คำวินิจฉัยที่ 23/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๓/๒๕๔๘

วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล ในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๗ กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องหัวหน้าสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดนครราชสีมา (เดิมคือ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนครราชสีมา ) ที่ ๑ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครราชสีมาเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๔๑/๒๕๔๗ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๓๙ ผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดขุนเมือง ก่อสร้างโรงงานผลิตยางแผ่นผึ่งแห้งรมควันที่จังหวัดปัตตานี จำนวน ๒ โรงงาน เป็นเงิน ๕,๖๘๐,๐๐๐ บาท แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดขุนเมืองทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญาโดยก่อสร้างสำเร็จเพียงงานงวดที่ ๑ และที่ ๒ รวมคิดเป็นเงิน ๕๖๒,๖๙๑.๕๙ บาท เท่านั้น ผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่จ่ายค่าจ้างดังกล่าว และบอกเลิกสัญญา แล้วทำสัญญาจ้างบริษัทสุรนารีแฟคทอรี่ จำกัด ทำการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวต่อไปโดยจ้างก่อสร้างเพิ่มเติมอีกรวมเป็น ๖ โรงงาน เป็นเงินทั้งสิ้น ๑๓,๙๑๖,๐๐๐ บาท อันเป็นราคาเต็มที่รวมผลงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดขุนเมือง จำนวน ๕๖๒,๖๙๑.๕๙ บาท ที่ได้ก่อสร้างไว้แล้วด้วย เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จผู้ฟ้องคดีได้จ่ายค่าจ้างให้แก่บริษัทสุรนารีฯ ตามสัญญาโดยไม่หักเงิน จำนวน ๕๖๒,๖๙๑.๕๙ บาท ที่บริษัทสุรนารีฯ ไม่มีสิทธิได้รับ ผู้ฟ้องคดีจึงจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลยุติธรรมเพื่อเรียกเงินคืน แต่ทราบว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งขีดชื่อบริษัทสุรนารีฯ ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างแล้ว เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือ ที่ กษ ๒๐๒๙/๐๔๖๗ ลงวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๗ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกคำสั่งดังกล่าวและให้จดชื่อคืนสู่ทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๔๖ (๖) แต่ได้รับแจ้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามหนังสือที่ พณ ๐๘๐๕/นม/๑๔๙๔ ลงวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๗ ว่า ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จึงไม่อาจเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ ผู้ฟ้องคดีจึงได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยผ่านผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามหนังสือ ด่วนมาก ที่ กษ ๒๐๒๙/๐๖๐๙ ลงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๗ แล้วได้รับแจ้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามหนังสือ ที่ พณ ๐๘๐๕/นม/๒๑๘๘ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๗ ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาคำอุทธรณ์แล้ว เห็นว่า นายทะเบียนไม่มีอำนาจจดชื่อบริษัทเพื่อกลับคืนสู่ทะเบียนได้ เนื่องจากนายทะเบียนปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีผลให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายไม่สามารถจะดำเนินการฟ้องร้องคดีแพ่งหรือทำธุรกรรมกับบริษัทสุรนารีฯ เพื่อให้นำเงินค่าจ้างที่ผู้ฟ้องคดีจ่ายให้ไปโดยผิดพลาดมาชดใช้คืนได้ จึงยื่นฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยกเลิกคำสั่งขีดชื่อบริษัทสุรนารีฯ ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง และให้กลับจดชื่อบริษัทดังกล่าวในทะเบียนเช่นเดิม
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า บริษัทสุรนารีฯ มิได้จัดส่งงบดุลและงบกำไรขาดทุนประจำปีต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๙๙ ติดต่อกันมาเป็นเวลาสามปีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้มีหนังสือสอบถามกรรมการบริษัทว่า ยังดำเนินกิจการอยู่หรือไม่แต่ไม่ได้รับแจ้งผลการดำเนินการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้มีหนังสือถึงกรรมการบริษัทอีกครั้งหนึ่ง โดยให้แจ้งภายใน ๑ เดือน นับแต่วันที่ลงในหนังสือ หากพ้นกำหนดและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังไม่ได้รับแจ้งอีกจะได้ดำเนินการแจ้งความโฆษณาเพื่อขีดชื่อบริษัทสุรนารีฯ ออกจากทะเบียน แต่ก็ไม่ได้รับแจ้งภายในระยะเวลาที่กำหนดอีก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงออกประกาศจะขีดชื่อบริษัทสุรนารีฯ ออกจากทะเบียนโดยประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์เสรีธรรมและได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัทสุรนารีฯ ทราบด้วย เมื่อสิ้นกำหนดเวลาที่แจ้งในประกาศแล้ว บริษัทสุรนารีฯ ก็มิได้แจ้งเหตุมาให้ทราบว่ายังประกอบกิจการ อยู่หรือไม่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงออกคำสั่งขีดชื่อบริษัทสุรนารีฯ ออกจากทะเบียนตามคำสั่งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนส่วนบริษัทจังหวัดนครราชสีมา ที่ (ถ) ๒๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ และคำสั่งดังกล่าวได้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาด้วย อันเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๔๖ (๕) การดำเนินการขีดชื่อบริษัทสุรนารีฯ ออกจากทะเบียนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ดำเนินการโดยชอบตามอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๙๙ ประกอบมาตรา ๑๒๔๖ แล้ว
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลว่า การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องต่อศาลปกครองโดยอาศัยสิทธิฐานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทสุรนารีฯ เพื่อให้ศาลเห็นเป็นการยุติธรรมในการที่จะให้ได้กลับคืนขึ้นทะเบียนแล้วสั่งให้จดชื่อบริษัทสุรนารีฯ เข้าสู่ทะเบียนเพื่อผู้ฟ้องคดีจะได้ดำเนินการฟ้องคดีแพ่งบริษัทสุรนารีฯ ต่อไป เป็นการอาศัยสิทธิทางแพ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๔๖ (๖) โดยคำฟ้องของผู้ฟ้องคดียอมรับว่านายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนโดยชอบ คำฟ้องดังกล่าวจึงมิใช่กรณีมีข้อพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง เมื่อคดีไม่มีข้อพิพาท ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลปกครองนครราชสีมา จึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้และไม่สามารถกำหนดคำบังคับ ตามมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขีดชื่อบริษัทสุรนารีฯ ออกจากทะเบียนเป็นคำสั่งที่อาศัยอำนาจตามกฎหมายแพ่งมิได้อาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แม้คำสั่งดังกล่าวจะเป็นคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๔๖ (๖) ได้กำหนดช่องทางให้สามารถเยียวยาเพื่อให้บริษัทคืนสู่สภาพได้ โดยกำหนดให้บุคคลที่ต้องเสียหายไม่เป็นธรรมยื่นคำร้องฝ่ายเดียวต่อศาลโดยไม่มีข้อพิพาท ทั้งนี้เพื่อให้ศาลใช้หลักแห่งความยุติธรรมที่จะออกคำสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อบริษัทที่ถูกขีดชื่อออกคืนเข้าสู่ทะเบียนอันเป็นหลักความยุติธรรมที่ระบุไว้ในกฎหมายแพ่ง ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้นิยามคำสั่งทางปกครอง หมายความว่า (๑) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่ หมายความรวมถึงการออกกฎ (๒) การอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ใช้อำนาจตามมาตรา ๑๒๔๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ออกคำสั่งขีดชื่อบริษัทสุรนารีแฟคทอรี่ จำกัด ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง มีผลให้บริษัทดังกล่าวเป็นอันเลิกกันไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ คำสั่งขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดังกล่าว จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อมีกรณีโต้แย้งว่า คำสั่งที่ให้ขีดชื่อบริษัทสุรนารีฯ ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นไปโดยไม่ชอบและมีผลให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายไม่สามารถที่จะดำเนินการฟ้องร้องคดีแพ่งหรือทำธุรกรรมกับบริษัทสุรนารีฯ เพื่อให้นำเงินค่าจ้างที่ผู้ฟ้องคดีจ่ายให้ไปโดยผิดพลาดมาชดใช้คืนได้ และได้ยื่นฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยกเลิกคำสั่งขีดชื่อบริษัทสุรนารีฯ ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง และให้กลับจดชื่อบริษัทสุรนารีฯ คืนเข้าสู่ทะเบียน จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการด้วยการออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเป็นคดีที่ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้
ศาลจังหวัดนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีคำสั่งขีดชื่อบริษัทสุรนารีแฟคทอรี่ จำกัด ออกเสียจากทะเบียน ซึ่งทำให้ผู้ฟ้องคดีในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทสุรนารีฯ ได้รับผลกระทบ ไม่อาจจะฟ้องเรียกร้องให้บริษัท สุรนารีฯ ชำระเงินคืนได้ก็ตาม แต่กรณีมิใช่เป็นคำสั่งทางปกครอง เพราะเหตุว่าการขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียนนั้นได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนที่ ๑๑ การถอนทะเบียนบริษัทร้าง มาตรา ๑๒๔๖ (๑) – (๖) โดยบัญญัติถึงเหตุและขั้นตอนของการที่นายทะเบียนบริษัทจะขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียนไว้ใน (๑) ถึง (๕) และบัญญัติให้อำนาจศาลในการที่จะพิจารณาสั่งให้กลับจดชื่อบริษัทคืนเข้าสู่ทะเบียนไว้ใน (๖) ว่า ถ้าบริษัทหรือผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ใด ๆ ของบริษัทรู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรมเพราะการที่บริษัทถูกขีดชื่อจากทะเบียน เมื่อบริษัท หรือผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลและศาลพิจารณาได้ความเป็นที่พอ แก่ใจว่าในขณะที่ขีดชื่อบริษัทจากทะเบียนนั้น บริษัทยังทำการค้าขายหรือยังประกอบการงานอยู่ก็ดี หรือมิฉะนั้นเห็นเป็นการยุติธรรมในการที่จะให้บริษัทนั้นกลับคืนขึ้นทะเบียนก็ดี ศาลจะสั่งให้กลับจดชื่อบริษัทคืนเข้าสู่ทะเบียนก็ได้ ดังนั้น เมื่อการขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียนและการสั่งให้กลับจดชื่อบริษัทคืนเข้าสู่ทะเบียนได้บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๔๖ (๑) – (๖) ดังกล่าว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญาจ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัดขุนเมือง ก่อสร้างโรงงานผลิตยางแผ่นผึ่งแห้งรมควันที่จังหวัดปัตตานี จำนวน ๒ โรงงาน แต่ห้างฯ ทำงานแล้วเสร็จเพียงสองงวดงาน คิดเป็นเงิน ๕๖๒,๖๙๑.๕๙ บาท ผู้ฟ้องคดีจึงบอกเลิกสัญญาและทำสัญญาจ้างบริษัทสุรนารีแฟคทอรี่ จำกัด ก่อสร้างโรงงานดังกล่าวแทนและจ้างเพิ่มเติมอีกรวมเป็น ๖ โรงงาน เป็นเงิน ๑๓,๙๑๖,๐๐๐ บาท อันเป็นราคาเต็มที่รวมผลงานของห้างฯ ที่ได้ก่อสร้างไว้แล้วด้วย เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ผู้ฟ้องคดีได้จ่ายค่าจ้างตามสัญญาให้แก่บริษัทสุรนารีฯ โดยไม่หักเงิน จำนวน ๕๖๒,๖๙๑.๕๙ บาทไว้ ผู้ฟ้องคดีจึงจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลยุติธรรมเพื่อเรียกเงินคืน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งขีดชื่อบริษัทสุรนารีฯ ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเพื่อให้บริษัทสุรนารีฯ มีชื่อคืนสู่ทะเบียน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ดำเนินการอ้างว่า การขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เห็นว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมายแล้วเช่นกัน คำสั่งดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายไม่อาจฟ้องร้องคดีแพ่งให้บริษัทสุรนารีฯ นำเงินค่าจ้างที่ได้จ่ายให้ไปโดยผิดพลาดมาชดใช้คืนได้ จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยกเลิกคำสั่งดังกล่าว และให้กลับจดชื่อบริษัทสุรนารีฯ ในทะเบียนเช่นเดิม ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า การขีดชื่อบริษัทสุรนารีฯ ออกจากทะเบียนได้ดำเนินการโดยชอบตามอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๙๙ ประกอบมาตรา ๑๒๔๖ แล้ว คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การขีดชื่อบริษัทสุรนารีฯ ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นั้นชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยการถอนทะเบียนบริษัทร้างหรือไม่ ซึ่งการขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนเป็นขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายแพ่งกำหนดไว้โดยเฉพาะ หากการขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ย่อมทำให้สภาพความเป็นนิติบุคคลของบริษัทฯ ตลอดจนสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ สิ้นสุดลง แต่หากการขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว สภาพบุคคล สิทธิและหน้าที่ดังกล่าวก็จะไม่สิ้นสุด อันเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และสภาพความเป็นบุคคลของบริษัทในทางแพ่ง ทั้งการที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิฟ้องร้องใน ทางแพ่งเพื่อเรียกหนี้คืนจากบริษัทฯ ที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๔๖ (๖) ก็บัญญัติให้เจ้าหนี้ของบริษัทที่ต้องเสียหายมิเป็นธรรมเพราะการที่บริษัท ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้กลับจดชื่อบริษัทคืนเข้าสู่ทะเบียนได้ อันเป็นขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายแพ่งบัญญัติให้บริษัทที่เลิกกันเพราะการขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างดังกล่าวกลับมีสภาพของบุคคลเสมือนดังว่าบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เพื่อให้ผู้เสียหายได้ฟ้องร้องหรือทำธุรกรรมกับบริษัทที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนต่อไปได้ ซึ่งเป็นเรื่องของสภาพความเป็นบุคคลของบริษัทในทางแพ่งเช่นกัน ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ และสภาพความเป็นบุคคลของบริษัทในทางแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ผู้ฟ้องคดี หัวหน้าสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดนครราชสีมา (นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนครราชสีมา เดิม) ที่ ๑ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัชรินทร์ คัด/ทาน
??

??

??

??

Share