คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4397/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้ามรดกทำพินัยกรรมมีข้อความย่อหน้าแรกระบุว่า ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นางลูกจันทร์ โจทก์ร่วม และนางมาลัย และย่อหน้าที่สองระบุว่าหากว่าจะมีใครอื่นนอกจากที่ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดกทั้งสิ้น ดังนั้น แม้เจ้ามรดกจะไม่ได้ระบุตัวทายาทที่ถูกตัดมิให้รับมรดกว่า คือ นายจุล นางสาวลำพวน และจำเลยที่ 1 ไว้โดยชัดแจ้ง แต่การที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกของตนทั้งหมดให้แก่นางลูกจันทร์ โจทก์ร่วม และนางมาลัยไปหมดแล้ว ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และทายาทคนอื่นที่ไม่ได้รับทรัพย์มรดกจากพินัยกรรม เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสามแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของนางลูกจันทร์ และนางมาลัยไม่มีผลใช้บังคับ เพราะขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1653 ประกอบ มาตรา 1705 คงสมบูรณ์เฉพาะข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของโจทก์ร่วม ดังนั้น ทรัพย์มรดกส่วนที่มีข้อกำหนดให้ตกเป็นของนางลูกจันทร์และนางมาลัยซึ่งเสียเปล่าไม่มีผลใช้บังคับนั้นจึงตกแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1620 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1699

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3449 และสิ่งปลูกสร้างคือบ้านเลขที่ 374 ถนนศรีอุทัย ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานีของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การและฟ้องแย้งว่า ขอให้พิพากษายกฟ้องและให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างนางส้มโอ กับโจทก์ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2546 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3449 อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี พร้อม บ้านเลขที่ 374 อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทของนางส้มโอ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุขหรือสุกหรือศุขและนางลำใย ที่โอนให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัวฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2545 และวันที่ 15 พฤศจิกายน 2545 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3449 อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี ให้นางส้มโอ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุขหรือสุกหรือศุข และนางลำใย โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 3449 อำเภอเมืองอุทัยธานีจังหวัดอุทัยธานี ให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 1 ใน 9 ส่วน หากนางส้มโอไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกนางส้มโอ เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ศาลมีคำสั่งอนุญาต
โจทก์และโจทก์ร่วมยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกจากนายสุขหรือสุกหรือศุขและนางลำใย จำนวน 1 ใน 9 ส่วนตามพินัยกรรม เพราะวรรคสองของพินัยกรรมระบุว่าบุคคลอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในพินัยกรรมย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดก จำเลยที่ 1 จึงถูกตัดมิให้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมดังกล่าว
ระหว่างพิจารณา โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองแถลงสละประเด็นข้อพิพาท และไม่ติดใจสืบพยานโจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองอีกต่อไป แต่ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า เมื่อพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2504 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 617/2541 ของศาลชั้นต้นมีข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนทรัพย์มรดกที่ให้แก่นางลูกจันทร์ และนางมาลัย เป็นโมฆะแล้ว ทรัพย์มรดกดังกล่าวตกได้แก่โจทก์ร่วมแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างนางส้มโอ กับโจทก์ ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2546 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3449 อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 374 อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินของนางส้มโอ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุขหรือสุกหรือศุขและนางลำใย ที่จดทะเบียนโอนให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัว ฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2545 และวันที่ 15 พฤศจิกายน 2545 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3449 อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี และให้นางส้มโอ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุขหรือสุกหรือศุขและนางลำใย จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 3449 อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี ให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 1 ใน 9 ส่วน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วม ให้โจทก์และโจทก์ร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 3,000 บาท
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรม มีข้อความย่อหน้าแรกระบุว่า ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นางลูกจันทร์ โจทก์ร่วมและนางมาลัย และย่อหน้าที่สองระบุว่า หากว่าจะมีใครอื่นนอกจากที่ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมนี้ ย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้าทั้งสิ้น ข้อความทั้งสองวรรคในพินัยกรรมดังกล่าวแสดงว่าเจ้ามรดกได้แสดงเจตนาตัดทายาทอื่นอีก 3 คน คือ นายจุล นางสาวลำพวนและจำเลยที่ 1 มิให้รับมรดกของเจ้ามรดกทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 บัญญัติว่า “เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง
(1) โดยพินัยกรรม
(2) โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตัวทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกนั้นต้องระบุไว้ให้ชัดเจน
แต่เมื่อบุคคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้วให้ถือว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรม เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก” จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่า วรรคที่ 1 และที่ 2 เป็นกรณีตัดทายาทไม่ให้รับมรดกโดยตรง คือ หากเจ้ามรดกต้องการตัดทายาทคนใดมิให้รับมรดกของตนก็ต้องแสดงเจตนาในพินัยกรรมโดยระบุตัวทายาทคนดังกล่าวโดยชัดแจ้งว่าถูกตัดมิให้รับมรดกของเจ้ามรดก ส่วนในวรรคสาม เป็นกรณีตัดทายาทไม่ให้รับมรดกโดยปริยายคือ แม้เจ้ามรดกไม่ได้ระบุตัวทายาทที่ประสงค์จะตัดมิให้รับมรดกไว้ แต่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกของตนไปทั้งหมดแล้ว ให้ถือว่าทายาทโดยธรรมผู้อื่นที่ไม่ได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก ดังนั้น แม้เจ้ามรดกทั้งสองไม่ได้ระบุตัวทายาทที่ถูกตัดมิให้รับมรดก คือ นายจุล นางสาวลำพวนและจำเลยที่ 1 ให้รับมรดกไว้โดยชัดแจ้งก็ตาม แต่การที่เจ้ามรดกทั้งสองได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกของตนทั้งหมดให้นางลูกจันทร์ โจทก์ร่วมและนางมาลัยไปหมดแล้ว ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และทายาทคนอื่นที่ไม่ได้รับทรัพย์มรดกจากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 วรรคสาม แล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่าข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของนางลูกจันทร์และนางมาลัยไม่มีผลใช้บังคับ คงสมบูรณ์เฉพาะข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของโจทก์ร่วม ดังนั้น ข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์มรดกส่วนของนางลูกจันทร์และนางมาลัยซึ่งเสียเปล่าไม่มีผลใช้บังคับจึงตกแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1620 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1699 ทรัพย์มรดกในส่วนของนางลูกจันทร์และนางมาลัยย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย ตามบทบัญญัติดังกล่าว มิใช่ตกได้แก่โจทก์ร่วมแต่ผู้เดียว โจทก์ร่วมจึงไม่มีอำนาจจดทะเบียนยกทรัพย์มรดกที่ดิน โฉนดเลขที่ 3449 และสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์แต่เพียงผู้เดียวที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share