แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บริษัท ด. เจ้าของที่ดินได้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์จำนวน 11 คูหาขายโดยด้านหลังอาคารมีกำแพงรั้วคอนกรีตสูงประมาณ 2 เมตร กั้นยาวตลอดทั้ง 11 คูหาจำเลยที่ 4 ซื้ออาคารพาณิชย์เมื่อปี 2525 ส่วนจำเลยที่ 5 ซื้ออาคารพาณิชย์เมื่อปี 2536จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ต่อเติมรั้วคอนกรีตเดิมซึ่งอยู่นอกโฉนดที่ดินที่ซื้อมาให้สูงขึ้นและมุงหลังคาเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร ส่วนโจทก์ซื้อที่ดินมาเมื่อปี 2537 ซึ่งมีเนื้อที่ครอบคลุมรั้วคอนกรีตทั้งหมด ในกรณีรั้วคอนกรีตที่ได้มีการก่อสร้างไว้แล้วเดิมไม่มีบทกฎหมายมาตราใดที่จะยกขึ้นมาปรับแก่คดีได้โดยตรง ในการวินิจฉัยคดีจึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คือมาตรา 1310 ประกอบมาตรา 1314 ซึ่งบัญญัติให้โจทก์เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของสิ่งก่อสร้าง โจทก์จึงเป็นเจ้าของรั้วคอนกรีตเดิม ส่วนรั้วคอนกรีตที่ต่อเติมให้สูงขึ้นและสิ่งปลูกสร้างด้านหลังอาคารพาณิชย์ ที่ต่อเติมขึ้นภายหลังไม่ใช่การสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น หรือสร้างโรงเรือนหรือสิ่งก่อสร้างอื่นในที่ดินของผู้อื่น แม้จำเลยที่ 4 และที่ 5 จะกระทำไปโดยสุจริต ก็ไม่มีสิทธิใช้ที่ดินของโจทก์ได้ กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1312 และมาตรา 1310 ประกอบมาตรา 1314 จึงต้องรื้อออกไป
ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาคดีเข้าด้วยกัน 5 คดี โจทก์เสียค่าอ้างเอกสารอัตราสูงสุด 200 บาท แม้จะไม่ครบถ้วนก็ไม่มีบทกฎหมายให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะอ้างเอกสารเป็นพยานประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ก็บัญญัติเพียงว่าห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความมิได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงเท่านั้นทั้งยังยกเว้นไว้ด้วยว่าถ้าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีแม้จะฝ่าฝืนบทบัญญัติในอนุมาตรานี้ก็ให้ศาลมีอำนาจที่จะรับฟังได้ ดังนั้นการที่ศาลรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องที่ไม่ชอบ
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 11911/2542 หมายเลขแดงที่ 11912/2542 และหมายเลขแดงที่11915/2542 ของศาลชั้นต้น โดยเรียกจำเลยในคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6และที่ 7 และเรียกจำเลยสองสำนวนนี้ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ตามลำดับ แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสองสำนวนนี้
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนนี้เป็นใจความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 123671 อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยที่ 4 โฉนดเลขที่ 123665 และที่ดินของจำเลยที่ 5 โฉนดเลขที่ 123666 ในที่ดินแต่ละแปลงของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ดังกล่าวมีอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้เป็นเจ้าของที่ดินปลูกสร้างอยู่โดยมีแนวรั้วคอนกรีตกั้นระหว่างที่ดินของโจทก์กับของจำเลยที่ 4 และที่ 5 แต่รั้วคอนกรีตและสิ่งปลูกสร้างที่ต่อเติมด้านหลังของอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริตและไม่มีสิทธิคิดเป็นเนื้อที่ที่รุกล้ำสำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5 คนละประมาณ 1.5 ตารางวา โจทก์ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนที่ถูกรุกล้ำเพื่อก่อสร้างอาคารชุดและที่พักอาศัยจำหน่ายแก่บุคคลภายนอกโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 รื้อถอนรั้วคอนกรีตและสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ และทำให้ที่ดินของโจทก์กลับคืนสภาพเดิม แต่จำเลยที่ 4 และที่ 5 เพิกเฉย โจทก์ได้รับความเสียหายในที่ดินส่วนที่ถูกรุกล้ำ ขอให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 รื้อถอนรั้วคอนกรีตและสิ่งปลูกสร้างส่วนที่ต่อเติมด้านหลังอาคารพาณิชย์ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 123665 และ 123666ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินโฉนดเลขที่123671 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ออกไป และทำให้ที่ดินกลับคืนสภาพเดิม โดยให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ให้จำเลยที่ 4และที่ 5 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 จะรื้อถอนรั้วคอนกรีตและสิ่งปลูกสร้างที่ต่อเติมอาคารพาณิชย์ของตนออกไปจากที่ดินของโจทก์และทำให้ที่ดินกลับคืนสภาพเดิมพร้อมทั้งส่งมอบแก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การและฟ้องแย้งว่า เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 123671คนก่อนเป็นผู้ปลูกสร้างรั้วคอนกรีตบางส่วนขึ้นมาเพื่อกั้นเป็นแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่123671 กับที่ดินของจำเลยที่ 4 และที่ 5 จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงได้ปลูกสร้างรั้วคอนกรีตเพิ่มเติมจากของเดิม และได้ใช้รั้วคอนกรีตบางส่วนเป็นฝาผนังของอาคารที่ปลูกสร้างเพิ่มเติมซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 4 และที่ 5 เอง ไม่ได้ปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์ขณะทำการปลูกสร้างเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 123671 ในขณะนั้นไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้าน จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงเชื่อโดยสุจริตว่าการปลูกสร้างรั้วคอนกรีตและอาคารได้ทำบนที่ดินของจำเลยที่ 4 และที่ 5 และครอบครองมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ก่อนที่โจทก์จะรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 123671 มาจากบุคคลอื่น โจทก์ก็ทราบอยู่แล้วเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 รื้อถอนได้ที่ดินส่วนที่รุกล้ำไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายหากได้รับความเสียหายก็ไม่เกินเดือนละ 200 บาท และ 300 บาท ตามลำดับ จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ปลูกสร้างอาคารเพิ่มเติมเป็นส่วนหนึ่งของผนังอาคารของจำเลยที่ 4และที่ 5 โดยสุจริต จำเลยที่ 4 และที่ 5 ย่อมเป็นเจ้าของอาคารที่ปลูกสร้างขึ้น ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ไปจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 123671เนื้อที่ประมาณ 1.5 ถึง 2 ตารางวา (ตามแนวรั้วคอนกรีต) เป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยที่ 4 โฉนดเลขที่ 123665 และเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยที่ 5 โฉนดเลขที่123666 เนื้อที่ประมาณ 1.5 ถึง 2.5 ตารางวา (ตามแนวรั้วคอนกรีต) ตำบลคลองจั่นอำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร โดยจำเลยที่ 4 และที่ 5 ยินยอมใช้ค่าที่ดินให้แก่โจทก์เดือนละ 200 บาท และ 300 บาท ตามลำดับ หากโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนภารจำยอมให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ปลูกสร้างรั้วคอนกรีตและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริต และไม่มีสิทธิตามกฎหมายจึงไม่อาจได้ภารจำยอมในที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง หากจำเลยมีสิทธิขอให้โจทก์จดทะเบียนภารจำยอมตามฟ้องแย้ง ขอให้บังคับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ใช้ค่าเสียหายไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 รื้อถอนรั้วคอนกรีตและสิ่งปลูกสร้างส่วนที่ต่อเติมด้านหลังอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 4 ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่123665 และของจำเลยที่ 5 ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 123666 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 123671 ตำบลคลองจั่นอำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ออกไปและทำให้ที่ดินของโจทก์กลับคืนสู่สภาพเดิม โดยให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย และให้จำเลยที่ 4 และที่ 5ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 500 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2538)ไปจนกว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 จะรื้อถอนรั้วคอนกรีตและสิ่งปลูกสร้างส่วนที่ต่อเติมรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และทำให้ที่ดินกลับคืนสู่สภาพเดิมเสร็จสิ้น และให้จำเลยที่ 4และที่ 5 กับจำเลยในสำนวนอื่นชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 4 และที่ 5
จำเลยที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 รื้อถอนรั้วคอนกรีตเฉพาะส่วนที่ต่อเติมสูงขึ้น ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยที่ 4 และที่ 5 รื้อรั้วคอนกรีตเดิม ให้คืนเงินค่าทนายความใช้แทนโจทก์ที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 วางไว้เกินแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 123671 โดยซื้อมาเมื่อปี 2537 จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 123665 และจำเลยที่ 5 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 123666 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร บนที่ดินของจำเลยที่ 4 และที่ 5 มีอาคารพาณิชย์ปลูกอยู่ มีแนวรั้วคอนกรีตกั้นระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินของจำเลยซึ่งรั้วคอนกรีตและสิ่งปลูกสร้างที่ต่อเติมด้านหลังอาคารรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของโจทก์ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 4 รุกล้ำที่ดินโจทก์เนื้อที่ 1.9 ตารางวาจำเลยที่ 5 รุกล้ำเนื้อที่ 2.1 ตารางวา ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 5 มีว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ต้องรื้อถอนส่วนที่ต่อเติมจากรั้วคอนกรีตเดิมตามที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า เดิมที่ดินของโจทก์และของจำเลยที่ 4 และที่ 5ต่างเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทดับเบิ้ลเอสอาร์ จำกัด ต่อมาบริษัทดับเบิ้ลเอสอาร์ จำกัดได้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์จำนวน 11 คูหาด้านหลังอาคารมีกำแพงรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กสูงประมาณ 2 เมตร กั้นยาวตลอดทั้ง 11 คูหา จำเลยที่ 4 ซื้ออาคารพาณิชย์เมื่อปี 2525 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.6 ส่วนจำเลยที่ 5 ซื้ออาคารพาณิชย์เมื่อปี 2536 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.7 หลังจากซื้ออาคารแล้วจำเลยที่ 4และที่ 5 ได้ต่อเติมรั้วคอนกรีตเดิมซึ่งอยู่นอกโฉนดที่ดินที่ซื้อมาให้สูงขึ้นและมุงหลังคาเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร ส่วนโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 123671 มาเมื่อปี 2537 ซึ่งมีเนื้อที่ครอบคลุมรั้วคอนกรีตทั้งหมด ในกรณีรั้วคอนกรีตที่ได้มีการก่อสร้างไว้แล้วเดิมไม่มีบทกฎหมายมาตราใดที่จะยกขึ้นมาปรับแก่คดีได้โดยตรง ในการวินิจฉัยคดีจึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะปรับกับข้อเท็จจริงในคดีนี้คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310 ประกอบมาตรา 1314 ซึ่งบัญญัติให้โจทก์เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของสิ่งก่อสร้างคือรั้วคอนกรีต โจทก์จึงเป็นเจ้าของรั้วคอนกรีตเดิม ส่วนรั้วคอนกรีตที่ต่อเติมให้สูงขึ้นและสิ่งปลูกสร้างด้านหลังอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ที่ต่อเติมขึ้นภายหลังนั้น ก็ไม่ใช่การสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น หรือสร้างโรงเรือนหรือสิ่งก่อสร้างอื่นในที่ดินของผู้อื่น แม้จำเลยที่ 4 และที่ 5 จะกระทำไปโดยสุจริต จำเลยที่ 4 และที่ 5 ก็ไม่มีสิทธิใช้ที่ดินของโจทก์ได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 และมาตรา 1310ประกอบมาตรา 1314 จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงต้องรื้อออกไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาการเสียค่าอ้างเอกสารนั้น จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่าโจทก์เสียค่าอ้างเอกสารเพียง 200 บาท จึงใช้เอกสารต่าง ๆ มาอ้างเป็นพยานได้เฉพาะในสำนวนแรกเท่านั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณาพิพากษาคดีเข้าด้วยกันรวม5 คดี โจทก์เสียค่าอ้างเอกสารอัตราสูงสุด 200 บาท ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าศาลชั้นต้นได้สั่งให้โจทก์เสียค่าอ้างเอกสารเพิ่มและโจทก์ไม่ยินยอมเสียค่าอ้างแต่ประการใด และแม้โจทก์จะเสียค่าอ้างเอกสารไม่ครบถ้วนเช่นนี้ก็ไม่มีบทกฎหมายให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะอ้างเอกสารเป็นพยาน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ก็บัญญัติเพียงว่าห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความมิได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงเท่านั้น ทั้งยังยกเว้นไว้ด้วยว่าถ้าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี แม้จะฝ่าฝืนบทบัญญัติในอนุมาตรานี้ก็ให้ศาลมีอำนาจที่จะรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านี้ได้ ดังนั้นการที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องที่ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2468/2538ระหว่างบริษัทมาร์ส แอนด์โก (ไทยแลนด์) จำกัด โจทก์ นายชัยยศ เดชไพบูลย์ยศจำเลย ฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ