แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่มีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ ศ. ได้รับอันตรายแก่กาย ถือว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทน ศ. ผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ในฐานะเป็นผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงในคดีอาญาย่อมผูกพันโจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจาก ศ. ด้วย เมื่อคดีส่วนอาญาถึงที่สุดแล้ว โดยศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์ในคดีอาญานำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติให้ศาลในคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ศาลฎีกาจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ยุติในคดีอาญาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อ เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำการแทนจำเลยที่ 2 มิได้ประมาทเลินเล่อ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ฒ – 3775 กรุงเทพมหานคร จากนายศุภรัชต์ รัตนเหล็กไหล เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2538 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 7353 ระยอง ของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ออกจากข้างทางขึ้นสู่ถนนสายบ้านบึง – แกลง เพื่อมุ่งหน้าไปทางอำเภอแกลง โดยความประมาทตัดหน้ารถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ฒ – 3775 กรุงเทพมหานคร ที่นายศุภรัชต์ขับมุ่งหน้าไปทางอำเภอแกลงในระยะกระชั้นชิดทำให้รถยนต์ที่นายศุภรัชต์ขับพุ่งเข้าชนรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับ ได้รับความเสียหายที่ส่วนหน้ารถเครื่องยนต์ เกียร์ ห้องเครื่อง ช่วงล่าง และตัวถังรถบิดเบี้ยวทั้งคันโจทก์ชำระค่าซ่อมและค่าอะไหล่เป็นเงิน 240,000 บาท ให้แก่นายศุภรัชต์ไปแล้ว จึงรับช่วงสิทธิในค่าเสียหายดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 252,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 240,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 7353 ระยอง โดยมิได้ครอบครองและใช้ประโยชน์ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 มิได้มอบหมายหรือจ้างวานหรืออนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อของจำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์ฟ้อง วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 7353 ระยอง ขึ้นสู่ถนนสายบ้างบึง – แกลง อย่างช้าๆ เนื่องจากมีน้ำหนักมาก แต่นายศุภรัชต์ รัตนเหล็กไหล ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 1 ฒ – 3775 กรุงเทพมหานคร โดยประมาทมาด้วยความเร็วสูงชนท้ายรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาให้แก่จำเลย
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 1 ฒ – 3775 กรุงเทพมหานคร จากนายศุภรัชต์ รัตนเหล็กไหล เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2538 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา นายศุภรัชต์ขับรถยนต์กระบะดังกล่าวชนท้ายรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 7353 ระยอง ที่มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับและกระทำแทนจำเลยที่ 2 ทำให้รถยนต์กระบะของนายศุภรัชต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า เหตุรถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในสำนวนคดีอาญามีพนักงานอัยการจังหวัดระยองเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้นายศุภรัชต์ รัตนเหล็กไหล และนายรังสรรค์ อารีย์เดช ได้รับอันตรายแก่กาย ส่วนนางสาวกาญจนา อารีย์รบ ได้รับอันตรายสาหัส ตามคดีอาญาหมายเลขที่ 5963/2541 ของศาลจังหวัดระยอง เพราะถือว่าพนักงานอัยการจังหวัดระยองได้ดำเนินคดีอาญานี้แทนนายศุภรัชต์ผู้เอาประกันภัยกับโจทก์ในฐานะเป็นผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงในคดีอาญาย่อมมีผลผูกพันโจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากนายศุภรัชต์ด้วยเช่นกัน เมื่อขณะนี้คดีส่วนอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1094/2547 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดระยอง โจทก์ นายธนะพงศ์ วงศ์ยัง จำเลย โดยศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์ในคดีอาญาดังกล่าวนำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถตัดหน้าและขวางทางเดินรถของรถยนต์กระบะในระยะกระชั้นชิดอันเป็นการกระทำโดยประมาทตามฟ้อง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติให้ศาลในคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ศาลฎีกาจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ยุติในคดีอาญาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อ เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำการแทนจำเลยที่ 2 มิได้ประมาทเลินเล่อ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากนายศุภรัชต์ผู้เอาประกันภัยตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมา 1,587.50 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสอง