คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3535/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความเจ็บป่วยของทนายความไม่ใช่เป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยเพื่อขอขยายระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ดังนี้ศาลไม่อาจขยายกำหนดระยะเวลาซึ่งสิ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้วได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายเสถียรภาพ นาหลวงเป็นตัวแทนฟ้องคดีนี้จำเลยได้เช่าตึกแถวเลขที่ 2395/19ตำบลบ้านทวาย (แขวงวัดพระยาไกร) อำเภอบ้านทวาย(เขตยานนาวา) จังหวัดกรุงเทพมหานคร จากนายเช็ค มูฮัมหมัดบิดาของโจทก์ โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาเช่า นายเช็ค มูฮัมหมัดได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2498 โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายเช็ค มูฮัมหมัด ตามคำสั่งศาลแพ่งโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าตึกแถวดังกล่าวอีกต่อไปจึงได้บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากตึกแถวดังกล่าวและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากตึกแถวดังกล่าว
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากตึกแถวเลขที่2395/19 แขวงวัดพระยาไกร เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 300บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากตึกแถวดังกล่าว
จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว1 วัน โดยจำเลยได้ยื่นคำร้องขอขยายกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์มาด้วย อ้างว่าในวันสุดท้ายของกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ทนายจำเลยป่วยเป็นโรคท้องร่วงอย่างแรง ไม่สามารถมายื่นอุทธรณ์ได้ ทั้งไม่อาจติดต่อเสมียนทนายให้มายื่นแทน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การที่จำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด มิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัย ให้ยกคำร้องขอขยายกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ และมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2531 ซึ่งสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว ในกรณีเช่นนี้ศาลจะขยายกำหนดระยะเวลาให้ได้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แต่การที่ทนายจำเลยเจ็บป่วยตามที่อ้างในคำร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ามิใช่เป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ศาลจึงไม่อาจจะขยายกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้ได้”
พิพากษายืน

Share