คำวินิจฉัยที่ 22/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๒/๒๕๔๘

วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘

ศาลจังหวัดยะลา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดทหารบกปัตตานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดยะลาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๔๗ นางยามีลา นูรุลอาดิล ที่ ๑ นายมูฮัมมัดรอมลี เจ๊ะเละ ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง จ่าสิบเอกเสาธง แก้วสว่าง ที่ ๑ อาสาสมัครทหารพรานวิชาญ เพชรวงศ์ ที่ ๒ อาสาสมัครทหารพรานแสวง พรหมวิไล ที่ ๓ อาสาสมัครทหารพรานดอเลาะ หามะ ที่ ๔ อาสาสมัครทหารพรานสมศักดิ์ คละแดง ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดยะลา เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๖๙๙/๒๕๔๗ ความว่า เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๗ เวลากลางวัน จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ ๒ กับนายอิลมีน นูรุลอาดิลซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ที่ ๑ และใช้อาวุธปืนยิงนายอิลมีน จนถึงแก่ความตาย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากโจทก์ที่ ๒ และนายอิลมีน วิ่งหลบหนีการไล่ยิงของนายอับดุลอาซิ หะยีดอเลาะ มาพบจำเลยทั้งห้าแต่จำเลยทั้งห้าได้ใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าและตะโกนสั่งให้โจทก์ที่ ๒ โยนอาวุธปืน ชูมือและคุกเข่าหมอบลงกับพื้น โจทก์ที่ ๒ กับนายอิลมีน ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยทั้งห้า แต่จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันทำร้ายร่างกายและใช้อาวุธปืนจ่อยิงหลังนายอิลมีนในขณะที่หมอบลงกับพื้น ทั้งยังร่วมกันสร้างพยานหลักฐานเท็จ เพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่านายอิลมีนใช้อาวุธปืนยิงจำเลยทั้งห้า ก่อนที่จำเลยทั้งห้าจะยิงสวนโต้ตอบกลับ เพื่อที่จำเลยทั้งห้าจะได้ไม่ถูกจับกุมดำเนินคดีและต้องรับโทษตามกฎหมาย และระหว่างวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งห้าได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา บอกกล่าวหรือรายงานต่อผู้บังคับบัญชาและให้ข่าวต่อสื่อมวลชนด้วยข้อความอันเป็นเท็จเพื่อใส่ความโจทก์ที่ ๒ และนายอิลมีน ว่ามีส่วนผิดที่ทำให้จำเลยทั้งห้าต้องร่วมกันทำร้ายร่างกายและใช้อาวุธปืนยิงนายอิลมีน การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งห้าทำให้โจทก์ทั้งสองเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังจากประชาชนทั่วไป โจทก์ทั้งสองเห็นว่าจำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๕ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอาสาสมัครทหารพราน ของกรมทหารพรานที่ ๔๑ แต่จำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๕ มีตำแหน่งเป็นเพียงลูกจ้างของหน่วยงานดังกล่าว ไม่ใช่บุคคลที่รับราชการทหาร ตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร จึงไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามมาตรา ๑๖ (๓) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๘) ส่วนจำเลยที่ ๑ แม้จะถือว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารแต่ได้ร่วมกันกระทำผิดกับจำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าต่อศาลพลเรือน ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ (๑) (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๘) ขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำร้ายร่างกาย ฆ่าผู้อื่น สร้างพยานเท็จ แจ้งเท็จ และหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗, ๒๙๕, ๒๘๙ (๗), ๑๓๗, ๑๗๒, ๑๗๓,๑๗๔, ๑๗๙, ๑๘๙, ๑๙๒, ๓๒๖, ๓๒๗

ความเห็นระหว่างศาล
ศาลจังหวัดยะลาเห็นว่า ตามคำฟ้องจำเลยที่ ๑ รับราชการทหาร จึงเป็นนายทหารประทวนตามพระธรรมนูญศาลทหาร ส่วนจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ตามคำฟ้องระบุว่าเป็นลูกจ้างตำแหน่งอาสาสมัครทหารพรานจึงถือว่าเป็นพลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหาร ซึ่งขณะเกิดเหตุคดีนี้มีเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงมีประกาศกองทัพภาคที่ ๔ เรื่องการใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ รวมถึงเขตพื้นที่อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นเขตพื้นที่ซึ่งใช้กฎอัยการศึกด้วย โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๗ และเมื่อมีการประกาศออกกฎอัยการศึกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปรามหรือรักษาความสงบเรียบร้อยรวมถึงห้ามมีหรือใช้อาวุธตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ ๒ แล้วได้ใช้อาวุธปืนจ่อยิงนายอิลมีน ว่าสืบเนื่องมาจากการที่นายอับดุลอาซิ หะยีดอเลาะ ใช้อาวุธปืนพกสั้น ขนาด .๓๘ ยิงโจทก์ที่ ๒ และนายอิลมีน แต่กระสุนพลาดไปถูกนายดอรอฮิงหรือนายบือราเฮง มาหะ โจทก์ที่ ๒ กับนายอิลมีนจึงวิ่งหลบหนี โดยโจทก์ที่ ๒ ได้ถืออาวุธปืนพกสั้น ขนาด .๒๒ ในขณะวิ่งหลบหนีเพราะเกรงว่านายอับดุลอาซิ หะยีดอเลาะ จะวิ่งไล่ติดตามมายิงซ้ำ ตามคำฟ้องดังกล่าวแสดงว่ามีเหตุการณ์ยิงกันขึ้นก่อนแล้วนายอิลมีนและโจทก์ที่ ๒ วิ่งหลบหนีโดยถืออาวุธปืนมาและพบกับจำเลยทั้งห้า ซึ่งบอกให้โยนอาวุธปืนทิ้งตามพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยทั้งห้าได้เข้าไประงับเหตุอันถือว่าเป็นการกระทำเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและเป็นการกระทำในหน้าที่ เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ รับราชการ ส่วนจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นพลเรือนสังกัดในราชการทหารร่วมกระทำการในหน้าที่ราชการ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๖ (๓)(๖) ประกอบมาตรา ๓๖
ศาลจังหวัดทหารบกปัตตานีเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนายทหารประทวนประจำการ สังกัดกรมทหารพรานที่ ๔๑ เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๖ (๓) ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นอาสาสมัครทหารพราน สังกัดกรมทหารพรานที่ ๔๑ เป็นพลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหาร แม้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้าเข้าไประงับเหตุและเป็นการกระทำเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยก็ตาม เห็นว่าตามวันเวลาที่เกิดเหตุอยู่ในเขตประกาศใช้กฎอัยการศึก (ใช้กฎ ๒๖ ม.ค. ๔๗ ) ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าได้รับคำสั่งหรือได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจ ให้จำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยมีอำนาจและหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักรตามกฎอัยการศึก กรณียังเป็นที่สงสัยว่าจำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๕ ได้กระทำการในหน้าที่ราชการทหารหรือไม่ ยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๕ เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๖ (๖) ตามคำฟ้องโจทก์ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำร้ายร่างกาย และฆ่าผู้อื่น เป็นคดีที่จำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารร่วมกระทำผิดกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหาร จึงเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ (๑) ส่วนตามคำฟ้องโจทก์ในข้อหาสร้างพยานเท็จ แจ้งเท็จ หมิ่นประมาท มิใช่เป็นการกระทำที่ผิดในหน้าที่ราชการทหารของจำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๕ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลในอำนาจศาลทหารได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหาร จึงเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ (๑)

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้สรุปข้อเท็จจริงตามฟ้องได้ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนายทหารประทวนประจำการ สังกัดกรมทหารพรานที่ ๔๑ ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นอาสาสมัครทหารพราน สังกัดกรมทหารพรานที่ ๔๑ โดยร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ ๒ และนายอิลมีน นูรุลอาดิลซึ่งเป็นบุตรโจทก์ที่ ๑ และใช้อาวุธปืนยิงนายอิลมีน จนถึงแก่ความตาย ทั้งยังร่วมกันสร้างพยานเท็จ แจ้งเท็จ และหมิ่นประมาท ซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำร้ายร่างกาย ฆ่าผู้อื่น สร้างพยานเท็จ แจ้งเท็จ และหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา เห็นว่าแม้ในเวลาที่เกิดเหตุจะมีประกาศให้ใช้กฎอัยการศึก ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๗ ในพื้นที่เกิดเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ มาตรา ๖ แต่โดยที่มาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างปกติ เว้นแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาศึกและผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและในระหว่างที่ใช้กฎอัยการศึกตามที่ระบุไว้ในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ เมื่อในกรณีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้มีการจัดตั้งศาลอาญาศึกและแม่ทัพภาคที่ ๔ ซึ่งเป็นผู้ประกาศใช้กฎอัยการศึกได้ประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและในระหว่างที่ใช้กฎอัยการศึก ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างปกติ ทั้งนี้โดยมีพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ บัญญัติว่า
มาตรา ๑๔ (๑) คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารคือ คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน
มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารให้ดำเนินคดีในศาลพลเรือน
มาตรา ๑๖ บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารคือ
(๓) นายทหารประทวนและพลทหารกองประจำการหรือประจำการหรือบุคคลที่รับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
(๖) พลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหารเมื่อกระทำผิดในหน้าที่ราชการทหารหรือกระทำผิดอย่างอื่นเฉพาะในหรือบริเวณ อาคาร ที่ตั้งหน่วยทหาร ที่พักร้อน พักแรม เรือ อากาศยาน หรือยานพาหนะใดๆ ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
ดังนั้น สำหรับข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำร้ายร่างกาย และฆ่าผู้อื่น แม้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ จะสังกัดอยู่ในราชการทหาร แต่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นพลเรือน และข้อเท็จจริงตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ได้กระทำการตามที่โจทก์กล่าวอ้างในหน้าที่ราชการทหาร หรือในบริเวณ อาคาร ที่ตั้งหน่วยทหาร ที่พักร้อน พักแรม เรือ อากาศยาน หรือยานพาหนะใดๆ ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ จึงไม่เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๖ (๖) ดังนั้นในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำร้ายร่างกาย และฆ่าผู้อื่น จึงเป็นคดีที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ร่วมกระทำผิดกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหาร คดีไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ (๑) ในทำนองเดียวกันข้อหาสร้างพยานเท็จ แจ้งเท็จ และหมิ่นประมาท เมื่อจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารจึงเป็นคดีที่จำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารร่วมกระทำผิดกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหาร คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ (๑) แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๑
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางยามีลา นูรุลอาดิล ที่ ๑ นายมูฮัมมัดรอมลี เจ๊ะเละ ที่ ๒ โจทก์ จ่าสิบเอก เสาธง แก้วสว่าง ที่ ๑ อาสาสมัครทหารพราน วิชาญ เพชรวงศ์ ที่ ๒ อาสาสมัครทหารพราน แสวง พรหมวิไล ที่ ๓ อาสาสมัครทหารพราน ดอเลาะ หามะ ที่ ๔ อาสาสมัครทหารพราน สมศักดิ์ คละแดง ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
วัชรินทร์ คัด/ทาน

Share