คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1161/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นข้าราชการครูได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคร. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างต่อเติมวิทยาลัยอาชีวศึกษาส. ซึ่งเป็นงานราชการของวิทยาลัยเทคนิคร. จำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างปรับปรุงต่อเติมอาคารวิทยาลัยส. ดูแลรักษาวัสดุที่เหลือใช้จากการก่อสร้างอาคารดังกล่าวเมื่อจำเลยให้ก. นำเหล็กวัสดุที่เหลือใช้ไปเก็บไว้ที่ร้านของก. และให้ก. เอาวัสดุดังกล่าวไปเสียเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นข้าราชการครูวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจำเลยทั้งสองได้รับแต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาให้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ราชการ มีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมการก่อสร้างต่อเติมอาคารวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา รวมทั้งเก็บรักษาเหล็กไลท์เกจ ขนาด 4 นิ้ว คูณ 4 นิ้ว ยาว 6 เมตร จำนวน 21 ท่อนราคา 9,975 บาท ที่เหลือจากการก่อสร้างโดยต้องนำมาเก็บไว้ที่วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธารามด้วย จำเลยทั้งสองร่วมกันเบียดบังเหล็กดังกล่าวไปขายนำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวแล้วยอมให้นายเกรียงไกร จิตองอาจภักดี เอาทรัพย์นั้นไปเสียโดยทุจริตอันเป็นการปฏิบัติ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นการปฏิบัติ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 147, 157
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ให้จำคุกคนละ 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันและไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นข้าราชการครูของวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม กองวิทยาลัยเทคนิค กรมอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าแผนกช่างก่อสร้างและเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2524วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภาได้ทำสัญญาว่าจ้างวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธารามทำการปรับปรุงต่อเติมอาคารวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา มีกำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน2524 นายวิชัย บัวสรวง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธารามทำหนังสือมอบหมายให้จำเลยที่ 1 หัวหน้าแผนกก่อสร้างเป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างทั้งหมด และจำเลยที่ 1 ได้จัดตั้งทีมผู้ร่วมปฏิบัติงาน ประกอบด้วยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นครูแผนกก่อสร้างเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ในการก่อสร้างดังกล่าว มีการเขียนรูปแบบรายการเต็มพื้นที่ แต่ไม่สามารถก่อสร้างเต็มตามรูปแบบได้จึงมีการลดรูปแบบลง ทำให้วัสดุที่วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธารามจัดซื้อไว้สำหรับการก่อสร้างตามรูปแบบรายการเดิมเหลือใช้ คือเหล็กไลท์เกจขนาด 4 นิ้ว คูณ 4 นิ้ว ยาว 6 เมตร จำนวน 21 ท่อนหลังจากวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธารามได้ทำการก่อสร้างเสร็จและส่งมอบให้แก่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภาแล้ว ได้มีผู้เขียนบัตรสนเท่ห์ไปถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธารามทุจริตต่อหน้าที่นำเหล็กไลท์เกจที่เหลือใช้จากการก่อสร้างไปขายเอาเงินเป็นประโยชน์ส่วนตัว เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการได้มาตรวจสอบที่วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธารามก็ไม่พบเหล็กไลท์เกจดังกล่าว แต่หลังจากนั้น นายเกรียงไกรจิตองอาจภักดี เจ้าของร้านเกรียงไกรเทรดดิ้งได้นำเหล็กไลท์เกจขนาด 4 นิ้ว คูณ 4 นิ้ว ยาว 6 เมตร จำนวน 21 ท่อน มาคืนให้แก่วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157หรือไม่ คดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นข้าราชการครู ได้มอบหมายจากผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธารามซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยทั้งสองให้มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างต่อเติมวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภาซึ่งเป็นงานราชการของวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธารามจำเลยทั้งสองจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง ปรับปรุง ต่อเติมอาคารวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภาดูแลรักษาวัสดุที่เหลือใช้จากการก่อสร้างอาคารดังกล่าว และจำเลยทั้งสองให้นายเกรียงไกรนำเหล็กไลท์เกจขนาด 4 นิ้วคูณ 4 นิ้ว ยาว 6 เมตร จำนวน 21 ท่อน อันเป็นวัสดุที่เหลือใช้ซึ่งอยู่ในหน้าที่ความดูแลรับผิดชอบของจำเลยทั้งสองไปเก็บไว้ที่ร้านเกรียงไกรเทรดดิ้ง และให้นายเกรียงไกรเอาเหล็กดังกล่าวไปเสีย ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหายแก่กรมอาชีวศึกษา และเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 10,000 บาทอีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share