คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2369/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องอ้างว่าได้ทำนิติกรรมยกทรัพย์พิพาทของตนให้จำเลยที่1โดยมิได้มีเจตนายกให้จริงๆแต่จำเลยที่1นำทรัพย์ดังกล่าวไปขายให้จำเลยที่3แล้วต่อมาโจทก์ได้รับจำนองทรัพย์ดังกล่าวจากจำเลยที่3ข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่านี้จะยกขึ้นต่อสู้จำเลยที่3หรือโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายแต่การแสดงเจตนาลวงนั้นหาได้ไม่ แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าตนครอบครองที่ดินทรัพย์พิพาทตลอดมาเป็นเวลาเกือบ20ปีก็ตามแต่เมื่อทำหนังสือแบ่งให้ที่ดินแก่จำเลยที่1โดยมีการจดทะเบียนที่ดินกรณีต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามป.พ.พ.มาตรา1373เมื่อนับตั้งแต่วันที่ผู้ร้องทำหนังสือแบ่งให้ที่ดินแก่จำเลยที่1ถึงวันที่ยื่นคำร้องยังไม่ถึง10ปีผู้ร้องจะอ้างว่าตนได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์ตามป.พ.พ.มาตรา1382หาไม่ได้.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวโจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่16518 ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างโดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 3 เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้องผู้ร้องได้ทำนิติกรรมอำพรางยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 1 โดยมิได้มีเจตนายกให้จริง ๆ แล้วผู้ร้องก็ได้ครอบครองทรัพย์พิพาทด้วยความสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเกือบ 20 ปี ไม่มีผู้ใดคัดค้านผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของทรัพย์พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยที่ 3กับพวกร่วมกันข่มขืนใจให้จำเลยที่ 1 โอนทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 3และจำเลยที่ 3 กับพวกหลอกลวงว่าเมื่อเสร็จคดีแล้วจำเลยที่ 3 จะโอนทรัพย์พิพาทคืนให้ จำเลยที่ 1 จึงโอนทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 3 ไปโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน อันเป็นการฉ้อฉลและเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตจำเลยที่ 3 มิได้ครอบครองทรัพย์พิพาท ทรัพย์พิพาทมิใช่ของจำเลยที่3 ขอให้มีคำสั่งปล่อยทรัพย์สินที่ยึด
โจทก์ให้การว่า ทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 เพราะเดิมจำเลยที่ 1 ได้ออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นของตน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จำนองทรัพย์พิพาทไว้กับจำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 3 ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ไว้กับโจทก์ ผู้ร้องมิใช่เจ้าของทรัพย์พิพาท ที่ผู้ร้องอ้างว่าได้ทำนิติกรรมอำพรางยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 1 ก็ไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนนิติกรรมระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดผู้ร้องอ้างว่าครอบครองปรปักษ์นั้น ขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ผู้ร้องก็เป็นผู้นำชี้ให้ยึดโดยมิได้โต้แย้งคัดค้านขอให้พิพากษายกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมพิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำร้องของผู้ร้องไม่เคลือบคลุม และวินิจฉัยประเด็นต่อไปว่า ผู้ร้องยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยเด็ดขาด ไม่น่าเชื่อว่าเป็นการโอนให้โดยไม่มีเจตนาให้จริงดังผู้ร้องกล่าวอ้าง ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าของทรัพย์พิพาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องนั้นศาลอุทธรณ์เห็นด้วยในผล พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องนำสืบมาไม่ปรากฏว่ามีนิติกรรมใดที่ถูกอำพรางไว้ตามคำร้อง หากผู้ร้องมีเจตนาสมรู้กับจำเลยที่ 1 ว่ามิได้มีเจตนายกทรัพย์พิพาทให้กันจริง ๆ ซึ่งตกเป็นโมฆะ ก็มีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณี ข้อไม่สมบูรณ์อันนี้จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 3 หรือโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายแต่การแสดงเจตนาลวงนั้นหาได้ไม่ ทั้งทรัพย์พิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 และนับตั้งแต่วันทำหนังสือสัญญาแบ่งให้ที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ถึงวันที่ 20 กันยายน 2525 ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องก็ยังไม่ถึง 10 ปี แม้จะฟังว่าผู้ร้องยังคงครอบครองทรัพย์พิพาทอยู่ตามที่กล่าวอ้าง ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ดังนั้น ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าทรัพย์พิพาทเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์.”

Share