คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 998/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ค่าครองชีพเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้ลูกจ้างเป็นจำนวนแน่นอนเป็นรายเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือนหรือค่าจ้างจึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานเช่นเดียวกับเงินเดือนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนหรือค่าจ้างแต่การที่จะนำค่าครองชีพมารวมเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จหรือไม่ย่อมแล้วแต่หลักเกณฑ์ที่นายจ้างกำหนดเพราะเงินบำเหน็จกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานมิได้บังคับให้นายจ้างต้องจ่ายแก่ลูกจ้างเมื่อออกจากงานเป็นเพียงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างด้วยความสมัครใจ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดว่า”เงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะเป็นเงินช่วยเหลือพิเศษไม่นำไปรวมเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง”เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินเพิ่มพิเศษจะนำไปรวมเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จด้วยมิได้.

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าครองชีพและเงินค่ากะมีลักษณะเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างต้องนำไปรวมคิดเป็นเงินบำเหน็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าค่าครองชีพเป็นเพียงเงินช่วยเหลือพนักงานผู้มีรายได้น้อยให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้พอสมควรในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากเงินเดือน มิใช่เงินเดือนหรือค่าจ้าง จะนำมารวมเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จมิได้นั้น เห็นว่า จำเลยจ่ายค่าครองชีพเป็นจำนวนแน่นอนเป็นรายเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือนหรือค่าจ้าง ค่าครองชีพจึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานเช่นเดียวกับเงินเดือนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนหรือค่าจ้าง มิใช่ประโยชน์อย่างอื่นตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 209 ว่าด้วย กองทุนบำเหน็จให้นิยามคำว่า “เงินเดือน” และ “ค่าจ้าง” ไว้ว่า
“เงินเดือน” หมายความว่า เงินที่ ปตท. จ่ายให้พนักงานตามอัตราตำแหน่งและอัตราเงินเดือนของ ปตท. โดยรวมเป็นเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบเข้าด้วย แต่ไม่รวมเงินตอบแทนในลักษณะค่าล่วงเวลา โบนัสเบี้ยกรรมการ เบี้ยเลี้ยง หรือประโยชน์อย่างอื่น
“ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่ ปตท. จ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานโดยรวมเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบด้วย แต่ไม่รวมเงินตอบแทนในลักษณะค่าล่วงเวลา โบนัสเบี้ยกรรมการ เบี้ยเลี้ยง หรือประโยชน์อย่างอื่น
การคำนวณเงินบำเหน็จ ตามข้อบังคับที่กล่าวข้างต้นกำหนดไว้ว่า”การคำนวณบำเหน็จเพื่อจ่ายตามข้อบังคับนี้ ให้ตั้งอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีอายุการทำงาน”
ตามข้อบังคับของจำเลยมิได้กำหนดยกเว้นมิให้นำค่าครองชีพไปรวมเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จ เมื่อค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนหรือค่าจ้างจึงต้องนำไปรวมเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จด้วย
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ค่างานกะ มีจำนวนไม่แน่นอน จ่ายไม่เท่ากันทุกเดือน ไม่เป็นการแน่นอนว่าผู้ปฏิบัติงานกะแต่ละคนจะเข้ากะอย่างใดวันใด จึงมีลักษณะเป็นกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ที่เคร่งเครียดมีลักษณะเช่นเดียวกับเบี้ยขยัน ถือไม่ได้ว่าเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างที่จะนำมาเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จให้โจทก์ที่ 20 ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเงินบำเหน็จนี้ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานมิได้บังคับให้นายจ้างต้องจ่ายแก่ลูกจ้างเมื่อออกจากงาน แต่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างด้วยสมัครใจเพื่อตอบแทนคุณความดีของลูกจ้างที่ทำงานด้วยดีตลอดมาจนออกจากงานไป เพราะฉะนั้นนายจ้างย่อมมีสิทธิที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จประการใดก็ได้สุดแต่นายจ้าง หรือสุดแต่ข้อบังคับหรือระเบียบว่าด้วยการนี้แต่ละสถานประกอบกิจการเป็นราย ๆ ไป คดีนี้การที่จะพิจารณาว่าเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะจะนำไปรวมเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จด้วยหรือไม่จะต้องพิจารณาข้อบังคับของจำเลยประกอบ ปรากฏตามข้อบังคับของจำเลยข้อ 8 (เอกสารหมายเลข 4ท้ายคำให้การ) กำหนดว่า “เงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะเป็นเงินช่วยเหลือพิเศษสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะจึงไม่นำไปรวมเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง เพื่อคำนวณเป็นค่าล่วงเวลา ในวันหยุด ค่าทำงานในวันหยุด ค่าชดเชย หรือเงินอื่นใด” ตามข้อความดังกล่าวเห็นความมุ่งหมายของจำเลยได้ว่าเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะนี้เป็น “เงินเพิ่มพิเศษ” โดยแท้ไม่ประสงค์จะนำไปรวมเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง อันจะมีผลเพื่อให้นำไปรวมเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จตามข้อบังคับฯ ฉบับที่209 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จข้อ 10 และจำเลยยังได้เน้นไว้ในตอนท้ายแจ้งชัดอีกว่า นอกจากจะไม่นำไปรวมเป็นเงินประเภทต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้แล้วยังจะไม่นำไปรวมเป็น “เงินอื่นใด” ซึ่งย่อมหมายความรวมถึงเงินบำเหน็จอีกด้วย ข้อบังคับหรือระเบียบของจำเลยมีความเป็นไปตามที่กล่าวข้างต้น ศาลฎีกาเห็นว่าจะนำเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะไปรวมเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จด้วยมิได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ที่ 20เป็นจำนวน 7,200 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share