คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2692/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยทั้งสองฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โจทก์อุทธรณ์เฉพาะเรื่องที่ศาลชั้นต้นคำนวณวันที่จำเลยทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ถูกต้อง ส่วนที่ศาลชั้นต้นปรับจำเลยทั้งสองฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นรวมกันนั้นโจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจพิพากษาปรับเรียงรายตัว ซึ่งรวมแล้วเกินไปกว่าที่ปรับรวมกัน เพราะเป็นการเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองโดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ และอุทธรณ์ของโจทก์ถือไม่ได้ว่าอุทธรณ์ให้เพิ่มโทษ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารตึกพักอาศัย แต่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ร่วมกันเป็นผู้ดำเนินการควบคุมงาน ก่อสร้างดัดแปลงอาคารที่ได้รับอนุญาต โดยก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ ทำให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลน เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้สั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ระงับการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารแล้ว จำเลยที่ 1ที่ 2 ฝ่าฝืนคำสั่งติดต่อกันตลอดมา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 22, 31, 40, 65, 67, 70, 72, 79, 80ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2482 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 30, 35, 72, 76 กฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2526 ข้อ 1, 3 และฉบับที่ 5(พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ลงวันที่ 5 มีนาคม 2527 ข้อ 1, 2 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานก่อสร้างดัดแปลงอาคาร ตามมาตรา22, 70, 72 ลงโทษตามมาตรา 65 วรรค 1 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน100,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 6 เดือนและปรับ 20,000 บาทฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 31, 40, 65วรรคสอง เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทที่มีโทษเท่ากัน ลงโทษตามมาตรา 67 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าปรับวันละ 5,000 บาท มีกำหนด 246 วัน รวมเป็นเงิน1,230,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 50,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าปรับรวมเป็นเงิน 615,000 บาทด้วย
โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 278 วัน หาใช่มีกำหนด 246 วันจำเลยทั้งสองจะต้องถูกปรับวันละ 5,000 บาทรวมเป็นเงิน 1,390,000 บาท ลดกึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยทั้งสองเป็นจำนวนเงิน 695,000 บาท
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยฝ่าฝืนจำนวน 278 วันมิใช่ฝ่าฝืนเพียง 246 วัน จึงต้องปรับเป็นเงิน 1,390,000 บาทแต่ที่ศาลชั้นต้นปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมกันนั้น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2528 (ที่ถูกเป็น พ.ศ. 2522) มิได้มีข้อความบัญญัติในเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องนำมาตรา 31 มาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 คือให้ปรับเรียงตามรายบุคคล ศาลจึงต้องปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นรายตัว ปรับรวมกันไม่ได้ แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ปัญหาข้อนี้แต่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และตามอุทธรณ์ของโจทก์พอถือได้ว่าโจทก์อุทธรณ์ในทำนองขอให้เพิ่มโทษจำเลยทั้งสอง พิพากษาแก้เป็นว่าฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นเวลา 278 วัน ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคนละวันละ5,000 บาท รวมปรับคนละ 1,390,000 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งแล้วปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2คนละ 695,000 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2เรียงตามรายบุคคล เพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะเรื่องที่ศาลชั้นต้นคิดคำนวณจำนวนวันที่จำเลยทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ถูกต้อง ส่วนที่ศาลชั้นต้นปรับจำเลยทั้งสองฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นรวมกันนั้นโจทก์มิได้อุทธรณ์ ดังนั้นศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจพิพากษาปรับจำเลยทั้งสองเรียงรายตัวซึ่งรวมแล้วเกินไปกว่าที่ปรับรวมกัน เพราะเป็นการเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองโดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ ซึ่งตามอุทธรณ์ของโจทก์ก็ถือไม่ได้ว่าอุทธรณ์ให้เพิ่มโทษ หากแต่เพียงขอให้ลงโทษปรับตามจำนวนวันที่ถูกต้องเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับจำเลยทั้งสองเรียงรายตัวรวมแล้วเกินไปกว่าที่ปรับรวมกัน จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นรายตัว แต่รวมแล้วไม่เกิน 695,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share