แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการพิจารณาพิพากษาคดีแรงงาน แม้ในกรณีจำเลยขาดนัดที่ให้ศาลชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวนั้นหากศาลแรงงานเห็นว่าตามคำฟ้อง คำให้การคำแถลงของคู่ความ และพยานหลักฐานอื่นที่ปรากฏอยู่ในสำนวนคดีพอวินิจฉัยได้แล้วศาลแรงงานย่อมมีอำนาจพิจารณา พิพากษาคดีไปได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานของ โจทก์หรือจำเลย ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 วรรคหนึ่งกำหนดให้ผู้รับเหมาชั้นต้นต้องร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในค่าจ้างที่ต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาช่วงและเป็นนายจ้างโจทก์ยังไม่ชำระค่าจ้างให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาชั้นต้น และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าจ้างตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 31 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้นายจ้างที่ผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้น เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยจึงต้องจ่ายดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
ย่อยาว
คดีทั้งเก้าสำนวนศาลแรงงานกลางให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 9
โจทก์ทั้งเก้าสำนวนฟ้องใจความว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเหมาชั้นต้น จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาช่วงเดือนกรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ทั้งเก้าเข้าทำงานเป็นลูกจ้างก่อสร้างสำนักงาน ตกลงจ่ายค่าจ้างเป็นรายวันโจทก์ทั้งเก้าทำงานจนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2540 จำเลยที่ 1ค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์แต่ละคนตามคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวนขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์แต่ละคนตามคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ทั้งเก้าสำนวนขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งเก้าสำนวนให้การว่า จำเลยที่ 1รับเหมาช่วงงานจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้ชำระค่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ถูกต้องครบถ้วนแล้ว โจทก์ทั้งเก้าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า แม้โจทก์ทั้งเก้าเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 แต่เมื่อจำเลยที่ 2เป็นผู้รับเหมาชั้นต้นจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในค่าจ้างค้างจ่ายด้วยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 30,000 บาท5,400 บาท 6,900 บาท 7,500 บาท 5,600 บาท 5,400 บาท 3,200 บาท 3,600 บาท และ 4,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งเก้าตามลำดับ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งเก้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3อุทธรณ์ข้อแรกว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ขาดนัด ดังนั้น ก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาคดี ศาลแรงงานกลางจะต้องสืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียว แต่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีนี้โดยเพียงแต่สอบข้อเท็จจริงจากโจทก์ที่ 1 กับที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีของโจทก์ทั้งเก้า และจำเลยที่ 2 กับที่ 3โดยไม่มีการสืบพยานโจทก์การพิพากษาคดีของศาลแรงงานกลางจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความนั้นเห็นว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดี แม้ในกรณีจำเลยขาดนัดที่ให้ศาลชั้นต้นตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว หากศาลเห็นว่าตามคำฟ้อง คำให้การ คำแถลงของคู่ความและพยานหลักฐานอื่นที่ปรากฏอยู่ในสำนวน คดีพอวินิจฉัยได้แล้วศาลก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีไปได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานของโจทก์หรือจำเลยอีกต่อไป คดีนี้แม้จำเลยที่ 1 ขาดนัดแต่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าตามคำฟ้อง คำให้การ และคำแถลงของโจทก์ที่ 1 กับที่ 2 และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 คดีพอวินิจฉัยได้แล้วศาลแรงงานกลางก็มีอำนาจสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาคดีไปได้ การพิพากษาคดีของศาลแรงงานกลางจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย
ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ข้อที่สองว่า จำเลยที่ 2ได้จ่ายค่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนถูกต้องแล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเก้าอีกนั้นเห็นว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 วรรคหนึ่งกำหนดให้ผู้รับเหมาชั้นต้น ต้องร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในค่าจ้างที่ต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงและเป็นนายจ้างโจทก์ทั้งเก้ายังไม่ชำระค่าจ้างให้โจทก์ทั้งเก้า จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นผู้รับเหมาชั้นต้น และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าจ้างตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว
ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ศาลแรงงานกลางควรกำหนดดอกเบี้ยในค่าจ้างค้างจ่ายอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่โจทก์ทั้งเก้านั้นเห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 วรรคหนึ่ง กำหนดให้นายจ้างที่ผิดนัดในการจ่ายค่าจ้าง ต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี คดีนี้จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งเก้าจำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายดอกเบี้ยให้โจทก์ทั้งเก้าในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
พิพากษายืน