แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๑/๒๕๔๘
วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง
ศาลจังหวัดจันทบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดจันทบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้น ไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ นายเสน่ห์ สนิท โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลย ต่อศาลจังหวัดจันทบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๙๐๑/๒๕๔๗ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ อันเนื่องมาจากพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลของจำเลยกระทำละเมิดทำการสอบสวนคดีอาญาที่โจทก์เป็นผู้เสียหายและได้ร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงานสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิได้รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ตามกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่สิทธิในทางคดีอาญาและมีภาระเพิ่มขึ้นในการแสวงหารวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ให้พนักงานอัยการด้วยตนเองโดยไม่จำเป็น แต่ศาลจังหวัดจันทบุรีมีคำสั่งไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าเป็นคดีปกครองที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ศาลจังหวัดจันทบุรีไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ (คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๖๕๙/๒๕๔๗)
เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ นายเสน่ห์ จึงฟ้องคดีในเรื่องดังกล่าวต่อศาลปกครองระยอง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๓/๒๕๔๗ โดยอ้างว่า พนักงานสอบสวนละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติและปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ทำการสอบสวนโดยกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดี อันเป็นการกระทำละเมิดและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ศาลปกครองระยองมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา (คดีหมายเลขแดงที่ ๑๔๐/๒๕๔๗)
เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๗ นายเสน่ห์ โจทก์ จึงยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลย ในข้อเท็จจริงเดียวกัน ต่อศาลจังหวัดจันทบุรี (คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๐๙๙/๒๕๔๗)
ศาลจังหวัดจันทบุรีเห็นว่า คำฟ้องโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งตามมาตรา ๑๔ ให้ถือว่าเป็นสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองและถือว่าคดีนี้เป็นคดีปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลจังหวัดจันทบุรีไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้
ศาลปกครองระยองเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานในคดีแล้ว แม้ผู้ฟ้องคดีจะเห็นว่าพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการสอบสวนไม่ครบถ้วน อีกทั้งดำเนินการสอบสวนล่าช้าอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร แต่การที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานอย่างใดหรือใช้เวลาดำเนินการสอบสวนนานเพียงใดนั้น ย่อมเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะใช้ดุลพินิจในการรวบรวมพยานหลักฐานภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิใช่กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง แต่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ตามแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๒/๒๕๔๗
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ในการดำเนินกิจการหรือการกระทำต่าง ๆ ของรัฐทุกระบบจะต้องถูกตรวจสอบได้โดยศาล สำหรับศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำทางปกครองซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีที่มีการฟ้องว่า หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการในการใช้อำนาจทางปกครอง หรือดำเนินกิจการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือในคดีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ในทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือในคดีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยต่อหน้าที่ในทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้า หรือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอันเป็นการตรวจสอบการกระทำทางปกครอง ส่วนศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๑ ซึ่งได้แก่ คดีแพ่ง คดีอาญา และคดีอื่นๆที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
การดำเนินคดีอาญานั้น เป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญา อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐคือ พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการนั้นอาจมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วย ขั้นตอนใดเป็นการกระทำที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง การกระทำดังกล่าวจะอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม แต่การกระทำใดที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกระทำนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นการกระทำที่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การกระทำนั้นจะอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลปกครอง
สำหรับคดีนี้ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐว่า พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลของจำเลย จงใจทำการสอบสวนคดีอาญาที่โจทก์เป็นผู้เสียหายและได้ร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงานสอบสวนโดยมิได้รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ตามกฎหมายเพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับมูลความผิดที่ถูกกล่าวหา จงใจไม่ให้นายสหัส จุณศรี ผู้ถูกกล่าวหาถูกดำเนินคดี และปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่สิทธิในทางคดีอาญาและมีภาระเพิ่มขึ้นในการแสวงหารวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ให้พนักงานอัยการด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นและต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานในคดีแล้ว และโจทก์กล่าวอ้างว่าพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยมุ่งประสงค์จะให้ศาลตรวจสอบการรวบรวมพยานหลักฐานและความเห็นสั่งไม่ฟ้องของพนักงานสอบสวน ซึ่งการสอบสวนคดีอาญาเป็นขั้นตอนดำเนินการเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจพนักงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าพนักงานสอบสวนปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร แต่การที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานอย่างใดหรือใช้เวลาดำเนินการสอบสวนนานเพียงใดนั้น ย่อมเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะใช้ดุลพินิจในการรวบรวมพยานหลักฐานภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนยุติธรรมทางอาญา มิใช่การกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือจากกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
อนึ่ง คดีนี้ โจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดจันทบุรีมาแล้ว แต่ศาลจังหวัดจันทบุรีไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง และโจทก์ได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองระยอง ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจและมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โจทก์จึงฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดจันทบุรี แม้ศาลจังหวัดจันทบุรีจะเป็นศาลผู้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ไม่ใช่ศาลปกครองระยองก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ เป็นกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครอง และพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ เพียงแต่กำหนดว่ากรณีศาลไม่รับฟ้อง ให้ศาลที่โจทก์หรือผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องครั้งหลังและเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจเป็นผู้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเท่านั้น มิได้กำหนดบทบังคับถึงขนาดให้ศาลผู้ส่งเรื่องจะต้องเป็นศาลที่สองที่มีการยื่นฟ้องคดีแต่อย่างใด คณะกรรมการจึงมีอำนาจรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดได้
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายเสน่ห์ สนิท โจทก์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๔