คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2480

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยเป็นผู้รับมฤดกในที่ดินร่วมกัน จำเลยไปโอนแก้โฉนดใส่ชื่อตนเป็นเจ้าของถือกรรมสิทธิแต่ผู้เดียวโดยโจทก์ไม่ทราบครั้นแล้วก็นำไปจำนองไว้แก่บุคคลที่ 3 ผู้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนดังนี้ แม้การโอนแก้โฉนดจะเสียเปล่าใช้ไม่ได้ก็ดี+ทำให้นิติกรรมจำนองกับบุคคลที่ 3 เสียเปล่าไปด้วยไม่ อ้างฎีกาที่ 1076/2480

ย่อยาว

ได้ความว่าที่ดินรายพิพาทเป็นมฤดกตกได้แก่พวกโจทก์และจำเลยที่ ๑ โฉนดมีชื่อพระยาจุฬา(สิน) เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ จำเลยที่ ๑ ได้ไปโอนโฉนดลงชื่อจำเลยที่ ๑ แต่ผู้เดียวโดยโจทก์ไม่ทราบ ครั้นแล้วจำเลยที่ ๑ จึงจำนองที่ดินรายนี้ไว้กับจำเลยที่ ๒ โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิของโจทก์และเพิกถอนทำลายนิติกรรมจำนอง
ศาลขั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันว่าการที่จำเลยที่ ๑ รับโอนมฤดกใส่ชื่อตนแต่ผู้เดียวโดยโจทก์มิได้ยินยอมด้วย การโอนเป็นโมฆะ การจำนองจึงไม่ผูกพันส่วนของโจทก์ คงผูกพันส่วนของจำเลยที่ ๑ เท่านั้น
ศาลฎีกาตัดสินยืนตามศาลล่างทั้ง ๒ ว่า โจทก์คงมีสิทธิเป็นเจ้าของในที่ดินรายพิพาทนี้อยู่ แต่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบุคคลที่ ๓ ได้รับจำนองที่ดินรายนี้ไว้โดยสุจริต ฉะนั้นตามประมวลแพ่ง ฯ ม. ๑๒๙๙, ๑๓๐๐ เมื่อโจทก์ไม่ไปโอนทะเบียนใส่ชื่อตนในโฉนดคงถือสิทธิครอบครองอยู่ จึงทำให้บุคคลที่ ๓ เข้าใจผิด แม้การกระทำของจำเลยที่ ๑ จะเป็นโมฆะ หรือโมฆียะก็ตาม ก็มีผลฉะเพาะโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เท่านั้นจะยกเหตุเหล่านั้นมาใช้ยันแก่จำเลยที่ ๒ ผู้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแล้วมิได้ตามนัยฎีกาที่ ๑๐๗๖/๒๔๗๙ จึงพิพากษาแก้ว่านิติกรรมจำนองของจำเลยที่ ๒ ยังดีอยู่ ทำลายไม่ได้ ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อนี้เสีย

Share