คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 552/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ใบขนสินค้าขาเข้าที่จำเลยยื่นต่อเจ้าพนักงานระบุว่าเป็นร่มทำด้วยผ้าฝ้ายล้วน 50 โหล แต่ความจริงกลับเป็นร่มทำด้วยผ้าฝ่ายล้วนเพียง 26 โหล อีก 24 โหล เป็นร่มทำด้วยแพรเทียม ถือว่าใบขนสินค้านี้เป็นเท็จ ถ้าเจ้าพนักงานหลงเชื่อก็จะทำให้ขาดค่าภาษีไป 2,016 บาท เพราะร่วมทำด้วยแพรเทียมต้องเสียภาษีสูงกว่าร่มทำด้วยผ้าฝ้ายล้วน เป็นการหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร จำเลยจะอ้างว่าจำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อหรือเป็นเรื่องที่จำเลยเข้าใจผิด ไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 + บัญญัติไว้ชัดแจ้งให้ถือว่าการกระทำดังที่ระบุไว้ในมาตรา 27 และ 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 นั้น เป็นความผิดแม้ผู้กระทำมิได้มีเจตนาหรือทำโดยประมาทเลินเล่อ
ในกรณีเช่นนี้ ร่มที่ทำด้วยแพรเทียม 24 โหล ของกลางเป็นของที่ส่งมาให้จำเลยโดยผิดกฎหมายจำเลยจะขอรับคืนหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานสำแดงรายการสินค้าเท็จ หลีกเลี่ยงเงินอากรขาเข้าให้น้อย
จำเลยทั้งสองปฏิเสธและว่ามูลเหตุที่ต้องถูกฟ้องเนื่องมาจากความเข้าใจผิด
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการบริษัทวีแสงพาณิชย์จำกัด จำเลยที่ ๒ เป็นชิปปิ้ง เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙ จำเลยที่ ๑ ได้สั่ง่ซื้อสินค้าจากร้านขายส่งยี่ห้ออยู่ไทเซียงฮองที่ฮ่องกงหลายอย่างรวมทั้งร่มด้วย เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้รับใบอินวอยซ์แสดงรายการสินค้าและราคากับบิลออฟเลดดิ้งแล้ว ได้มอบเอกสารดังกล่าวให้จำเลยที่ ๒ ไปรับของที่กรมศุลกากร โดยได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ไว้แล้วจำเลยที่ ๒ ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมกับใบอินวอยซ์ต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรเพื่อตรวจสินค้าและชำระอากรในใบขนสินค้าได้แสดงรายการร่วมว่าเป็นร่มผ้าทำด้วยฝ้ายล้วน ๕๐ โหล เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจแล้วปรากฎว่ามีร่มผ้าทำด้วยผ้าฝ่ายล้วน ๒๖ โหล และร่มทำด้วยแพรเทียม ๒๔ โหล ไม่ตรงตามใบขนสินค้า ร่มผ้าเสียอากรคันละ ๓ บาท ร่มแพรเทียมเสียอากรคันละ ๑๐ บาท ทำให้ขาดค่าอากรไป ๒,๐๑๖ บาท เจ้าหน้าที่จึงยึดร่มทั้งหมด และส่งเรื่องให้อธิบดีกรมศุลกากรเปรียบเทียบ แต่จำเลยไม่ยอม
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันว่า จำเลยผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง รวมปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน ๕๙,๙๔๔ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ถ้าจะกัดขังแทนค่าปรับให้กักขังคนละ ๖ เดือน ให้ริบร่มแพรเทียมของกลางตามพระราช่บัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๗ กับให้จ่ายรางวัลร้อยละ ๒๐ ของราคาของกลางแก่เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมตามมาตรา ๗ และ ๘ วรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. ๒๔๘๙
ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า ควรยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะที่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ปัญหามีว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจะเป็นความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ วรรค ๙๙ ผู้กระทำผิดตามมาตราทั้งสองนี้จะต้องกระทำโดยเจตนา แต่พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๖ บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ถือว่าการกระทำดังที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๗ และ ๙๙ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ นั้นเป็นความผิด แม้ผู้กระทำมิได้มีเจตนาหรือประมาทเลินเล่อ
ใบขนสินค้าที่จำเลยยื่นต่อเจ้าพนักงานระบุว่าเป็นร่มทำด้วยผ้าฝ้ายล้วน ๕๐ โหล ความจริงเป็นร่มทำด้วยผ้าฝ่ายล้วน ๒๖ โหล และร่วมทำด้วยแพรเทียม ๒๔ โหล จึงถือได้ว่าใบขนสินค้านี้เป็นเท็จ ถ้าเจ้าพนักงานหลงเชื่อก็จะทำให้ขาดค่าภาษีไป ๒,๐๑๖ บาท เพราะร่วมทำด้วยแพรเทียมต้องเสียภาษีสูงกว่าร่วมทำด้วยผ้าฝ้ายล้วนเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร ข้อที่จำเลยอ้างว่าไม่ใช่เป็นการกระทำของจำเลยก็ดี จำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อก็ดี หรือเป็นเรื่องที่จำเลยเข้าใจผิดก็ดีเป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ทั้งสิ้น ส่วนร่มทำด้วยแพรเทียม ๒๔ โหล ของกลางนั้น ก็เป็นของที่ส่งมาให้จำเลยโดยผิดกฎหมาย จำเลยขอรับคืนไปหาได้ไม่ ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share