คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8678/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 35 วรรคสามและวรรคสี่ และ ข้อกำหนดว่าด้วยการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดี มิได้กำหนดว่าการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์จะต้องแนบ บัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ผู้แต่งตั้งผู้แทนโจทก์มาด้วย การที่โจทก์ได้ใช้แบบพิมพ์ รง. 7 มีรายชื่อและลายมือชื่อโจทก์ทั้งหมดแนบเสนอต่อศาลแรงงานเป็นการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ที่ชอบแล้ว
บันทึกการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ตามแบบพิมพ์ รง. 7 เป็นแบบพิมพ์ของราชการที่โจทก์แต่งตั้งให้โจทก์คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีแรงงานที่ศาลแรงงานแทนโจทก์ที่แต่งตั้ง มิใช่เป็นใบมอบอำนาจตามข้อ 7 แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ แบบพิมพ์ รง. 7 จึงมิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป. รัษฎากร

ย่อยาว

คดีทั้งสามร้อยสิบสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ ๑ ถึงโจทก์ที่ ๓๑๓ ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสามร้อยสิบสามสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนและจ่ายเงินประกัน เงินสะสม เงินสมทบและดอกเบี้ย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ทุก ๑๕ วัน แก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายและคืนเงินประกัน เงินสะสม เงินสมทบและดอกเบี้ย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ …
จำเลยทั้งสามร้อยสิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประเด็นเดียวว่า โจทก์ทั้งสามร้อยสิบสามตั้งผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของศาลแรงงานกลางหรือไม่ เห็นว่า การตั้งผู้แทนโจทก์นั้น พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๕ วรรคสามและวรรคสี่ บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีโจทก์หลายคน ศาลจะจัดให้โจทก์เหล่านั้นแต่งตั้งโจทก์คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีก็ได้
วิธีการแต่งตั้งผู้แทนตามวรรคสามให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา ๒๙ ” ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษา ศาลแรงงานกลางโดยได้รับอนุมัติจากประธานศาลฎีกาได้ออกข้อกำหนดว่าด้วยการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดี ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓โดยที่บทบัญญัติของกฎหมายและข้อกำหนดดังกล่าวมิได้กำหนดว่าการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์จะต้องแนบบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ผู้แต่งตั้งผู้แทนโจทก์มาด้วย ดังนั้น ที่โจทก์ในคดีนี้ได้ใช้ แบบพิมพ์ รง.๗ มีรายชื่อและลายมือชื่อโจทก์ทั้งหมดแนบเสนอต่อศาลแรงงานกลาง แม้จะมิได้มีบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์แนบมาด้วย ก็เป็นการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ที่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๕ วรรคสามและวรรคสี่ประกอบข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีแล้ว ส่วนการปิดอากรแสตมป์นั้น ป.รัษฎากร มาตรา ๑๐๔ บัญญัติว่า ” ตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายหมวดนี้ต้อง ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีนั้น ” แต่บันทึกการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ตามแบบพิมพ์ รง.๗ นั้น เป็นแบบพิมพ์ของราชการที่เป็นไปตามข้อกำหนดของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ซึ่งโจทก์แต่งตั้งให้โจทก์คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีแรงงานที่ศาลแรงงานแทนโจทก์ที่แต่งตั้งมิใช่เป็นใบมอบอำนาจตามข้อ ๗ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ จึงมิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๑๐๔ การแต่งตั้ง ผู้แทนโจทก์คดีนี้ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของศาลแรงงานกลางแล้ว
พิพากษายืน .

Share