คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4445/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 4(15) บัญญัตินิยามคำว่า”รถ” ไว้ว่ายานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถราง กับตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 กำหนดความหมายของคำว่า “ยาน” และ “พาหนะ” ไว้ โดยคำว่า “ยาน” คือ เครื่องนำไป พาหนะต่าง ๆ เช่น รถ เกวียน เรือ คำว่า “พาหนะ” คือ เครื่องนำไป เครื่องขับขี่ ยานต่าง ๆ มีรถและเรือ เป็นต้น เรียกว่า ยานพาหนะ กับกำหนดความหมายของคำว่า”ขับ” คือบังคับให้เคลื่อนไป เช่น ขับรถ ขับเรือ เป็นต้น
จำเลยเข็นรถขายโรตีไปตามไหล่ทางถนนสายจอมทอง – เชียงใหม่ และถูกรถจักรยานยนต์ที่ ส. ขับตามหลังมาเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับอันตรายแก่กายและ ส. ถึงแก่ความตาย จากนั้นจำเลยหลบหนีไปไม่ช่วยเหลือ ดังนี้ เมื่อรถเข็นของจำเลยเป็นเพียงวัสดุอุปกรณ์และเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพขายโรตี มิใช่ด้วยเจตนามุ่งประสงค์ในอันที่จะขนเคลื่อนบุคคลหรือทรัพย์สินใดจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งในลักษณะของยานพาหนะ จึงมิใช่ “รถ” ตามความหมายที่บทบัญญัตินิยามไว้ดังกล่าวและย่อมไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2539 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยเป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติบังกลาเทศ สัญชาติบังกลาเทศ มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2538 โดยได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน 2538 ถึงวันที่ 9 มกราคม 2539 แต่เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยยังอยู่ต่อที่ตำบลดอยหล่อ กิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยการอนุญาตสิ้นสุดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและตามวันเวลาดังกล่าวข้างต้นจำเลยเข็นรถเข็นไปตามถนนสายเชียงใหม่- ฮอด ตำบลดอยหล่อ กิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ จากด้านทิศใต้มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ แต่จำเลยเข็นรถไปถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 42 – 43 หมู่ที่ 13 ตำบลดอยหล่อ กิ่งอำเภอดอยหล่อจังหวัดเชียงใหม่ ที่เกิดเหตุ จำเลยเห็นอยู่แล้วว่าบริเวณดังกล่าวมืดและเป็นเวลากลางคืน จำเลยควรจะติดตั้งโคมไฟที่มีแสงสว่างเพียงพอไว้ที่รถเข็นของจำเลยเพื่อให้ผู้อื่นที่ขับรถตามหลังรถเข็นของจำเลยเห็นรถของจำเลยในระยะห่างพอสมควร และจะได้หลบหลีกรถเข็นของจำเลยได้อย่างปลอดภัย แต่จำเลยกลับติดตั้งดวงไฟดวงเล็กมีแสงสว่างเพียงเล็กน้อยไว้ที่หน้ารถเข็นไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้อื่นเห็นได้ในระยะห่างพอสมควรเป็นเหตุให้นายสมพร ศรีนันท์ ขับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนเชียงใหม่ 7 ค – 0715 ตามหลังรถเข็นของจำเลยโดยไม่เห็นรถเข็นของจำเลยซึ่งเข็นอยู่ด้านหน้า รถของนายสมพรจึงพุ่งชนท้ายรถเข็นของจำเลยเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ของนายสมพรล้มลงและได้รับความเสียหายส่วนนายสมพรได้รับบาดเจ็บคอหักถึงแก่ความตาย ภายหลังจากที่จำเลยเข็นรถก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่บุคคลและทรัพย์สินของนายสมพรผู้ตายแล้ว จำเลยหลบหนีไปไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควร พร้อมทั้งไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522มาตรา 81

จำเลยให้การรับสารภาพฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุดส่วนข้อหาอื่นปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 81 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 เรียงกระทงลงโทษ ฐานคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุดจำคุก 2 เดือน ฐานหลบหนีไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แจ้งเหตุและแสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีจำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 4 เดือน ยกฟ้องข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 อีกข้อหาหนึ่งนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78,160 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวในมาตรา 4(15) บัญญัตินิยามคำว่า “รถ” ไว้ว่า ยานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถรางกับตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 กำหนดความหมายของคำว่า “ยาน” และ “พาหนะ” ไว้ โดยคำว่า “ยาน” คือ เครื่องนำไป พาหนะต่าง ๆ เช่น รถ เกวียน เรือ คำว่า “พาหนะ” คือเครื่องนำไป เครื่องขับขี่ ยานต่าง ๆ มีรถและเรือ เป็นต้น เรียกว่า ยานพาหนะ กับกำหนดความหมายของคำว่า”ขับ” คือ บังคับให้เคลื่อนไป เช่น ขับรถ ขับเรือ ดังนี้ จะเห็นได้ว่ารถเข็นของจำเลยเป็นเพียงวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพขายโรตีมิใช่ใช้ด้วยเจตนามุ่งประสงค์ในอันที่จะขนเคลื่อนบุคคลหรือทรัพย์สินใดจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งในลักษณะของยานพาหนะจึงมิใช่”รถ” ตามความหมายที่บัญญัตินิยามไว้ดังกล่าว และย่อมไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา 78 เช่นกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดตามมาตรา 78, 160 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share