คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ต่างก็เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ต่างวาระกัน มีหน้าที่ดูแลกิจการทั้งหมดของธนาคารโจทก์ให้พนักงานปฏิบัติตามระเบียบของธนาคารที่ได้วางไว้ตลอดถึงการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธนาคารพาณิชย์เมื่อมีการปล่อยสินเชื่อให้กู้ยืมเงิน การค้ำประกันและอาวัลตั๋วเงินไม่เป็นไปตามระเบียบปกติของธนาคาร มิได้เร่งรัดติดตามหนี้สิน หรือดำเนินการใดเพื่อแก้ไขหนี้ดังกล่าวเป็นเหตุให้ธนาคารโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1และที่ 3 ได้ชื่อว่าทำละเมิดต่อโจทก์ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 4 แม้มิใช่เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่แต่มีหน้าที่ดูแลด้านสินเชื่อภายในประเทศ ซึ่งจำเลยที่ 4ได้รับการสรุปภาระหนี้สินของธนาคารโจทก์จาก ป.หลายครั้งเพื่อให้สั่งการ แต่จำเลยที่ 4 ก็มิได้สั่งการแต่ประการใดเป็นเหตุให้ไม่สามารถติดตามหนี้สินจากลูกหนี้ของธนาคารโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 4 ละเว้นไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และระเบียบปฏิบัติของธนาคารโจทก์ จำเลยที่ 4ได้ชื่อว่าทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการประกอบกิจการบริษัทของกรรมการซึ่งอำนาจของกรรมการจะมีเพียงใดย่อมเป็นไปตามมาตรา 1158 ถึง 1164 ส่วนมาตรา 1168 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยหน้าที่ และความรับผิดชอบของกรรมการ ซึ่งมาตรา 1168 วรรคแรก บัญญัติให้กรรมการใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขาย ผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง ส่วนวรรคสองหมายถึง กิจการที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษมาขึ้น หาได้หมายความว่า กรรมการจะต้องร่วมกันรับผิดเฉพาะกิจการ 4 ประการ ที่บัญญัติในวรรคสอง มาตรา 1168 เท่านั้นไม่ เมื่อมาตรา 1168 บัญญัติให้กรรมการทุกคนต้องมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่อง การจะเป็นกรรมการของบริษัทใด กรรมการผู้นั้นจึงต้อง ประกอบด้วยความรู้ความเข้าใจในการประกอบกิจการของบริษัท นั้นด้วย มิฉะนั้นกรรมการก็ไม่อาจเอื้อเฟื้อสอดส่อง กิจการให้ดีได้ ธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ต้องอาศัยกรรมการผู้มีความรอบรู้ในธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ด้วย เพื่อให้เอื้อเฟื้อสอดส่องกิจการของธนาคารให้ลุล่วงไปด้วยดี การที่ธุรกิจของโจทก์ประสบปัญหามาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2523ไม่ว่าการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ในระดับไม่พอใช้จนถึงด้อยคุณภาพจัดชั้นเป็นสูญและสงสัยจำนวนสูง การแสดงผลกำไรตั้งแต่ปี 2522 ผิดพลาดเพราะแท้จริงแล้วธุรกิจของโจทก์ ขาดทุนมิใช่กำไร มีการให้สินเชื่อแก่กลุ่มผู้บริหารมาก แม้ว่าการให้สินเชื่อดังกล่าวจะไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติ การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 12(2) และมาตรา 12 ทวิก็ตาม แต่หนี้ในกลุ่มดังกล่าว หลักประกันไม่คุ้มหรือไม่มีเลยดังนั้น เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7เป็นกรรมการของโจทก์มีหน้าที่ต้องดูแลการบริหารกิจการของโจทก์มิให้เสียหาย กลับปล่อยให้มีการให้สินเชื่อโดยหลักประกันไม่คุ้ม เมื่อหนี้ถูกจัดเป็นหนี้เสียก็มิได้เร่งรัดติดตามหนี้ แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะแจ้งให้มีการแก้ไขข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงานดังกล่าวจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ก็หาได้ดำเนินการใดเพื่อแก้ไขไม่ ดังนั้นเมื่อตามพฤติการณ์ควรจะรู้ข้อปัญหาดังกล่าว หรือโดยสามัญสำนึกของวิญญูชนผู้ประกอบการค้าเช่นนั้นควรจะพึงรู้ได้ แต่มิได้กระทำการใดเพื่อปกป้องความเสียหายอันจะเกิดแก่โจทก์ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 มิได้ใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของโจทก์ จะอ้างว่าไม่รับรู้การบริหารงานของโจทก์หรือมิได้มาทำงานเป็นประจำก็ดี ไม่มีหน้าที่ก็ดีเพื่อปัดความรับผิดของตนหาได้ไม่ จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการโจทก์ ระหว่างวันที่ 16กันยายน 2508 ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2526 จำเลยที่ 5เป็นกรรมการโจทก์ ระหว่างวันที่ 19 พฤศจิกายน 2519ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2527 จำเลยที่ 6 เป็นกรรมการโจทก์ระหว่างวันที่ 19 พฤษภาคม 2523 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2527และจำเลยที่ 7 เป็นกรรมการระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม 2518ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2527 ดังนั้น หน้าที่ในการเอื้อเฟื้อสอดส่องของกรรมการ จึงมีเพียงในช่วงเวลาดังกล่าวการที่จะให้จำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 รับผิดในหนี้ที่ก่อหรืออนุมัติภายหลังจากที่จำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6และที่ 7 พ้นจากการเป็นกรรมการโจทก์แล้วจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลเดิมใช้ชื่อว่าธนาคารเอเชียทรัสท์ จำกัด ต่อมากระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาพยุงฐานะของโจทก์และเข้าถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบโจทก์จึงเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5ที่ 6 และที่ 7 เป็นกรรมการบริหารของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 4ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตามลำดับ จำเลยทั้งเจ็ดจึงเป็นตัวแทนของโจทก์มีอำนาจหน้าที่บริหารงานของโจทก์ อนุมัติสินเชื่อทุกประเภทแก่ลูกค้า เช่น การเบิกเงินเกินบัญชี การกู้ยืมเงินรับอาวัล หรือรับรองตั๋วเงิน การค้ำประกัน การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและการทำสัญญาทรัสต์รีซีท โดยจะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์และประเพณีปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ระหว่างที่จำเลยทั้งเจ็ดเป็นตัวแทนของโจทก์ดังกล่าว ได้ร่วมกันกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ร่วมกันอนุมัติรับรองค้ำประกันหนี้ของบริษัทเอ.ที.บี. ไฟแนนซ์ จำกัด (ฮ่องกง) และร่วมกันอนุมัติให้สินเชื่อ รับอาวัล หรือรับรองตั๋วเงินและค้ำประกันเพื่อการกู้ยืมเงินแก่บุคคลและบริษัทห้างร้านต่าง ๆ โดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับและประเพณีปฏิบัติซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 669,368,771.83 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 632,685,301.60บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 3 และที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้เงินจำนวน 354,377,602.17 บาท และจำนวน 144,553,529.73 บาทตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน335,172,561.12 บาท และต้นเงินจำนวน 134,036,144.84 บาทตามลำดับนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 2,308,937,247.29 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 669,368,771.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 632,685,301.60 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 354,377,602.17 บาท และจำนวน 144,553,529.73บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน335,172,561.12 บาท และต้นเงินจำนวน 134,036,144.84 บาทตามลำดับ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 2,308,937,247.29 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะหนี้เกี่ยวกับการอนุมัติสินเชื่อแก่ลูกค้าภายในประเทศโดยให้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับลูกหนี้รายที่ 1 ถึงที่ 11 เป็นเงิน 1,382,520,662.43 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับลูกหนี้รายที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 เป็นเงิน495,148,301.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 7ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับลูกหนี้รายที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 เป็นเงิน 605,653,914.53บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 5 ให้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับลูกหนี้รายที่ 1และที่ 2 เป็นเงิน 382,725,670.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์อีกด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาประการที่ห้า จำเลยทั้งเจ็ดฎีกาว่าจำเลยทั้งเจ็ดไม่ต้องรับผิดตามฟ้องข้อ 6 หนี้ละเมิดและการไม่เอื้อเฟื้อสอดส่องกิจการโจทก์อันเกิดจากการอนุมัติให้สินเชื่อรับอาวัลหรือรับรองตั๋วเงินและการค้าประกันเพื่อการกู้ยืมแก่ลูกค้าภายในประเทศรวม 28 ราย ในข้อนี้โจทก์มีนายปัญญา วัฒนะปรีดา เบิกความว่าเป็นพนักงานของธนาคารโจทก์ตั้งแต่ปี 2517 ต่อมาได้เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อและคลังสินค้าสำนักงานใหญ่ หัวหน้าส่วนเร่งรัดหนี้สำนักงานใหญ่ หัวหน้าส่วนประจำฝ่ายสินเชื่อและการตลาดตำแหน่งพนักงานสินเชื่อมีหน้าที่สรุปข้อมูลของลูกค้าเพื่อดำเนินการต่ออายุวงเงินสินเชื่อเพิ่มวงเงินสินเชื่อและขออนุมัติสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายใหม่ของสำนักงานใหญ่ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ตรวจสอบและวิเคราะห์เกี่ยวกับฐานะของลูกค้า เพื่อนำมาประกอบในการพิจารณาขอสินเชื่อหลักเกณฑ์ที่ธนาคารจะพิจารณาให้สินเชื่อลูกค้าคือพิจารณาจากความสามารถที่ลูกค้าจะชำระหนี้คืนธนาคารโดยมีขั้นตอนการทำงานคือเมื่อลูกค้ามาขอสินเชื่อกับธนาคาร จะสอบถามถึงวัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อ ประวัติการดำเนินกิจการของลูกค้าว่าลูกค้าดำเนินกิจการประเภทใด และหากลูกค้าเสนอโครงการธนาคารจะตรวจสอบว่าโครงการนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะได้เงินมาชำระหนี้คืนธนาคารหรือไม่ นอกจากนี้ลูกค้าจะต้องเสนอหลักประกันเข้ามาค้ำประกันวงเงิน เพื่อลดความเสี่ยงของธนาคาร เช่น ที่ดินสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร บุคคลหรือเงินฝากประจำ ในกรณีที่ไม่มีหลักประกัน ธนาคารจะต้องพิจารณาดูว่า กิจการนั้นจะต้องเป็นกิจการที่ดีมากและมั่นคงมีประวัติการติดต่อกับธนาคารดีผู้บริหารเป็นบุคคลมีชื่อเสียง หลังปล่อยสินเชื่อแล้วธนาคารจะทำการตรวจสอบว่า ลูกค้านำเงินที่ได้รับไปใช้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมหรือชมกิจการของลูกค้าเรียกขั้นนี้ว่า ขั้นติดตามสินเชื่อ การต่ออายุสัญญาต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป เช่น บัญชีเดินสะพัดมีการเดินบัญชีเดินสะพัด สม่ำเสมอหรือไม่ สินเชื่อประเภทเงินกู้จะต่ออายุให้ลูกค้า ต้องไม่ค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ย การขายลดตั๋วเงินเช็คที่ลูกค้านำมาขายจะต้องไม่มีปัญหาเรื่องเช็คคืนการอาวัลหรือรับรอง ลูกค้าควรชำระหนี้นั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดโดยไม่ต้องให้ธนาคารชำระหนี้แทน ในกรณีต่อวงเงินหากไม่มีการต่อทางธนาคารจะส่งเรื่องให้ทางส่วนติดตามและเร่งรัดหนี้ดำเนินการทวงถามจากลูกค้าต่อไป หากทวงแล้วยังไม่ได้ฝ่ายสินเชื่อจะส่งเรื่องไปให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการฟ้องร้อง เกี่ยวกับคดีนี้มีการปล่อยสินเชื่อแล้วทำให้ธนาคารโจทก์เสียหายทั้งหมด 28 ราย เหตุที่ทำให้ธนาคารโจทก์เสียหายเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามระเบียบของธนาคารโจทก์การให้สินเชื่อทั้ง 28 รายไม่เคยนำเข้าคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อคณะกรรมการสะสางหนี้ พยานเข้าไปเกี่ยวข้องกับลูกหนี้ 28 รายเกี่ยวกับการต่ออายุวงเงินเพิ่มวงเงินหรือขออนุมัติวงเงินใหม่และสรุปภาระหนี้ของลูกหนี้จำนวน 28 ราย คือ (1) หนี้รายบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซินเซียร์ทรัสต์ จำกัด เป็นบริษัทในเครือของธนาคารโจทก์ เพราะมีกรรมการบริหารบริษัทบางคนเป็นกรรมการบริหารธนาคารโจทก์ชุดเดิม เช่น นายนิรันดร์ วิจิตรานนท์ขณะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารโจทก์ นางวอง ฮาร์กมันบุตรเขยจำเลยที่ 1 ที่ 2 นางนงนุช วงศ์วิเศษ บุตรสาวจำเลยที่ 1ที่ 2 นายเอ็จ วิจิตรานนท์ ผู้จัดการอาวุโสธนาคารโจทก์การอนุมัติสินเชื่อไม่มีการตรวจสอบฐานะของลูกค้าอย่างจริงจังจำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติการต่อวงเงิน โจทก์เสียหายประมาณ200,000,000 บาท (2) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทีทอง จำกัดเป็นบริษัทในเครือธนาคารโจทก์ มีจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 7อนุมัติวงเงินและต่ออายุวงเงินซึ่งมิได้ปฏิบัติตามระเบียบของธนาคารโจทก์ไม่ได้ตรวจสอบฐานะและกิจการของลูกค้าอย่างจริงจังโจทก์เสียหายประมาณ 100,000,000 บาท (3) หนี้รายบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ.เอฟ.ที. จำกัด บริษัทหนี้จำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 7 เป็นผู้บริหาร เป็นหนี้ประเภทเบิกเงินเกินบัญชีและอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน ได้มีการสรุปภาระหนี้สิน ปรากฏว่าบริษัทนี้เป็นหนี้โจทก์ 171,000,000 บาทโดยไม่มีวงเงินและหลักประกัน แต่นำมาฟ้องเพียง 57,000,000 บาทเนื่องจากหนี้บางส่วนเป็นหนี้อาวัลตั๋วเงินยังไม่ครบกำหนด(4) หนี้รายบริษัทเทพารักษ์ที่ดิน จำกัด จำเลยที่ 2ภริยาจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการ นายนิรันดร์ วิจิตรานนท์น้องชายจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารโจทก์เป็นกรรมการด้วยทำธุรกิจร่วมกับนายวิชัย มาลีนนท์ นายกุรดิษฐ์ ศรีชวาลาเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2526 ได้สรุปภาวะหนี้สินปรากฏว่ามียอดหนี้รวม 660,000,000 บาท นำมาฟ้องเพียง 290,000,000 บาทเนื่องจากส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานหนี้ทุกประเภทยังไม่มีวงเงินและหลักประกันไม่คุ้มหนี้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.41 และไม่มีการสั่งการใด ๆ ไว้ในการสรุปภาระหนี้สินดังกล่าว (5) หนี้รายบริษัททิพวัล จำกัด มีจำเลยที่ 3จำเลยที่ 6 เป็นผู้บริหารญาติ ฯ เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทนี้เป็นหนี้โจทก์ 2 ประเภท คือ หนี้สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและหนี้อาวัลตั๋วเงิน จำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติวงเงิน ตามเอกสารหมาย จ.42 ถึง จ.46 การอนุมัติให้ต่อวงเงินไม่ได้ตรวจสอบภาระหนี้สินของลูกหนี้และไม่ได้ตรวจสอบฐานะของลูกหนี้ด้วยในปี 2522 ได้มีการสรุปภาระหนี้สินปรากฏว่ามี 10,000,000 บาทขาดต่ออายุสัญญาตั้งแต่ปี 2517 เอกสารบางอย่างไม่สมบูรณ์ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2523 ได้มีการสรุปภาระหนี้สินอีกเดือนกรกฎาคม 2524 ได้มีการสรุปภาระหนี้สินปรากฏว่ามีประมาณ30,000,000 บาทเศษ เดือนพฤศจิกายน 2525 ได้มีการสรุปภาระหนี้สินปรากฏว่ามียอดหนี้รวม 74,000,000 บาท หนี้อาวัลไม่มีวงเงินและหลักประกัน ไม่มีการเร่งรัดหนี้สิน ทุกครั้งที่มีการสรุปภาระหนี้สินได้เสนอต่อจำเลยที่ 4 แต่ไม่มีการสั่งการใด ๆ(6) หนี้รายบริษัทที.ที.โฮล์ดิ่ง จำกัด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1มีหนี้รวม 40,000,000 บาท หนี้ทั้งหมดไม่มีวงเงินและหลักประกันได้มีการสรุปภาระหนี้สินแล้วเสนอจำเลยที่ 4 แต่ไม่มีการสั่งการยอดหนี้ถึงขณะฟ้องมีถึง 312,000,000 บาท เนื่องจากไม่มีการจัดทำวงเงินควบคุมไว้ (7) หนี้รายบริษัทไทยเยนเนอราลอิควิปเม้นท์จำกัด จำเลยที่ 2 ที่ 7 เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีตั้งแต่ปี 2511 จำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติจำนวน5,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.56 ในปี 2522ได้มีการสรุปภาระหนี้สินรวม 19,000,000 บาท ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชีมา 7 ถึง 8 ปีแล้ว ได้เสนอภาระหนี้ต่อจำเลยที่ 4แต่ไม่มีการสั่งการใด ๆ การให้สินเชื่อรายนี้ไม่เป็นไปตามระเบียบของธนาคารเพราะไม่ได้ตรวจสอบฐานะของลูกค้าอย่างจริงจังทั้งไม่ได้ตรวจสอบฐานะของผู้ค้ำประกันด้วยนอกจากนี้ยังไม่มีการเร่งรัดหนี้เป็นเหตุให้หนี้บางประเภทขาดอายุความ (8) หนี้รายบริษัทธารวณิช จำกัด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้นเป็นหนี้โจทก์ 2 ประเภท คือหนี้เบิกเงินเกินบัญชีชั่วคราวกับหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน หนี้ทุกประเภทไม่มีวงเงินและหลักประกันภาระหนี้ประมาณ 180,000,000 บาท หลักประกันคือที่ดินจำนองราคาประมาณ 10,000,000 บาท ไม่มีการตรวจสอบการใช้เงินเนื่องจากเป็นกิจการของผู้บริหารชุดเดิมของธนาคารโจทก์(9) หนี้รายบริษัทโรงงานยากันยุงตราหัวไก่ จำกัดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น ให้สินเชื่อโดยไม่ชอบเนื่องจากไม่ได้มีการจัดทำวงเงินและหลักประกันไม่ได้ตรวจสอบฐานะของลูกหนี้และการดำเนินธุรกิจการค้าโจทก์เสียหายประมาณ 10,000,000 บาท ขณะนี้บริษัทถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว (10) หนี้รายบริษัทวัลเคน เทรดดิ้ง จำกัด จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการบริษัทเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและอาวัลตั๋วเงิน ไม่มีวงเงินและหลักประกัน ไม่ได้ตรวจสอบฐานะของลูกหนี้โจทก์เสียหายประมาณ75,000,000 บาท (11) หนี้รายบริษัทโสภณศิริ คลังสินค้า จำกัดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4เป็นผู้ถือหุ้น บริษัทนี้เป็นหนี้โจทก์ประมาณ 16,000,000 บาทไม่มีวงเงินและหลักประกันไม่ได้เร่งรัดหนี้สิน (12) หนี้รายบริษัทที.อี.เอ เซอร์วิส แอนด์ ซัพพลาย จำกัด นายวราวุฒิวงศ์วิเศษ บุตรเขยของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นกรรมการเป็นหนี้โจทก์ประมาณ 68,000,000 บาท ไม่ได้ตรวจสอบฐานะกิจการของลูกหนี้(13) หนี้รายบริษัทเมโทร โปลิแตนท์ เมอแคนไดส์ จำกัดมีนายวรวุฒิ นายณู เนาวเขต เลขานุการของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการเป็นหนี้โจทก์ 3 ประเภท คือ หนี้เงินกู้ค้ำประกันการกู้ยืมจากต่างประเทศ หนี้เบิกเงินเกินบัญชีชั่วคราว หนี้รายนี้ไม่มีการติดตามเร่งรัดหนี้สิน มีหนี้จำนวน 340,000,000 บาทมีหลักทรัพย์ 60,000,000 บาท โจทก์ได้รับความเสียหาย280,000,000 บาท (14) หนี้รายบริษัทเทคโนกรุ๊ป จำกัดมีนายหม่อง เอ็มอ่อง ซึ่งสนิทสนมกับจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการโดยนายหม่องเคยร่วมกับจำเลยที่ 1 ดำเนินการบริษัทไทยเยนเนอราลอิควิปเม้นท์ จำกัด เป็นหนี้โจทก์คือหนี้เบิกเงินเกินบัญชีชั่วคราว หนี้ขายลดเช็คค้างชำระหนี้เงินกู้หนี้ซึ่งธนาคารโจทก์จ่ายแทนตามภาระค้ำประกัน มีการสรุปภาระหนี้หลายครั้ง จำเลยที่ 3 เป็นผู้อนุมัติให้ต่อวงเงิน โจทก์ได้รับความเสียหายจากบริษัทนี้ไม่ต่ำกว่า 50,000,000 บาท การให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้รายนี้ขัดต่อระเบียบปฏิบัติของธนาคารเพราะลูกหนี้รายนี้เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีชั่วคราวมานานตั้งแต่ปี 2513(15) หนี้รายนายหม่อง เอ็มอ่อง ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับธนาคารโจทก์ 2 บัญชี คือเลขที่ 1062 ใช้ชื่อห้างไทยโฟร์ โปรเต็กชั่น และบัญชี 3363 ใช้ชื่อร้านไทยดีเวลลอปเม้นท์ซัพพลาย โจทก์ได้รับความเสียหายประมาณ36,000,000 บาท การให้สินเชื่อรายนี้ไม่ได้มีการตรวจสอบฐานะของลูกค้าอย่างจริงจัง และให้สินเชื่อโดยมีหนี้เดิมค้างชำระอยู่ทั้งไม่มีการเร่งรัดหนี้ทำให้หนี้บางประเภทขาดอายุความ(16) หนี้รายนายประชุม แซ่เตียว หรือวรรณโกมลวัฒน์สนิทสนมกับจำเลยที่ 1 เคยร่วมกับจำเลยที่ 1 ดำเนินกิจการบริษัทมิตรกิจ จำกัด บริษัทมิ่งสิน จำกัด และบริษัทสหมิตร เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เป็นหนี้โจทก์เกี่ยวกับการขายลดเช็ค ได้สรุปภาระหนี้สินเสนอจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 3โดยไม่มีการสั่งการใด ๆ การให้สินเชื่อรายนี้ผิดระเบียบปกติของธนาคารโจทก์เพราะธนาคารจะรับซื้อเฉพาะเช็คการค้าแต่นายประชุมนำเช็คส่วนตัวมาขาย ไม่มีการตรวจสอบฐานะของลูกค้าและไม่มีหลักประกัน โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 5811/2529 แต่ไม่สามารถบังคับคดีได้เนื่องจากลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สิน จึงได้ฟ้องเป็นคดีล้มละลายปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 262/2529 (17) หนี้รายนายกุรดิษฐ์จันทร์ศรีชวาลา สนิทสนมกับจำเลยที่ 1 และร่วมดำเนินกิจการบริษัทเทพารักษ์ที่ดิน จำกัด ลูกหนี้เป็นหนี้ 4 ประเภทคือ หนี้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้ขายลดเช็ค หนี้เงินกู้หนี้อาวัลตั๋วเงิน เมื่อปี 2510 ลูกหนี้ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติได้มีการต่ออายุสัญญาเรื่องมานอกจากนี้ได้มีการสรุปภาระหนี้สินหลายครั้งสุดท้ายเมื่อเมื่อเดือนมิถุนายน 2526 ลูกหนี้รายนี้เป็นหนี้โจทก์ประมาณ33,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.113 การให้สินเชื่อไม่เป็นไปตามระเบียบโจทก์เสียหายเมื่อหักหลักประกันแล้วประมาณ33,000,000 บาท (18) หนี้รายบริษัทบางกอกทาวเวอร์ จำกัดเป็นของนายวิชัย มาลีนนท์ ซึ่งมีความสนิทสนมกับจำเลยที่ 1เคยร่วมดำเนินกิจการบริษัทเทพารักษ์ที่ดิน จำกัดบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เป็นหนี้โจทก์ประเภทเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 อนุมัติเมื่อเดือนมิถุนายน 2513ปี 2522 ได้สรุปภาระหนี้ ปรากฏว่าไม่เคลื่อนไหวหลังจากนั้นได้สรุปภาระหนี้สินอีกหลายครั้ง แต่ไม่มีการสั่งการ โจทก์เสียหายไม่น้อยกว่า 11,000,000 บาท หลักประกันมีเพียงนายวิชัยเป็นผู้ค้ำประกันเท่านั้น และไม่มีการตรวจสอบฐานะของนายวิชัย(19) หนี้รายบริษัทเมืองทองการก่อสร้าง จำกัด เป็นของนายวิชัย มาลีนนท์ เป็นหนี้ประเภทเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1อนุมัติวงเงินได้สรุปภาระหนี้สินเสนอจำเลยที่ 4 หลายครั้งแต่ไม่ได้สั่งการ การให้สินเชื่อของลูกหนี้รายนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติของธนาคารเพราะมีการให้สินเชื่อเกินวงเงินเบิกเงินเกินบัญชีมาตลอด แม้บัญชีจะไม่เคลื่อนไหวไม่มีการติดตามเร่งรัดหนี้สินที่ค้างชำระไม่มีการตรวจสอบฐานะและกิจการของลูกหนี้ โจทก์เสียหาย 36,000,000 บาท ได้มีการฟ้องคดีแพ่งและทำสัญญาประนีประนอมยอมความแค่ 26,000,000 บาท หักแล้วโจทก์เสียหาย 10,000,000 บาท (20) หนี้รายบริษัทเมืองทองคลังสินค้าจำกัด เป็นของนายวิชัยลูกหนี้รายนี้ได้รับสินเชื่อประเภทหนี้เบิกเงินเกินบัญชีตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2513 โดยจำเลยที่ 1เป็นผู้อนุมัติ ได้มีการสรุปภาระหนี้สินเสนอจำเลยที่ 4 หลายครั้งแต่ไม่มีการสั่งการใด ๆ การให้สินเชื่อลูกหนี้รายนี้ไม่มีการตรวจสอบฐานะและกิจการของลูกหนี้แต่อย่างใด ทั้งไม่เป็นไปตามระเบียบของธนาคาร เช่น ให้ต่ออายุสัญญาทั้ง ๆ ที่มีบัญชีไม่เคลื่อนไหวและมีการเบิกเงินเกินบัญชีมาตลอด โจทก์เสียหายไม่ต่ำกว่า 17,000,000 บาท (21) หนี้รายบริษัทสยามรัฐพัฒนาจำกัด เป็นของนายวิชัยเป็นหนี้ประเภทเบิกเงินเกินบัญชีอาวัลตั๋วเงิน จำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติวงเงินตามเอกสารหมาย จ.134ได้มีการสรุปภาระหนี้สินเสนอต่อจำเลยที่ 4 หลายครั้ง แต่ไม่มีการสั่งการใด ๆ หนี้รายนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของธนาคารมียอดหนี้สูงเกินวงเงินหลายเท่าตัว ไม่มีคำสั่งให้เร่งรัดหนี้สินโจทก์เสียหายประมาณ 370,000,000 บาท (22) หนี้รายบริษัทเอส.วี.ซี. จำกัด เป็นของนายวิชัยโดยเป็นหนี้ธนาคารโจทก์2 ประเภท คือหนี้ขายลดเช็คและหนี้ที่ธนาคารจ่ายเงินแทนตามภาระอาวัล ได้มีการสรุปภาระหนี้สินเสนอจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4หลายครั้ง แต่ไม่มีการสั่งการใด ๆ หนี้รายนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของธนาคาร ไม่มีการติดตามเร่งรัดหนี้สิน ไม่ได้ตรวจสอบฐานะกิจการของลูกหนี้โดยที่ลูกหนี้รายนี้ไม่ได้ประกอบกิจการอะไรโจทก์เสียหายประมาณ 8,000,000 บาท (23) หนี้รายห้างหุ้นส่วนจำกัดจารุเมืองบริการ นายวิชัยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโดยเป็นหนี้โจทก์ประเภทเบิกเงินเกินบัญชี เริ่มทำสัญญาตั้งแต่ประมาณเดือนกรกฎาคม 2514 จำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติตามเอกสารหมาย จ.147 มีการต่ออายุสัญญาเรื่อยมาจนถึงปี 2522มีการสรุปภาระหนี้เสนอต่อจำเลยที่ 4 หลายครั้ง แต่ไม่มีการสั่งการใด ๆ การให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้รายนี้ไม่เป็นไปตามระเบียบปกติของธนาคารโจทก์เนื่องจากหนี้เบิกเงินเกินบัญชี บัญชีไม่เคลื่อนไหว แต่ก็ไม่มีคำสั่งให้ติดตามเร่งรัดหนี้สิน และไม่เคยตรวจสอบฐานะกิจการของลูกหนี้รายนี้เลย ทั้งไม่เคยตรวจสอบฐานะของหุ้นส่วนผู้จัดการของลูกหนี้และผู้ค้ำประกันแต่อย่างใดโจทก์ได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่า 7,000,000 บาท (24) หนี้รายห้างหุ้นส่วนจำกัดพระรามหกบริการเป็นกิจการของนายวิชัยหนี้มี 2 ประเภท คือ หนี้เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้อาวัลตั๋วเงินหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำเลยที่ 1 ได้อนุมัติให้ต่ออายุตามเอกสารหมาย จ.152 ได้มีการสรุปภาระหนี้สินหลายครั้งโดยเสนอต่อจำเลยที่ 4 บ้าง จำเลยที่ 3 บ้าง แต่ไม่มีการสั่งการอะไรการให้สินเชื่อและการอนุมัติวงเงินไม่เป็นไปตามระเบียบของธนาคารโจทก์ เนื่องจากไม่มีการตรวจสอบฐานะของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันหนี้สินบางประเภทไม่มีการอนุมัติให้ต่ออายุมาเป็นเวลานานโดยมียอดหนี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็ไม่มีการเร่งรัดหนี้สินโจทก์เสียหายประมาณ 41,000,000 บาท (25) หนี้รายห้างหุ้นส่วนจำกัดวิชัยบริการเป็นกิจการของนายวิชัยโดยนายวิชัยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่ทำไว้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2514 วงเงิน 2,000,000 บาทนายวิชัยเป็นผู้ค้ำประกัน มีการต่ออายุมาจนถึงปี 2522จำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติตลอดมา มีการสรุปภาระหนี้เสนอต่อจำเลยที่ 4 หลายครั้ง แต่ไม่มีการสั่งการให้ดำเนินการใด ๆการอนุมัติสินเชื่อและต่ออายุวงเงินไม่เป็นไปตามระเบียบปกติของธนาคารเนื่องจากไม่ได้ตรวจสอบฐานะของลูกหนี้และผู้ค้ำประกันหนี้เกินวงเงินก็อนุมัติให้ต่ออายุมาตลอด โจทก์เสียหายประมาณ 7,900,000 บาท (26) หนี้รายนายอิ้วคิ้ม แซ่ซื้อซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกับนายประพจน์ โมฬีนนท์ และเป็นหลานของนายวิชัย หนี้รายนี้เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งทำสัญญากันตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2513 ในวงเงิน 3,000,000 บาทโดยมีนายประพจน์เป็นผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกับลูกหนี้นั่นเอง ได้มีการต่ออายุสัญญากันจนถึงปี 2519 จำเลยที่ 1เป็นผู้อนุมัติ ตามเอกสารหมาย จ.170 มีการสรุปภาระหนี้สินเสนอต่อจำเลยที่ 4 หลายครั้ง แต่ไม่มีการสั่งการให้ดำเนินการใด ๆหนี้รายนี้ไม่มีการตรวจสอบทั้งลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการอนุมัติสินเชื่อและการต่อวงเงินไม่เป็นไปตามระเบียบของธนาคารและหนี้สินรายนี้เป็นหนี้ค้างชำระเกินวงเงินทั้งขาดการต่ออายุมานาน ธนาคารจะต้องเร่งรัดหนี้ แต่ก็ไม่ดำเนินการแต่อย่างใด โจทก์ต้องเสียหายไม่ต่ำกว่า 8,000,000 บาท(27) หนี้รายบริษัทอาร์.เอ็น.พี. สากลพาณิชย์ จำกัดซึ่งเป็นบริษัทของนายวิชัย แต่นายวิชัยเชิดลูกน้องขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2527 จำเลยที่ 4ได้อนุมัติวงเงินเบิกเกินบัญชีให้ลูกหนี้รายนี้ 20,000,000 บาทโดยไม่มีหลักประกันตามเอกสารหมายเลข จ.177 การอนุมัติสินเชื่อแก่ลูกหนี้รายนี้ได้ทำก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในธนาคารโจทก์ไม่เกิน 20 วัน ได้มีการเบิกเงินเกินบัญชีเต็มวงเงินทันที และไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชีอีกเลย โจทก์ได้ฟ้องลูกหนี้รายนี้และมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแต่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงได้ฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อเดือนสิงหาคม 2529 โจทก์เสียหายไม่ต่ำกว่า22,000,000 บาท (28) หนี้รายบริษัทศรีมงคลสยาม จำกัดซึ่งเป็นบริษัทของนายวิชัย แต่เชิดลูกน้องขึ้นเป็นกรรมการทุนจดทะเบียนเพียง 400,000 บาท โจทก์ให้สินเชื่อประเภทเบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน 20,000,000 บาท จำเลยที่ 4 เป็นผู้อนุมัติเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2527 ตามเอกสารหมาย จ.179ภายหลังจากอนุมัติวงเงินแล้ว ลูกหนี้ได้เบิกเงินเกินบัญชีไปเต็มวงเงินแล้วบัญชีไม่เคลื่อนไหวอีกโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้แล้วมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับลูกหนี้ผิดนัดโจทก์ขอออกหมายบังคับคดี แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินให้ธนาคารยึดโจทก์จึงจะดำเนินการฟ้องขอให้ลูกหนี้รายนี้ล้มละลายต่อไปดังนี้จะเห็นได้ว่าพยานปากนี้เคยเป็นพนักงานฝ่ายสินเชื่อหัวหน้าส่วนเร่งรัดหนี้สินสำนักงานใหญ่ หัวหน้าส่วนประจำฝ่ายสินเชื่อและการตลาดมีหน้าที่สรุปข้อมูลของลูกค้าเพื่อต่ออายุวงเงินสินเชื่อเพิ่มวงเงินสินเชื่อและขออนุมัติสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายใหม่ของสำนักงานใหญ่ มีหน้าที่ตรวจสอบและวิเคราะห์เกี่ยวกับฐานะของลูกค้าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงินของลูกค้า จึงสามารถทราบรายละเอียดของลูกค้าของโจทก์แต่ละรายได้ดี ทั้งเบิกความมีรายละเอียดมีเหตุผล มีพยานเอกสารต่าง ๆ ประกอบเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางเพ็ญใจวัฒนะปรีดา พนักงานฝ่ายสินเชื่อโจทก์ สำนักงานใหญ่หัวหน้าหน่วยเร่งรัดหนี้ นางจินดา ฉันทวานิช รองผู้จัดการฝ่ายประจำ ฝ่ายสินเชื่อและการตลาด นางรสพร นิวาตวงศ์และนายนเรศร์ จันทร์สุริยะเขต เบิกความสนับสนุนพยานดังกล่าวเบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันมีเหตุผลและมีรายละเอียดทั้งเป็นพนักงานของโจทก์ ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อมีพยานเอกสารประกอบจึงมีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง พยานฝ่ายจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่นำสืบว่า การให้กู้ยืมการค้ำประกันและการอาวัลตั๋วเงินเป็นงานปกติของธนาคารโจทก์นั้น พยานโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลน่าเชื่อว่าพยานจำเลย อนึ่งการให้กู้ยืมการค้ำประกันและการอาวัลเป็นงานปกติของธนาคาร แต่การให้กู้ยืมการค้ำประกัน และการอาวัลตั๋วเงินหรือการให้สินเชื่อจำเลยที่ 1ที่ 3 ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบปกติของธนาคารให้กู้ยืมโดยไม่ได้สอบถามวัตถุประสงค์ในการกู้ยืม ไม่ได้สอบถามประวัติของลูกหนี้ไม่มีหลักประกัน หรือหลักประกันน้อยกว่าจำนวนหนี้เงินเบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงินและไม่ได้ต่ออายุสัญญา ไม่ติดตามเร่งรัดหนี้สิน นายสุเทพ ด่านศิริวิโรจน์ เบิกความว่าจำเลยที่ 1เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และเป็นประธานกรรมการธนาคารโจทก์มีหน้าที่ดูแลกิจการของธนาคารทั้งหมด จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริหารมีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการของธนาคาร จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2527 ถึงเดือนสิงหาคม2528 จำเลยที่ 4 เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่มีหน้าที่ดูแลด้านสินเชื่อภายในประเทศ จำเลยที่ 5 เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ตั้งแต่ปี 2519เป็นต้นมา มีหน้าที่ดูแลกิจการของธนาคารทั้งหมด จำเลยที่ 6ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายอาวุธและเป็นกรรมการด้วยมีหน้าที่ดูแลทางด้านการพนักงานของธนาคารจำเลยที่ 7ตำแหน่งครั้งสุดท้ายเป็นกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ทำหน้าที่เกี่ยวกับลูกค้าที่ติดต่อกับต่างประเทศ ดังนี้จะเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ต่างก็เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ต่างวาระกัน มีหน้าที่ดูแลกิจการทั้งหมดของธนาคารโจทก์ให้พนักงานปฏิบัติตามระเบียบของธนาคารที่ได้วางไว้ ตลอดถึงการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธนาคารพาณิชย์ เมื่อมีการปล่อยสินเชื่อให้กู้ยืมเงิน การค้ำประกันและอาวัลตั๋วเงินไม่เป็นไปตามระเบียบปกติของธนาคารมิได้เร่งรัดติดตามหนี้สินหรือดำเนินการใดเพื่อแก้ไขหนี้ดังกล่าว เป็นเหตุให้ธนาคารโจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ชื่อว่าทำละเมิดต่อโจทก์ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 แม้มิใช่เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ แต่มีหน้าที่ดูแลด้านสินเชื่อภายในประเทศซึ่งจากคำเบิกความของนายปัญญาว่าได้มีการสรุปภาระหนี้สินของธนาคารโจทก์เสนอต่อจำเลยที่ 4 หลายครั้ง เพื่อให้สั่งการแต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มิได้สั่งการแต่ประการใด เป็นเหตุให้ไม่สามารถติดตามหนี้สินจากลูกหนี้ของธนาคารโจทก์ได้ ทั้งนี้เนื่องจากลูกหนี้ทั้ง 28 รายที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นบริษัทซึ่งกรรมการของโจทก์หลายคนเป็นกรรมการในบริษัทลูกหนี้หลายบริษัทหรือมิฉะนั้นเป็นเพื่อนสนิทของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 4เช่น นายวิชัย นายประชุม และนายหม่อง เอ็มออง เป็นต้นการที่จำเลยที่ 4 ละเว้นไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และระเบียบปฏิบัติของธนาคารโจทก์ จำเลยที่ 4 ได้ชื่อว่าทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์
ปัญหาประการที่หกมีว่า จำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับผิดต่อโจทก์เพราะการไม่เอื้อเฟื้อสอดส่องการประกอบกิจการของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168 หรือไม่ จำเลยต่างฎีกาอ้างว่า แม้จะเป็นกรรมการแต่มิได้มีหน้าที่ในการอนุมัติโดยจำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการลอย ไม่มีหน้าที่บริหารมาที่ทำการโจทก์เพียงเดือนละ 2 ครั้ง มิได้รับรู้การบริหารกิจการของโจทก์ จึงไม่ต้องร่วมรับผิด ส่วนจำเลยที่ 6 อ้างว่าคงมีแต่หน้าที่ดูแลด้านงานบุคคล ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ และว่าการจะรับผิดเพราะไม่เอื้อเฟื้อสอดส่องจะมีได้แต่กรรมการที่มีหน้าที่ดูแลในกิจการนั้น ตามมาตรา 1164 เท่านั้นเห็นว่า มาตรา 1168 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการประกอบกิจการบริษัทของกรรมการ ซึ่งอำนาจของกรรมการจะมีเพียงใดย่อมเป็นไปตามมาตรา 1158 ถึง 1164 ส่วนมาตรา 1168 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ ซึ่งโดยมาตรา 1168 วรรคแรก บัญญัติให้กรรมการใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวังส่วนวรรคสองหมายถึงกิจการที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษมากขึ้น หาได้หมายความตามฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดว่ากรรมการจะต้องร่วมกันรับผิดเฉพาะกิจการ 4 ประการที่บัญญัติในวรรคสอง มาตรา 1168 เท่านั้นไม่เมื่อมาตรา 1168 บัญญัติให้กรรมการทุกคนต้องมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่อง การจะเป็นกรรมการของบริษัทใดกรรมการผู้นั้นจึงต้องประกอบด้วยความรู้ความเข้าใจในการประกอบกิจการของบริษัทนั้นด้วย มิฉะนั้นกรรมการก็ไม่อาจเอื้อเฟื้อสอดส่องกิจการให้ดีได้ เมื่อโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ประ

Share