ และโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายธนากรณ์ เข้าเป็นจำเลยร่วม เนื่องจากนายธนากรณ์เป็นทายาทของจำเลยที่ 15 ซึ่งถึงแก่กรรมไปก่อนโจทก์ฟ้องคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 15
จำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 1 ที่ 9 ที่ 14 ที่ 16 และที่ 20 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 146,494,111.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 13 มีนาคม 2535) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 55, 59, 60, 72, 173, 176, 729, 745 และ 1153 ตำบลวังดาล อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 953 ตำบลหาดนางแก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 213 ตำบลประจันตคาม อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 13, 77, 86, 97, 118 และ 172 ตำบลโนนหมากเค็ง อำเภอวัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรี (ปัจจุบันจังหวัดสระแก้ว) และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 454, 583, 653, 658, 682, 699 และ 700 ตำบลหนองแวง อำเภอวัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรี (ปัจจุบันจังหวัดสระแก้ว) ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ทั้งนี้ หากขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามวงเงินที่จำนอง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ที่ 18 และที่ 19 ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด แต่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยที่ต้องชำระตามวงเงินจำนองไม่เกิน 5 ปี และรับผิดไม่เกินวงเงินที่จำนอง ส่วนจำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 ที่ 14 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 20 และจำเลยร่วมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดแต่ไม่เกินวงเงินจำนอง และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยที่ต้องชำระตามวงเงินจำนองไม่เกิน 5 ปี ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 14 ที่ 16 ถึงที่ 20 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 ให้ยกคำขออื่น
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองจากจำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 ที่ 14 ที่ 16 ที่ 17 และที่ 20 ได้เพียงใด เห็นว่า การแปลความหมายแห่งสัญญานั้นจะต้องดูข้อความที่ปรากฏในสัญญาทั้งฉบับและเจตนาของคู่สัญญาที่มุ่งตกลงทำสัญญาต่อกัน ตามหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 ที่ 14 ที่ 16 ที่ 17 และนายผันมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนจำนองแทนนั้น ปรากฏว่ามิได้มีข้อความระบุให้อำนาจจำเลยที่ 1 ทำข้อตกลงรับผิดในหนี้ส่วนที่ขาดหลังจากการบังคับจำนอง ประกอบกับหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ. 20 ถึง จ. 28 จ. 32 จ. 33 และ จ. 35 ถึง จ. 37 มีข้อความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 ที่ 14 ที่ 16 ที่ 17 และนายผันจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ตามสัญญาฝากเก็บและแปรสภาพข้าวเปลือกของจำเลยที่ 1 ที่ทำไว้กับโจทก์เป็นเงิน 25,157.50 บาท 24,607.50 บาท 34,567.50 บาท 6,032.50 บาท 45,267.50 บาท 435 บาท 787.50 บาท 340 บาท 32,725 บาท 447.50 บาท 457.50 บาท 18,725 บาท 42,000 บาท และ 457.50 บาท ตามลำดับ ซึ่งเป็นการระบุจำนวนต้นเงินจำนองไว้ชัดแจ้งแน่นอน แสดงให้เห็นว่าผู้จำนองแต่ละคนมีเจตนาจำนองที่ดินของตนเพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงินที่ระบุไว้ในสัญญาจำนองเท่านั้น แม้สัญญาจำนองจะมีข้อสัญญาด้วยว่า “เมื่อถึงการบังคับจำนองเอาทรัพย์ซึ่งจำนองนี้ขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับค่าอุปกรณ์ต่างๆ ดังได้กล่าวแล้วนั้น เงินยังขาดอยู่จำนวนเท่าใด ผู้จำนองและลูกหนี้ยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวน” ก็มีความหมายแต่เพียงว่าผู้จำนองแต่ละคนยอมเข้ารับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาภายในต้นเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระของต้นเงินดังกล่าวเท่านั้น หาได้มีความหมายว่าจะต้องรับผิดชำระหนี้ที่ขาดจำนวนหลังจากบังคับจำนองซึ่งเท่ากับจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ต่อโจทก์ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 บัญญัติให้ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ที่ศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาถึงข้อจำกัดความรับผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวของจำเลยที่ 18 ถึงที่ 20 และจำเลยร่วมนั้นจึงไม่ชอบ อีกทั้งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 โดยมิได้มีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไว้และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้มีคำสั่งแก้ไขก็ไม่ชอบเช่นเดียวกัน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 18 ถึงที่ 20 และจำเลยร่วมให้รับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share