แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์อุทธรณ์แต่เพียงขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ด้วยโดยมิได้ขอให้ได้รับชำระค่าเสียหายและดอกเบี้ยเต็มตามที่ขอท้ายฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกขึ้นวินิจฉัยว่าค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้นเหมาะสมแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นั้นไม่ชอบ และพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วย จึงไม่ชอบ ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงเห็นควรพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 4 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบ มาตรา 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์รถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน 3ท-3354 เชียงใหม่ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของอู่ซ่อมรถชื่อว่า วัวลายเซอร์วิส โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์มอบหมายให้นางสาวแสงเรือน นำรถยนต์คันดังกล่าวไปซ่อมที่อู่วัวลายเซอร์วิส ต่อมาปรากฏว่ารถยนต์ของโจทก์สูญหายไปเนื่องจากจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของโจทก์ไปแล้วมิได้นำรถยนต์คันดังกล่าวกลับมาอีก โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสี่ส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวคืน แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย การกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน 3ท-3354 เชียงใหม่ คืนแก่โจทก์ หากส่งมอบคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 154,008 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 204 ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และเคยอนุญาตให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรชายใช้เป็นสถานที่ประกอบธุรกิจเคาะพ่นสีรถยนต์ แต่เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2542 จำเลยที่ 4 ป่วยไม่สามารถประกอบธุรกิจดังกล่าวได้จึงปิดกิจการลง มีนายแสงเทียนหรือแดง ช่างเคาะพ่นสีขอเช่าสถานที่ตลอดจนเครื่องมือเคาะพ่นสีของจำเลยที่ 4 เพื่อประกอบกิจการต่อจากจำเลยที่ 4 โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวแสงเรือนนำรถยนต์คันพิพาทมาซ่อมกับนายแสงเทียนโดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่เคยรับรู้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของนายแสงเทียนแอบขับรถยนต์คันพิพาทของโจทก์หนีไป จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่เคยพบหรือพูดคุยกับโจทก์และนางสาวแสงเรือนเกี่ยวกับรถยนต์คันพิพาทไม่ว่าก่อนหรือหลังเกิดเหตุ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 4 ถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันส่งมอบรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน 3ท-3354 เชียงใหม่ คืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 125,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันเหรือแทนกันส่งมอบรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน 3ท-3354 เชียงใหม่ คืนให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 125,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระต่อศาลในนามโจทก์และให้ร่วมกันใช่ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 3,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ว่า โจทก์ควรได้รับค่าเสียหายเพียงใดนั้น โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นและจำเลยที่ 3 มิได้แก้อุทธรณ์ ประเด็นข้อนี้จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เหมาะสมแล้ว จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากที่คู่ความอุทธรณ์อันเป็นการไม่ชอบ จึงถือว่าเรื่องค่าเสียหายเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง คดีนี้โจทก์อุทธรณ์แต่เพียงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดด้วยโดยมิได้ขอให้ได้รับชำระค่าเสียหายและดอกเบี้ยเต็มตามที่ขอท้ายฟ้องแต่อย่างใด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกขึ้นวินิจฉัยว่า ค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้นเหมาะสมแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นั้นไม่ชอบ และพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วย จึงไม่ชอบ ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงเห็นควรพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 4 ที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องร่วมกันรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ