คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5944/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำพิพากษาศาลแพ่งซึ่งถึงที่สุดแล้วได้พิพากษาให้ ป. รื้อถอนตึกแถวพิพาทส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งมีผลผูกพันคู่ความในคดีหรือ ป. แม้โจทก์จะรับโอนตึกแถวพิพาทโดยสุจริตก็ตาม ก็ตกอยู่ในฐานะผู้สืบสิทธิของ ป. หรืออยู่ในฐานะเช่นเดียวกับ ป. ที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาและหมายบังคับคดีของศาลแพ่งซึ่งมีผลผูกพันโจทก์ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากคำพิพากษาให้รื้อถอนอาคารเช่นคดีนี้มิใช่วิธีการเยียวยาในทางแพ่ง หากแต่เป็นการเยียวยาเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย และการอื่นที่จำเป็นตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารอันเป็นกฎหมายมหาชน เพราะฉะนั้น การที่จำเลยทั้งสองดำเนินการตามคำพิพากษาและหมายบังคับคดีของศาลแพ่งจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย หาได้เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองมีคำสั่งให้รื้อหรือทำการรื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมกว้าง 3.85 เมตร ยาว 2 เมตร สูง 4 ชั้น ออกจากอาคารตึกแถวพิพาทเลขที่ 281/20 ถนนสุรวงศ์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามคำฟ้องและคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์มิได้ร้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้หรือกระทำการอันหนึ่งอันใด จึงถือว่าเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง จึงชอบที่ศาลจะยกฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนจำเลยทั้งสอง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คำพิพากษาศาลแพ่งไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีและเป็นผู้รับโอนตึกแถวพิพาทโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ฟ้องร้องหลายคดีขอให้รื้อถอนอาคารที่ดัดแปลงต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมคราวเดียวกับตึกแถวพิพาทและมีลักษณะเดียวกับตึกแถวพิพาท ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าไม่มีอำนาจฟ้องผู้รับโอนอาคารให้รื้อถอนอาคาร เห็นว่า แม้ตึกแถวพิพาทได้ดัดแปลงต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตในคราวเดียวกันและมีลักษณะเดียวกับอาคารตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลแพ่งซึ่งถึงที่สุดแล้วได้พิพากษาให้นายประทีปรื้อถอนตึกแถวพิพาทส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งมีผลผูกพันคู่ความในคดีหรือนายประทีป โจทก์ในฐานะผู้รับโอนตึกแถวพิพาทจากนายประทีป แม้จะรับโอนโดยสุจริตก็ตาม ก็ตกอยู่ในฐานะผู้สืบสิทธิของนายประทีปหรืออยู่ในฐานะเช่นเดียวกับนายประทีปที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาและหมายบังคับคดีของศาลแพ่งนั่นเอง ดังนั้น คำพิพากษาศาลแพ่งย่อมมีผลผูกพันโจทก์ด้วย เพราะมิฉะนั้นแล้วคำพิพากษาให้รื้อถอนอาคารก็จะไร้สภาพบังคับ หากยอมให้มีการหลีกเลี่ยงด้วยการโอนอาคารให้บุคคลอื่น แล้วบุคคลผู้รับโอนสามารถอ้างได้ว่าคำพิพากษาไม่มีผลผูกพันตน ทั้งนี้เนื่องจากคำพิพากษาให้รื้อถอนอาคารเช่นคดีนี้ มิใช่วิธีการเยียวยาในทางแพ่งอันเป็นกฎหมายเอกชน หากแต่เป็นการเยียวยาเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย และการอื่นที่จำเป็นตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารอันเป็นกฎหมายมหาชน เพราะฉะนั้นการที่จำเลยทั้งสองดำเนินการตามคำพิพากษาและหมายบังคับคดีของศาลแพ่งจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย หาได้เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ โดยไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์แต่อย่างใดอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เพราะไม่ชอบด้วยมาตรา 296 วรรคสอง แห่ง ป.วิ.พ. นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share