แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วิธีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติทางหลวงพุทธศักราช 2482 หรือประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับ 295 มีวิธีปฏิบัติอย่างเดียวกัน คืออาจกระทำโดยออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ โดยไม่ต้องออกพระราชกฤษฎีกาก็ได้ดังนั้น เงินค่าทดแทนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76 (3) ที่ให้ถือเอาวันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ใช้บังคับนั้น จึงต้องหมายถึงกรณีที่มิได้มีการออกพระราชกฤษฎีกา แต่ถ้ามีการออกพระราชกฤษฎีกาก่อนที่จะออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เงินค่าทดแทนที่ให้กำหนดเท่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด ก็จะต้องเอาราคาในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับตามข้อ 76 (1) หรือ (2)แล้วแต่กรณี ทำนองเดียวกันกับเรื่องทรัพย์สินที่จะคำนวณค่าทดแทนตามข้อ 75.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงเพื่อที่จะสร้างทางหลวงสาย ธนบุรี – ปากท่อ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๘ ที่ดินของโจทก์บางส่วนอยู่ในเขตที่จะสร้างทางหลวงสายนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒๕ เวนคืนที่ดินที่ใช้เป็นทางหลวงสายธนบุรี – ปากท่อ ที่ดินของโจทก์เนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๙๙ ๖/๑๐ ตารางวาถูกเวนคืน จำเลยยอมจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์ไร่ละ ๑๐๘,๐๐๐ บาท แต่โจทก์เห็นว่าไม่ใช่ราคาทรัพย์สินตามธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด ที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายกันในท้องตลาดไร่ละ ๒๐,๐๐๐ บาท โจทก์ยอมรับค่าทดแทนโดยสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกร้องค่าทดแทนเพิ่มอีกไร่ละ ๙๒,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๑,๑๒๖,๗๕๐ บาท ที่ดินที่ถูกเวนคืนปลูกต้นจากไว้ โจทก์จึงขอค่าทดแทนสำหรับพืชผล เป็นเงิน ๘๘๒,๐๐๐ บาท และค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ที่เหลือมีราคาน้อยลงเป็นเงิน ๒,๘๕๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับค่าทดแทนโดยไม่มีเงื่อนไข ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไม่มีต้นจาก ราคาที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือมิได้ลดลง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงินจำนวน ๑,๑๒๖,๗๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรจะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยเสียก่อนในปัญหาเรื่องค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษสายธนบุรี – ปากท่อ ซึ่งศาลล่างวินิจฉัยต่างกันมา กล่าวคือ ศาลชั้นต้นเห็นว่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ข้อ ๗๖ จะต้องถือเอาราคาในวันที่ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวง คือวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๘ ราคาไร่ละ ๑๐๘,๐๐๐ บาท ส่วนศาลอุทธรณ์เห็นว่าจะต้องถือเอาราคาในวันประกาศใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒๕ คือวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๕ ราคาไร่ละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท
ปัญหาที่ศาลล่างวินิจฉัยต่างกันมานี้ เห็นว่าวิธีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะกระทำโดยพระราชบัญญัติทางหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๒ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๕๖ หรือโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ เรื่องทางหลวง ข้อ ๖๓ ข้อ ๗๐ และข้อ ๗๘ มีวิธีปฏิบัติอย่างเดียวกันคือ จะต้องกระทำโดยออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แต่ก่อนที่จะออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ทางราชการอาจจะออกหรือตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ดินที่จะเวนคืนไว้ก่อนก็ได้ และเมื่อทำการสำรวจแล้วยังไม่พร้อมจะออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ก็อาจจะออกหรือตราพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างไว้ก่อนก็ได้ จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า การเวนคืนอาจกระทำโดยการออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ โดยไม่ต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกาก็ได้ ดังนั้น เงินค่าทดแทนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ข้อ ๗๖ (๓) ที่ให้ถือเอาวันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ใช้บังคับนั้น จึงต้องหมายถึงกรณีที่มิได้มีการออกพระราชกฤษฎีกา แต่ถ้ามีการออกพระราชกฤษฎีกาก่อนที่จะออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เงินค่าทดแทนที่ให้กำหนดเท่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด ก็จะต้องถือเอาราคาในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ตามข้อ ๗๖ (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณี ทำนองเดียวกันกับเรื่องทรัพย์สินที่จะคำนวณค่าทดแทนตามข้อ ๗๕ ดังนั้นราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดจะต้องถือเอาราคาในวันประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวง คือวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๘ ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย มิใช่วันประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒๕ คือวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๕
เรื่องค่าทดแทนพืชผลนั้นฟังข้อเท็จจริงว่าไม่มีต้นจากและฟังไม่ได้ว่าที่ดินที่เหลือมีราคาลดน้อยถอยลง
พิพากษากลับว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น