คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 994/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อที่จำเลยอ้างว่าคำให้การชั้นสอบสวนมิใช่ลายมือชื่อของจำเลยนั้น จำเลยคงปฏิเสธลอย ๆ เมื่อโจทก์นำพนักงานสอบสวนเข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ประกอบคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่โจทก์อ้าง จำเลยก็ไม่ได้ถามค้านให้เห็นว่าจำเลยไม่เคยให้การรับสารภาพ คำให้การชั้นสอบสวนที่โจทก์อ้างมิใช่ลายมือชื่อจำเลย การที่จำเลยนำสืบภายหลังว่าคำให้การชั้นสอบสวนนั้นไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยจึงเป็นการนำสืบเอาข้างเดียวไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 340,340 ตรี และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 469/2531ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สร้อยคำทองคำ 1 เส้น หนัก 2 บาท รวม 10,000 บาท ที่ปล้นเอาไปแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 340 วรรคสอง, 340 ตรี ลงโทษจำคุก 21 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นพนักงานสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างอันเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกมีกำหนด 14 ปี ให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 469/2531 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรีให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทองคำ 1 เส้น หนัก 2 บาท ราคา 10,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ นางสมใจ โอภาส ผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มีนายธเนศ ภู่งามเป็นคนขับไปเที่ยวงานวัดพระนอนจักรสีห์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี ขณะที่ขับรถจักรยานยนต์แล่นไปตามถนนทางแยกเข้าวัดพระนอนจักรสีห์ได้มีคนร้าย 3 คนมีรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะและได้ใช้อาวุธปืนขู่เข็ญผู้เสียหายแล้วปล้นเอารถจักรยานยนต์และสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น รวมราคาทรัพย์ทั้งสิ้น 40,000 บาท ของนางสมใจ ผู้เสียหายไป คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหายหรือไม่ โจทก์มีนางสมใจผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า พยานจำคนร้ายได้คนเดียวคือจำเลยซึ่งเป็นคนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คนหลังสุดและเป็นคนที่ขับรถจักรยานยนต์ของตนไป ตามคำของผู้เสียหายดังกล่าวยังได้ความว่าขณะจำเลยกับพวกจอดรถจักรยานยนต์และบังคับให้พวกผู้เสียหายหยุดรถจักรยานยนต์นั้น ผู้เสียหายอยู่ห่างจากจำเลยกับพวกแค่เอื้อมมือถึง แสดงว่าอยู่ในระยะที่พอจะมองเห็นกันได้แม้บนถนนที่เกิดเหตุจะไม่มีโคมไฟฟ้า แต่ก็ได้ความจากคำของผู้เสียหายและคำให้การชั้นสอบสวนของนายธเนศตามเอกสารหมาย ป.จ5 ว่าขณะจอดรถจักรยานยนต์ทั้งสองคัน ไฟรถทั้งสองคันยังเปิดส่องสว่างอยู่พยานอาศัยแสงไฟดังกล่าวเห็นและจำจำเลยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามคำขอผู้เสียหายยังปรากฏว่าหลังจากคนร้ายกระชากสร้อยคอของพยานแล้ว พยานเดินไปหลบอยู่ข้างถนนห่างที่รถจักรยานยนต์จอดประมาณ 5 วา และพยานแอบดูคนร้ายเห็นจำเลยเป็นคนขับรถจักรยานยนต์ของพยานหลบหนีไป แม้ผู้เสียหายจะเบิกความรับว่าผู้เสียหายตาพิการมองเห็นข้างเดียวตั้งแต่เด็กก็ตาม แต่ผู้เสียหายยังสามารถไปไหนมาไหนได้ จึงแสดงว่าการมีตาเพียงข้างเดียวก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการมองเห็นของผู้เสียหายแต่อย่างใด น่าเชื่อว่าผู้เสียหายเห็นและจำจำเลยได้ นอกจากนี้โจทก์ยังมีพันตำรวจโทสาธิตวินิจฉัยกุล เบิกความว่า หลังเกิดเหตุประมาณ 1 สัปดาห์ จำเลยถูกจับกุมคดีลักรถจักรยานยนต์คดีอื่นที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเดิมบางนางบวช จึงได้พาผู้เสียหายไปดูตัวจำเลย ซึ่งผู้เสียหายดูแล้วก็ชี้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่ง ชั้นสอบสวนจำเลยก็ได้ให้การรับสารภาพ และได้ให้การในรายละเอียดถึงการกระทำผิดตลอดทั้งการที่พวกของจำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปขายให้แก่ผู้ใด จนเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามเอารถจักรยานยนต์ของกลางคืนมาได้ แสดงว่าการได้รถจักรยานยนต์ของกลางคืนก็เนื่องมาจากคำให้การชี้ช่องของจำเลยนั่งเอง นอกจากนี้จำเลยยังได้นำชี้ที่เกิดเหตุและแสดงท่าให้ถ่ายภาพประกอบคำรับสารภาพของจำเลยด้วย ซึ่งไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ทำหรือจัดให้ทำการใด ๆ ซึ่งเป็นการหลอกลวงหรือขู่เข็ญหรือให้คำมั่นสัญญาแก่จำเลยเพื่อจูงใจให้จำเลยให้การอย่างใด ๆ หรือแสดงท่าประกอบคำให้การ ดังนั้นคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนจึงใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้ที่จำเลยอ้างว่าคำให้การชั้นสอบสวนมิใช่ลายมือชื่อของจำเลยนั้นจำเลยคงปฏิเสธลอย ๆ เมื่อโจทก์นำพนักงานสอบสวนเข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ประกอบคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนที่โจทก์อ้าง จำเลยก็ไม่ได้ถามค้านให้เห็นว่าจำเลยไม่เคยให้การับสารภาพ คำให้การชั้นสอบสวนที่โจทก์อ้างมิใช่ลายมือชื่อของจำเลย การที่จำเลยนำสืบในภายหลังว่าคำให้การชั้นสอบสวนนั้นไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยจึงเป็นการนำสืบเอาข้างเดียว ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ คดีฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหายไปจริงที่จำเลยยื่นคำแก้ฎีกาว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาต่างกับฟ้องกล่าวคือนางสมใจเบิกความว่าเหตุเกิดวันที่ 16 พฤษภาคม 2530แต่โจทก์ฟ้องว่าเหตุเกิดวันที่ 10 พฤษภาคม 2530 จึงลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงในทางนำสืบของโจทก์มีปรากฏตามคำให้การ พนักงานสอบสวนรวมทั้งสรรพเอกสารในสำนวนการสอบสวนและคำให้การของจำเลยชั้นสอบสวนล้วนแต่ระบุว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่10 พฤษภาคม 2530 ตรงตามฟ้องโจทก์ การที่ผู้เสียหายเบิกความระบุวันที่เกิดเหตุผิดไป อาจเป็นเพราะความผิดหลง เพราะในบันทึกการชี้ตัวจำเลยที่ผู้เสียหายลงชื่อไว้ก็ระบุว่าเหตุเกิดวันที่ 10พฤษภาคม 2530 ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงหาต่างกับฟ้องไม่ ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเวลาที่กระทำผิดจะต่างกับที่กล่าวในฟ้องก็เป็นเพียงรายละเอียด มิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share