คำวินิจฉัยที่ 24/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๔/๒๕๔๘

วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
ศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๗๐/๒๕๔๔ ระหว่างนางสาวสายม่าน จ่อยครบุรี ผู้ฟ้องคดี กับสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาครบุรี ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งโอนมาจากเรื่องที่ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ต่อมาได้โอนมาศาลปกครองนครราชสีมา ตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๘/๒๕๔๔ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นราษฎรบ้านจระเข้หิน ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายกรณีผู้ฟ้องคดีได้เคยยื่นหนังสือคัดค้านการออกโฉนดที่ดินทับที่สาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์บ้านจระเข้หิน ตั้งแต่วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๓ และอยู่ระหว่างสอบสวนข้อเท็จจริงยังไม่เป็นที่ยุติ
แต่ที่บริเวณดังกล่าวกำลังดำเนินการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลครบุรีจำกัดที่ย้ายมาจากอำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี เดิมที่สาธารณประโยชน์แห่งนี้เป็นพื้นที่ป่าเรียกว่า “ป่าเขาประดู่” บริษัท โชคพนา จำกัด ได้รับสัมปทานให้ตัดไม้บริเวณดังกล่าวกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม สภาตำบลจระเข้หินจึงประกาศให้ป่าเขาประดู่เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โดยขึ้นทะเบียนไว้ที่สภาตำบลจระเข้หินลำดับที่ ๑๘ เรียกชื่อที่สาธารณประโยชน์ “เขาแกลบเขาประดู่” เนื้อที่ประมาณ ๗,๒๐๐ ไร่ ใช้ทำประโยชน์เลี้ยงสัตว์พาหนะประจำตำบลโดยมีเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอครบุรีลงชื่อรับรองไว้เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ ต่อมากระทรวงมหาดไทยให้งบประมาณและส่งเจ้าหน้าที่มาทำแผนที่รังวัด (ร.ว. ๙ ) เพื่อขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยนายวินัย ชนะศักดิ์ นายช่างรังวัด ๓ ทำการรังวัดเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๗ เนื้อที่ ๑๒,๖๔๘ ไร่ ๑ งาน ๗๓ ตารางวา อำเภอครบุรีได้ยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมที่ดิน ลงวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๘ ขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แต่จังหวัดนครราชสีมามีหนังสือลงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๒๙ ว่าจังหวัดนครราชสีมาได้จัดส่งภาพถ่ายทะเบียนที่สาธารณประโยชน์และแผนที่แสดงจุดที่ตั้งไปให้ป่าไม้เขตนครราชสีมาเพื่อประกอบการตรวจสอบรับรองเขตที่ดินซึ่งได้รับแจ้งว่าที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขต เขาประดู่ซึ่งที่ประชุมของคณะอนุกรรมการจำแนกประเภทที่ดินจังหวัดนครราชสีมามีมติให้เขาประดู่ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารและมีความลาดชันสูงให้เป็นป่าสงวนโดยไม่จำแนกออกทั้งหมด จึงไม่สามารถทำการรับรองเขตที่ดินให้ได้ ขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการยกเลิกคำขอรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ที่ดินดังกล่าวเคยมีโครงการจะสร้างวิทยาลัยเกษตรกรรมได้รับงบประมาณไปขุดสระน้ำเรียกว่าสระหลวง ซึ่งมีอยู่จนปัจจุบัน ต่อมาเมื่อไม่มีงบประมาณจะก่อสร้างอาคารเรียนชาวบ้านบางส่วนเข้าไปทำไร่แต่ถูกจับกุมโดยอ้างว่าอยู่ในเขตอุทยานทับลาน เขตป่าสงวน เขตป่าเตรียมการสงวนป่าตามมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่เจ้าหน้าที่จะหาสาเหตุมาอ้างในการจับกุม ชาวบ้านจึงรวมตัวประท้วงที่หน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา และในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๓๓ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้ออกมาแก้ปัญหากรณีพิพาทดังกล่าวและตกลงให้ราษฎรเข้าไปทำกินก่อนโดยสภาตำบลฯ ไม่เรียกเก็บภาษีเพราะถือว่าเป็น ที่สาธารณประโยชน์ ชาวบ้านบางคนไปขอออกเอกสารสิทธิแต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นที่หลวงออกให้ไม่ได้ ต่อมาเมื่อมีการสร้างเขื่อนมูลบนจึงเป็นที่ต้องการของนายทุนเพราะนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ จึงให้นายหน้ามาขอซื้อจากชาวบ้านซึ่งชาวบ้านรู้ว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้จึงได้ขายให้ นายหน้าหาวิธีออกเอกสารสิทธิโดยหาซื้อ ส.ค. ๑ ที่ออกเอกสารสิทธิแล้วแต่ไม่ได้คืน ส.ค. ๑ ให้แก่ทางราชการ เอา ส.ค. ๑ นั้น ครอบที่ดินที่ขอออกเอกสารสิทธิและโอนกันภายหลังทั้งที่เป็นที่ดินที่ไม่เคยเสียภาษีหรือออกใบจองใด ๆ มาก่อน แต่ถ้าใครไม่ขายให้นายทุนก็ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ ขณะที่การคัดค้านการออกโฉนดที่ดินอยู่ในระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริง ผู้ถูกฟ้องคดียังได้ออกโฉนดในระวางเดียวกันอีกเป็นครั้งที่สองและครั้งที่สามและที่ดินบางส่วนเป็นที่ดินเวนคืนของกรมชลประทานด้วย โดยออกเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๓๔ จำนวน ๙ แปลง คือโฉนดเลขที่ ๙๐๒๗ – ๙๐๓๐ และเลขที่ ๙๐๓๒-๙๐๓๖ ออกเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ จำนวน ๒ แปลง คือโฉนดเลขที่ ๑๐๒๑๕ และเลขที่ ๑๐๒๑๗ ออกเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๔ จำนวน ๔ แปลง คือโฉนดเลขที่ ๑๑๓๖๕-๑๑๓๖๘ ออกเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๔ จำนวน ๕ ฉบับ คือโฉนดเลขที่ ๑๒๒๕๕, ๑๒๒๕๗ และเลขที่ ๑๒๒๓๔-๑๒๒๓๖ โดยทุกฉบับมีตำแหน่งที่ดินตั้งอยู่ในระวาง ๕๔๓๗ IV ๙๔๐๔ ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และเป็นระวางของที่สาธารณประโยชน์ เป็นการออกโฉนดเป็นแห่ง ๆ ทั้ง ๆ ที่รอบหมู่บ้านจระเข้หินซึ่งเป็นเขตสุขาภิบาลยังไม่มีการออกโฉนดที่ดิน กรมที่ดินได้มีหนังสือลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๗ ถึงผู้ฟ้องคดีว่า กรมที่ดินได้พิจารณาดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วปรากฏว่าได้ออกโฉนดที่ดินในเขตที่สาธารณประโยชน์จำนวน ๒๐ แปลง และได้แจ้งให้จังหวัดนครราชสีมาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงมีความสงสัยว่าที่ดินดังกล่าวเป็นอะไรแน่ เพราะสภาตำบลแจ้งว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์ตำบลจระเข้หิน แต่หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงกลับถูกระงับการออก แต่ถ้าไม่ใช่ทำเลเลี้ยงสัตว์ชาวบ้านก็ออกโฉนดไม่ได้ แต่นายทุนกลับออกโฉนดได้ ซึ่งแสดงให้ เห็นว่ามีข้าราชการบางคนที่เห็นแก่ประโยชน์ที่นายทุนหยิบยื่นให้ นำสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปขายให้แก่นายทุน จึงขอให้ศาลเพิกถอนการออกโฉนดและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงให้ถูกต้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การออกโฉนดที่ดินในที่พิพาทเป็นการออกโฉนดโดยการเดินสำรวจตามมาตรา ๕๘ และมาตรา ๕๘ ทวิ (๒), (๓) ซึ่งกรมที่ดินได้ส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางออกไปทำการสำรวจรังวัดทำแผนที่เพื่อออกโฉนดที่ดินเมื่อปี ๒๕๓๔ รวม ๒๐ แปลง ต่อมาปี ๒๕๓๘ บริษัทอุตสาหกรรมหนองใหญ่ จำกัด ได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากราษฎรเจ้าของที่ดินเพื่อสร้างโรงงานน้ำตาลครบุรี จำกัด และปรากฏว่าโฉนดที่ดินทั้ง ๒๐ แปลงเคยเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งซึ่งผู้แทนสภาตำบลจระเข้หินได้นำช่างรังวัดเพื่อขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไว้เมื่อปี ๒๕๒๗ และจังหวัดได้สั่งยกเลิกคำขอในภายหลัง โดยอ้างว่าบริเวณที่ทำเลเลี้ยงสัตว์อยู่ในเขตป่าเขาประดู่ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ป่าเขาประดู่ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารและมีความลาดชันสูงควรให้เป็นป่าสงวน การออกโฉนดที่ดินพิพาทจำนวน ๒๐ แปลง เป็นการออกโดยการเดินสำรวจเมื่อปี ๒๕๓๔ จึงไม่เป็นการออกทับที่สาธารณประโยชน์แต่อย่างใด สภาตำบลจระเข้หินได้ประชุมเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๐ มีมติว่าจำนวนที่ดินซึ่งได้ก่อสร้างโรงงานน้ำตาลเป็นพื้นที่นอกเขตที่สาธารณประโยชน์บ้านจระเข้หิน
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เหตุในการฟ้องคดีเกิดจากผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกโฉนดที่ดิน ๒๐ แปลง และต่อมาได้มีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลครบุรี จำกัด ในบริเวณพื้นที่ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์บ้านจระเข้หิน ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอำเภอครบุรีได้ขอรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแล้ว แต่จังหวัดนครราชสีมามีมติให้เขาประดู่ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารและมีความลาดชันสูงให้เป็นป่าสงวนโดยไม่จำแนกออกทั้งหมด จึงให้ยกเลิกคำขอรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าบริเวณดังกล่าวเคยได้รับงบประมาณ ขุดสระน้ำเรียกว่าสระหลวงพร้อมกับปลูกหญ้าและมีโครงการจะสร้างวิทยาลัยเกษตรกรรมแต่ไม่มีงบประมาณดำเนินการ การออกโฉนดที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการออกทับที่สาธารณประโยชน์ ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งผู้ฟ้องคดีได้เคยคัดค้านการออกโฉนดที่ดินดังกล่าว ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องโดยมีคำขอให้ศาล มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงให้ถูกต้อง ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่า ในการนำรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงน่าจะเป็นการนำรังวัดไม่ถูกต้องตรงตามตำแหน่งที่เป็นจริง การออกโฉนดที่ดิน ๒๐ แปลง ไม่เป็นการออกทับที่สาธารณประโยชน์แต่อย่างใด และอ้างว่าที่ประชุมสภาตำบลจระเข้หินเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๐ มีมติว่าจำนวนที่ดินซึ่งก่อสร้างโรงงานน้ำตาลเป็นพื้นที่นอกเขตที่สาธารณประโยชน์บ้านจระเข้หินอันเป็นการโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทที่ได้ออก โฉนดที่ดิน ๒๐ แปลงนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์บ้านจระเข้หินตามที่ผู้ฟ้องคดีอ้างซึ่งมีความหมายว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่าที่ดินบริเวณที่ออกโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีจึงออกโฉนดที่ดินให้แก่บุคคลดังกล่าว คดีนี้จึงมีประเด็นหลักแห่งคดีเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีว่าที่ดินพิพาท เป็นที่สาธารณประโยชน์บ้านจระเข้หินหรือเป็นสิทธิของผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินเป็นสำคัญ กรณีจึงเป็นเรื่องพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน อันเป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๙/๒๕๔๗ และที่ ๒๑/๒๕๔๗
ศาลจังหวัดนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ไม่ได้มีข้อพิพาทโดยตรงเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินกับผู้ถูกฟ้องคดี แต่เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องในฐานะเป็นราษฎรที่ต้องปกปักดูแลรักษาที่ดินสาธารณประโยชน์ (ทำเลเลี้ยงสัตว์) ที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้นำที่สาธารณประโยชน์ (ทำเลเลี้ยงสัตว์) ดังกล่าวออกโฉนดไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเห็นแก่ประโยชน์ที่นายทุนหยิบยื่นให้แล้วนำสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปขายให้แก่นายทุน โดยก่อนออกโฉนดผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคัดค้านการออกโฉนดไว้แล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก็ยังดำเนินการออกโฉนดโดยไม่ชอบ ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า เป็นการออกโฉนดโดยการเดินสำรวจเมื่อปี ๒๕๓๔ จึงไม่เป็นการออกทับที่สาธารณประโยชน์แต่อย่างใด ซึ่งหมายความว่าการออกโฉนดที่ดินโดยสุจริตไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การออกโฉนดที่ดินดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีได้กระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองโดยตรง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แม้ในการวินิจฉัยว่าการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อาจจะต้องวินิจฉัยถึงสิทธิในที่ดินว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ (ทำเลเลี้ยงสัตว์) หรือเป็นที่ดินของผู้มีชื่อในโฉนด ก็เป็นเรื่องวินิจฉัยข้อเท็จจริง เพื่อประกอบเจตนาในการออกโฉนดของผู้ถูกฟ้องคดีว่าได้กระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นหลักโดยตรง และหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นผลให้ต้องเพิกถอนโฉนดที่ดินและได้ที่ดินกลับคืนเป็นของแผ่นดินไม่ใช่เป็นของผู้ฟ้องคดี คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นราษฎรบ้านจระเข้หิน ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ยื่นฟ้องสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาครบุรี ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์เรียกว่า “ป่าเขาประดู่” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยไปขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แต่จังหวัดนครราชสีมาไม่ยอมรับรอง แนวเขตให้โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวน ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๐๒๗-๙๐๓๐, ๙๐๓๒-๙๐๓๖, ๑๐๒๑๕, ๑๐๒๑๗, ๑๑๓๖๕-๑๑๓๖๘, ๑๒๒๕๕, ๑๒๒๕๗ และ ๑๒๒๓๔-๑๒๒๓๖ รวมจำนวน ๒๐ ฉบับ ให้แก่ผู้มีชื่อ โดยที่ดินตามโฉนดดังกล่าวมีระวางทับที่สาธารณประโยชน์ “ป่าเขาประดู่” ขอให้เพิกถอนการออกโฉนดที่พิพาทและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงให้ถูกต้อง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดี ให้การสรุปได้ว่า การออกโฉนดที่พิพาทเป็นการออกโดยการเดินสำรวจตามกฎหมาย ต่อมา บริษัทอุตสาหกรรมหนองใหญ่ จำกัด ซื้อที่ดินตามโฉนดพิพาทจากราษฎร เพื่อก่อสร้างโรงงานน้ำตาลครบุรี จึงมิได้ออกโฉนดทับที่สาธารณประโยชน์แต่อย่างใด ดังนั้น มูลความแห่งคดีนี้จึงสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่ผู้มีชื่อ แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการออกโฉนดดังกล่าวนี้ ทับที่ดินสาธารณประโยชน์ จึงขอให้เพิกถอนและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงให้ถูกต้อง แม้ผู้ฟ้องคดีจะมิได้กล่าวอ้างว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือ เป็นของผู้มีชื่อเป็นสำคัญ ทั้งผลของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิในที่ดินของผู้มีชื่อโดยตรง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง นางสาวสายม่าน จ่อยครบุรี ผู้ฟ้องคดี สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาครบุรี ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัชรินทร์ คัด/ทาน
??

??

??

??

Share