คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 995/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยครอบครองที่พิพาทอยู่ก่อน โจทก์เคยนำวัสดุก่อสร้างมากองและสร้างที่พักคนงานในที่พิพาทบางส่วนเป็นครั้งคราว ไม่ทำให้เห็นว่าจะครอบครองอย่างเป็นเจ้าของจำเลยจึงไม่ว่ากล่าวถือว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทไม่ใช่โจทก์
อธิบดีกรมโจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องความ โจทก์ไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ในใบมอบอำนาจ

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่พิพาท จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจซึ่งอธิบดีกรมโจทก์มอบให้นายสุธา รังสิกุล ฟ้องคดีนี้มิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลรัษฎากรมาตรา 121 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2508 มาตรา 27 บัญญัติว่า “ถ้าฝ่ายที่ต้องเสียอากรเป็นรัฐบาล เจ้าพนักงานผู้กระทำงานของรัฐบาลโดยหน้าที่บุคคล ผู้กระทำการในนามของรัฐบาล…ฯลฯ… อากรเป็นอันไม่ต้องเสีย…” ดังนั้น เมื่อโจทก์คดีนี้เป็นกรมในรัฐบาล อธิบดีซึ่งเป็นผู้แทนของกรมโจทก์มอบอำนาจให้ผู้หนึ่งผู้ใดฟ้องคดีแทน อากรสำหรับการมอบอำนาจซึ่งกรมโจทก์เป็นฝ่ายที่ต้องเสีย จึงเป็นอันไม่ต้องเสีย ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1525/2508 ระหว่างกรมอนามัยโดยนายแพทย์กำจร ดวงแก้ว ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ นายสุข ธุระทำ กับพวกจำเลย” ฯลฯ

“ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่พิพาทนี้เป็นของจำเลยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2477 กรมโจทก์เริมสร้างทางหลวงสายหาดใหญ่ – รัตภูมิ ผ่านด้านเหนือของที่พิพาทตั้งแต่ พ.ศ. 2485 จำเลยครอบครองที่พิพาทโดยเคยปลูกกอเตยไว้เป็นแนวเขตด้านตะวันออกและด้านเหนือ ขุดบ่อน้ำไว้ในที่พิพาท 2 บ่อ ปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์ไว้ทางตะวันตก ด้านเหนือใช้ปลูกพืชผักเพียงเท่าที่สภาพของที่ดินจะอำนวย ระหว่างที่กรมโจทก์สร้างและซ่อมทางหลวงสายนี้ เจ้าหน้าที่และคนงานของกรมโจทก์เคยนำวัสดุก่อสร้างไปกองไว้และสร้างที่พักคนงานในที่พิพาทเพียงบางส่วนเป็นครั้งคราว โดยมิได้ปลูกสร้างหรือกระทำการใดให้เห็นว่า จะเข้าครอบครองอย่างเป็นเจ้าของเป็นการถาวร จำเลยจึงมิได้ขัดขวางว่ากล่าวเพราะเป็นที่เชิงเนินถูกน้ำท่วมทุกปี แต่จำเลยก็ยังครอบครองทำประโยชน์อยู่เท่าที่จะทำได้ ดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่า กรมโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่พิพาท”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share