แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำความผิดอันจะเข้าเหตุเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะได้ ต้องเป็นกรณีที่ผู้ใดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น แม้จะฟังได้ว่า ส. หลานของจำเลยถูกผู้เสียหายทำร้าย แต่เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายกระทำความผิดต่อ ส. เท่านั้น มิใช่เป็นการกระทำความผิดต่อจำเลย อีกทั้ง ส. อายุกว่า 20 ปีแล้ว จึงไม่ใช่บุคคลใกล้ชิดอันจะก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่แก่จำเลยที่จะต้องคอยปกป้องดูแลมิให้ผู้อื่นมาทำร้าย กรณีไม่อาจถือได้ว่าจำเลยถูกผู้เสียหายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยฟันผู้เสียหายจึงอ้างว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามกฎหมายไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ลงโทษจำคุก 10 ปี คำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามมาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 62 วรรคแรก, 72, 80 จำคุก 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยฟันผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าหรือไม่ เห็นว่าผู้เสียหายกับนายไพรัชเป็นประจักษ์พยาน ที่พยานทั้งสองเบิกความว่า จำเลยถือมีดสปาต้าตรงเข้าไปฟันผู้เสียหายและผู้เสียหายยกแขนขึ้นกันไว้นั้น ก็สอดคล้องกับลักษณะของบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับจากการถูกจำเลยฟัน ทั้งจำเลยยังเบิกความรับว่า จำเลยโกรธผู้เสียหายที่ใช้มีดฟันนายสุรพงษ์จึงได้ใช้มีดฟันผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงเชื่อว่าจำเลยใช้มีดสปาต้าฟันผู้เสียหายตามที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมาหาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าไปช่วยเหลือนายสุรพงษ์ด้วยการหาขวดขว้างใส่และถือไม้เข้าต่อสู้กับผู้เสียหายแล้วใช้มีดดายหญ้าซึ่งหลุดจากมือของผู้เสียหายฟันผู้เสียหายดังที่จำเลยนำสืบกับอ้างในฎีกาไม่ มีดสปาต้าที่จำเลยใช้ฟันผู้เสียหายซึ่งมีความยาวรวมด้ามประมาณ 2 ฟุต ถือได้ว่าเป็นอาวุธมีดขนาดใหญ่หากคมมีดถูกอวัยวะสำคัญย่อมสามารถทำอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ ในการที่จำเลยใช้อาวุธมีดดังกล่าวฟันผู้เสียหาย 2 ถึง 3 ครั้ง ได้ความทั้งจากคำเบิกความของผู้เสียหายกับนายไพรัช ประกอบภาพถ่าย ที่จำเลยได้แสดงท่าทางไว้ในการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพว่า จำเลยมุ่งฟันไปที่ศีรษะของผู้เสียหายซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญเพียงแต่ผู้เสียหายยกแขนซ้ายและแขนขวาขึ้นกันได้ทันแต่ถึงกระนั้นคมมีดก็ยังทำให้กระดูกแขนซ้ายหักและเส้นเอ็นที่ใช้เหยียดนิ้วมือและข้อมือซ้ายขาด กับถูกมือขวาและคมมีดบางส่วนถูกศีรษะของผู้เสียหายด้วย อันเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยฟันผู้เสียหายอย่างรุนแรง เช่นนี้หากผู้เสียหายไม่ยกแขนซ้ายและแขนขวาขึ้นกันแล้ว ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า คมมีดต้องถูกศีรษะของผู้เสียหายและก่อให้เกิดบาดแผลอันตรายที่สามารถทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยฟันผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า หาใช่มีเจตนาเพียงทำร้ายร่างกายไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไปพบเหตุที่นายสุรพงษ์ถูกผู้เสียหายทำร้ายโดยจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่านายสุรพงษ์เป็นฝ่ายก่อเหตุทำร้ายผู้เสียหายก่อน จำเลยจึงรู้สึกว่าถูกผู้เสียหายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและได้กระทำความผิดต่อผู้เสียหายในขณะนั้น จึงเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะและสำคัญผิดในข้อเท็จจริง โดยจำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษให้แก่จำเลยด้วยนั้น เห็นว่าการกระทำความผิดอันจะเข้าเหตุเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 ต้องเป็นกรณีที่ผู้ใดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น แต่ข้อเท็จจริงที่นายสุรพงษ์ถูกจำเลยทำร้ายร่างกาย แม้หากมีอยู่จริงต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายกระทำความผิดต่อนายสุรพงษ์เท่านั้น มิใช่เป็นการกระทำความผิดต่อจำเลย อีกทั้งนายสุรพงษ์ก็เป็นเพียงหลานของจำเลยที่โตเป็นผู้ใหญ่อายุกว่า 20 ปี แล้ว จึงไม่ใช่บุคคลใกล้ชิดอันจะก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่แก่จำเลยที่จะต้องคอยปกป้องดูแลมิให้ผู้อื่นมาทำร้ายแต่ประการใด กรณีจึงไม่อาจจะให้ถือว่าจำเลยถูกผู้เสียหายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ดังนั้นการที่จำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายจึงไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย ซึ่งปัญหานี้แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกาโต้แย้งมาก็ตาม แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะยกขึ้นอ้างและพิพากษาแก้ไขปรับบทความผิดของจำเลยเสียให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่ไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมโทษแก่จำเลย เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า สมควรรอการลงโทษแก่จำเลยหรือไม่เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่ศาลฎีกาจะใช้ดุลพินิจรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้ฎีกาของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา288 ประกอบมาตรา 80 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7