คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1245/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแสดงเจตนาถ้าสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมย่อมเป็นโมฆะ และตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมก็อาจเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมได้ถ้าการทำนิติกรรมนั้นถือเอาตัวบุคคลเป็นสาระสำคัญ แต่ในบางกรณีตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีไม่ถือว่าเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเนื่องจากจุดประสงค์เพราะต้องการเพียงเงินจำนวนหนึ่งเท่านั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เดือดร้อนเรื่องเงินและรู้จักกับนาง อ.มารดาจำเลยซึ่งมีอาชีพรับซื้อฝากที่ดินเป็นธุรกิจ โจทก์ตกลงขายฝากที่ดินไว้แก่นาง อ.เพราะไม่รู้จักจำเลยมาก่อน แต่นาง อ.กับจำเลยได้สมคบกันฉ้อฉลทำหนังสือมอบอำนาจมารับซื้อฝากใส่ชื่อจำเลยไว้โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการไถ่คืนในภายหลังเพราะจำเลยไม่ได้อยู่ในประเทศไทย นิติกรรมการขายฝากจึงตกเป็นโมฆะ นั้น คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างให้เห็นเลยว่าเหตุใดจึงเจาะจงที่จะขายฝากไว้แก่นาง อ.อันพอจะทำให้เห็นได้ว่าโจทก์มีเจตนาที่จะถือเอาตัวบุคคลที่จะรับซื้อฝากเป็นสาระสำคัญ คงเห็นได้แต่เพียงว่าโจทก์ต้องการเงินจำนวนหนึ่งเท่านั้น การที่นาง อ.หรือจำเลยจะเป็นผู้รับซื้อฝากก็ไม่มีผลต่างกัน เพราะโจทก์ได้รับค่าขายฝากไปครบถ้วนแล้ว เหตุตามคำฟ้องดังกล่าวจึงไม่ทำให้นิติกรรมขายฝากเป็นโมฆะ คดีพอวินิจฉัยได้หาจำต้องฟังพยานโจทก์จำเลยอีกต่อไปไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๓๑๔ เป็นของนางชาลีฮะห์ เสน่หา ภริยาโจทก์ โดยมีชื่อนายเฮม สุดาดวง เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ที่ดินดังกล่าวมีบ้านปลูกอยู่ ๑ หลัง ต่อมานายเฮมตกลงแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ให้แก่นางซาลีฮะห์ตามสิทธิในเรื่องมรดก แต่นางซาลีฮะห์มอบให้โจทก์ไปทำการรังวัดแบ่งแยก แต่ช่างรังวัดแนะนำว่าการจดทะเบียนใส่ชื่อภริยาโจทก์หรือโจทก์เองมีผลตามกฎหมายอย่างเดียวกัน ทั้งการรับมรดกไม่อาจดำเนินการได้ ที่ดินดังกล่าวจึงมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่อมาโจทก์เดือดร้อนเรื่องเงิน โจทก์รู้จักนางอมรา วรรณพฤกษ์ มารดาจำเลยซึ่งมีอาชีพรับซื้อฝากที่ดินเป็นธุรกิจปล่อยเงินกู้ในรูปการขายฝากโดยการแนะนำของบุคคลอื่นโจทก์จึงได้ตกลงขายฝากที่ดินโฉนดดังกล่าวไว้แก่นางอมรา เนื่องจากการสมคบกันฉ้อฉลมารดาจำเลยได้ทำหนังสือมอบอำนาจรับซื้อฝากใส่ชื่อจำเลยไว้ ขณะนั้นจำเลยรับราชการอยู่ต่างประเทศ นิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ เพราะขาดสาระสำคัญ คุณสมบัติของบุคคลและทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๙ เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนโจทก์ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะจำเลยยังไม่เข้ามาในประเทศไทย เมื่อนิติกรรมเป็นโมฆะแล้ว จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามกฎหมาย ขอให้พิพากษาว่าการจดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๓๑๔ ตำบลสวนหลวง อำเภอพระโขนงพร้อมสิ่งปลูกสร้างเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ เป็นโมฆะ ให้จำเลยไปทำการจดทะเบียนแก้ชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นชื่อของโจทก์ หากจำเลยไม่ไปขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ในวันทำสัญญาและจดทะเบียนการขายฝากที่สำนักงานที่ดิน ฯ โจทก์มิได้คัดค้านในเรื่องความสมบูรณ์ของใบมอบอำนาจจนมีการจดทะเบียนเสร็จสิ้น และโจทก์รับเงินที่ขายฝากไปแล้ว ลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อที่แท้จริง โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างในฟ้องว่าเป็นลายมือชื่อปลอม จึงถือว่าโจทก์ยอมรับความสมบูรณ์ของใบอำนาจและการมอบอำนาจ จำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์โดยสุจริต สัญญาขายฝากจึงสมบูรณ์ จำเลยพร้อมที่จะให้โจทก์ไถ่ถอนที่ดินดังกล่าวเสมอแต่เนื่องจากโจทก์ไม่มีเงินจะไถ่ถอนจึงปล่อยให้ที่ดินหลุดจากการขายฝาก จำเลยได้เรียกให้โจทก์ไถ่ถอนหลายครั้งและยังให้โอกาสซื้อที่ดินคืน แต่โจทก์ไม่สนใจ โจทก์เคยฟ้องจำเลยมาแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ ๑๕๐๔๕/๒๕๒๒ คดีถึงที่สุดไปแล้วฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ คดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า
๑.นิติกรรมขายฝากเป็นโมฆะด้วยเหตุตามฟ้องหรือไม่
๒. คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
๓. คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ๑๕๐๔๕/๒๕๒๒ ของศาลชั้นต้นหรือไม่
ก่อนสืบพยานศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องถือได้ว่าโจทก์ได้เข้าทำสัญญากับจำเลยโดยมารดาจำเลยเป็นตัวแทนด้วยความสมัครใจ นิติกรรมการขายฝากจึงสมบูรณ์ พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องยังไม่อาจฟังได้ว่าในวันทำสัญญาและจดทะเบียนการขายฝากโจทก์ทราบว่ามารดาจำเลยทำสัญญาในฐานะเป็นตัวแทนจำเลย พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า การแสดงเจตนาถ้าสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมย่อมเป็นโมฆะ และตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมก็อาจเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมได้ ถ้าการทำนิติกรรมนั้นถือเอาตัวบุคคลเป็นสาระสำคัญในบางกรณีตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีไม่ถือว่าเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเนื่องจากจุดประสงค์เพราะต้องการเพียงเงินจำนวนหนึ่งเท่านั้น การที่โจทก์คดีนี้บรรยายฟ้องเพียงว่าโจทก์เดือดร้อนเรื่องเงินและรู้จักกับนางอมรา วรรณพฤกษ์ มารดาจำเลยซึ่งมีอาชีพรับซื้อฝากที่ดินเป็นธุรกิจ โจทก์จึงได้ตกกลงขายฝากที่ดินไว้แก่นางอมราเพราะไม่รู้จักจำเลยมาก่อนแต่นางอมรากับจำเลยสมคบกันฉ้อฉลทำหนังสือมอบอำนาจมารับซื้อฝากใส่ชื่อจำเลยไว้โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการไถ่คืนในภายหลัง เพราะจำเลยไม่ได้อยู่ในประเทศไทยจากคำฟ้องโจทก์ดังกล่าวไม่ได้กล่าวอ้างเป็นพิเศษให้เห็นว่าเหตุใดจึงเจาะจงที่จะขายฝากไว้เฉพาะแก่นางอมราอันจะพอทำให้มองเห็นได้ว่าโจทก์มีเจตนาจะถือเอาตัวบุคคลที่จะรับซื้อฝากเป็นสาระสำคัญ ตามคำฟ้องเห็นได้แต่เพียงว่าโจทก์ต้องการเงินจำนวนหนึ่งเท่านั้น ฉะนั้น การที่นางอมราหรือจำเลยจะเป็นผู้รับซื้อฝากก็ไม่มีผลแตกต่างกัน เพราะโจทก์ก็ได้รับเงินค่าขายฝากไปครบถ้วนแล้ว การที่จำเลยไปอยู่ต่างประเทศก็ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้โจทก์ไม่สามารถไถ่คืนได้ เพราะกฎหมายกำหนดวิธีการให้ปฏิบัติอยู่แล้วเหตุตามคำฟ้องจึงไม่ทำให้นิติกรรมการขายฝากระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะได้ตามคำฟ้องคดีพอวินิจฉัยได้ หาจำเป็นต้องฟังพยานโจทก์จำเลยอีกต่อไปไม่ ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share