คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5600/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยนำความไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์ขับรถยนต์ เฉี่ยวชนจำเลยได้รับบาดเจ็บเป็นการแจ้งความตามข้อเท็จจริง ที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่ จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะการแจ้งข้อความ ย่อมหมายถึงแจ้งข้อเท็จจริง ไม่เกี่ยวกับกฎหมาย แม้ต่อมา พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความ ดังกล่าวเป็นความเท็จจำเลยไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172,173, 174
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173 และ 174 (ที่ถูกมาตรา 173ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง) ให้จำคุกคนละ 4 เดือน จำเลยที่ 3ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์โดยให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2นำความไปแจ้งต่อร้อยตำรวจโทโสภณ ประพันธ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านโดนเอาว์ว่าเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536เวลา 8 นาฬิกา โจทก์ขับรถยนต์ไปตามถนนสายสำโรงเกียรติ-ภูมิซรอลด้วยความเร็วเฉี่ยวชนจำเลยที่ 1 ได้รับบาดเจ็บ ร้อยตำรวจโทโสภณสอบสวนจำเลยที่ 1 และที่ 2 รายละเอียดปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโจทก์แจ้งข้อหาว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ไม่แสดงตนและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันทีแต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือไม่ เชื่อว่า ข้อความที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำไปแจ้งต่อร้อยตำรวจโทโสภณพนักงานสอบสวนตรงกับสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งข้อความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งหรือไม่ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะการแจ้งข้อความย่อมหมายถึงแจ้งข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับกฎหมาย หลังจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งต่อพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีแก่โจทก์แม้ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share