คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ยกที่ดินให้จำเลยปลูกสร้างตึกแถว 5 ห้อง จำเลยมีภาระผูกพันที่จะต้องเอาที่ดินไปจำนองเพื่อนำเงินมาลงทุนในการปลูกสร้างด้วยสร้างเสร็จแล้วจำเลยจะต้องยกให้โจทก์ 1ห้อง เป็นการตอบแทน การยกที่ดินให้ดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการยกให้โดยเสน่หา แต่เป็นลักษณะของสัญญาต่างตอบแทนตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมที่โจทก์ยอมให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินส่วนของโจทก์นั้น ก็ปรากฏข้อความระบุไว้ว่า จำเลยได้ให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 100,000บาท โจทก์จะนำสืบว่าการทำนิติกรรมดังกล่าวไม่มีค่าตอบแทนไม่ได้ เพราะเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เมื่อมิได้ยกที่ดินพิพาทให้โดยเสน่หา โจทก์จึงขอให้เพิกถอนการยกให้ไม่ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การยกให้ที่ดินบางส่วนในโฉนดเนื้อที่ 30 ตารางวา เป็นการให้โดยมีค่าตอบแทน ส่วนการยกให้อีก 7 รายการ เป็นการยกให้โดยเสน่หาแต่ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์และโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์นำสืบว่ายกให้จำเลยที่ 1 จำนวย 30 ตารางวาในโฉนดเลขที่ 38284 นั้น ปรากฏว่าต่อมาได้แบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 40997 และ 40998 เดิมแล้วได้รวมเป็นโฉนดฉบับเดียวกัน คือโฉนดเลขที่ 40997 เอกสารหมาย จ.2 มีเนื้อที่ 37 ตารางวา แต่เมื่อสร้างตึกแถว 5 ห้องขึ้นในที่ดินของโจทก์ และในที่ดินพิพาทแล้ว ปรากฏว่าระหว่างที่ดินพิพาทและที่ดินของโจทก์ที่แยกโฉนดออกมาสร้างตึกแถวนั้น มีที่ว่างเหลืออยู่ 7 ตารางวา คือโฉนดเลขที่ 41394 ซึ่งโจทก์จดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2522 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับที่ดินดังกล่าวมาแล้วได้แบ่งแยกออกเป็น 3 โฉนด คือโฉนดเลขที่ 415 มีเนื้องที่ 4 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินพิพาทที่สร้างตึกแถวเลขที่ 236/38 ปรากฏตามหนังสือสัญญาจะให้เอกสารหมาย จ.5 และโฉนดเลขที่ 41676 มีเนื้อที่ 2 ตารางวา ส่วนโฉนดเลขที่ 41394 คงเหลือเนื้อที่เพียง 1 ตารางวา ที่ดินตามโฉนด 2 ฉบับหลังนี้อยู่ติดด้านหลังของที่พิพาท จึงเห็นได้ว่าที่ดิน 7 ตารางวาที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ตามโฉนดเลขที่ 41394 นั้น ก็คือที่ดินส่วนหนึ่งที่ปลูกตึกแถวเลขที่ 236/38 และ236/39 ซึ่งเป็นที่พิพาทในคดีนี้นั่นเอง

โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 โดยไม่มีค่าตอบแทนเป็นการยกให้โดยเสน่หา ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าในการยกให้โดยเสน่หานี้ มีเงื่อนไขว่าโจทก์จะเป็นผู้ทำการก่อสร้างตึกแถวให้จำเลยทั้งสองรวมเป็น 2 ห้อง โดยจำเลยไม่ต้องออกค่าก่อสร้าง แต่จะต้องให้โจทก์อาศัยอยู่ในตึกแถวที่โจทก์สร้างนี้ชั่วตลอดชีวิตโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจากคำเบิกความของโจทก์เองว่า หลังจากโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยแล้ว จำเลยทั้งสองเอาไปจำนองนำเงินมาสร้างตึกแถวโดยว่าจ้างราคา 1,200,000บาท แสดงว่าจำเลยเอาที่ดินส่วนของจำเลยไปจำนองเพื่อนำเงินมาลงทุนปลูกสร้างตึกแถวด้วย จึงเป็นการเจือสมพยานจำเลยซึ่งนำสืบว่า ในการปลูกตึกแถว 5 ห้องนี้ ค่าใช้จ่ายในการปลูกสร้าง จำเลยและโจทก์ช่วยกันออก ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ออกค่าก่อสร้างให้จำเลยดังคำบรรยายฟ้องของโจทก์ นอกจากนี้ นายศุภชัย พึ่งเย็น พยานโจทก์เบิกความว่า ตึกแถว 5 ห้องขายไป 3 ห้อง โจทก์จำเลยอยู่ฝ่ายละ 1 ห้อง ตึกแถวที่ขายไป 3 ห้องตกลงกันว่าหากมีกำไรจะแบ่งกันและใช้ในการต่อเติมอาคาร จากคำเบิกความดังกล่าวมีเหตุผลน่าเชื่อว่า ที่โจทก์จำเลยลงทุนปลูกสร้างตึกแถว5 ห้องดังกล่าวก็เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันนั่นเอง และเมื่อพิเคราะห์หนังสือสัญญาที่จำเลยที่ 1 จะยกตึกแถวที่ 236/38 พร้อมด้วยที่ดินซึ่งเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่พิพาทให้แก่โจทก์ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 แล้วเห็นได้ว่า ที่ดินปลูกตึกแถวดังกล่าวยังติดจำนองอยู่ จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองเสียก่อนจึงจะยกให้โจทก์ จึงน่าเชื่อว่าที่โจทก์ยกที่ดินให้จำเลยที่ 1 มาดำเนินการปลูกสร้างตึกแถวนั้น จำเลยที่ 1 มีภาระผูกพันที่จะต้องเอาที่ดินไปจำนองเพื่อนำเงินมาลงทุนในการปลูกสร้างด้วย และเมื่อสร้างตึกแถวเสร็จแล้วจำเลยที่ 1 จะต้องยกให้โจทก์ 1 ห้องเป็นการตอบแทน การยกที่ดินให้ดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นยกให้โดยเสน่หา แต่เป็นลักษณะของสัญญาต่างตอบแทน และอีกประการหนึ่ง ตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเอกสารหมาย ล.1 ที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจำนวน 30 ส่วนในที่ดินจำนวน 234 ส่วนของโจทก์นั้น ก็ปรากฏข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ได้ให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท โจทก์จะนำสืบว่าการทำนิติกรรมดังกล่าวไม่มีค่าตอบแทนไม่ได้ เพราะเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โจทก์จึงขอให้เพิกถอนการยกให้ไม่ได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองได้ประพฤติเนรคุณโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองในผลที่ให้ยกฟ้องโจทก์ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share