คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2738/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเป็นลายมือปลอม จำเลยจึงไม่อาจอ้างเช็คพิพาทเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่โจทก์ได้ เว้นแต่โจทก์จะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008
การที่ อ. พนักงานจำเลยรับรองให้จ่ายเงินตามเช็คพิพาทเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถือว่าจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทและหักบัญชีกระแสรายวันเอาแก่โจทก์โดยละเมิด แม้จะมีข้อตกลงตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดในการจ่ายเงินตามเช็คในกรณีที่โจทก์ประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาเช็คเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้เช็คไปและมีผู้ปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายมาเบิกเงินจากจำเลยก็ตาม จำเลยก็จะยกข้อตกลงดังกล่าวขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทปลอมเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่งตอนท้าย เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์หาได้ไม่
การกำหนดค่าสินไหมทดแทนในหนี้ที่เกิดจากการละเมิดแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223, 438 และ 442 การที่ ธ. พนักงานโจทก์ ทราบว่ามีคนร้ายงัดลิ้นชักโต๊ะทำงานที่มีสมุดเช็คอยู่ในลิ้นชักแต่มิได้ตรวจสอบสมุดเช็คที่ตนมีหน้าที่เก็บรักษา นับว่า ธ. มิได้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาเช็คเท่าที่ควร ทำให้ไม่สามารถระงับความเสียหายได้ทันที เป็นเหตุให้ผู้ที่ได้เช็คพิพาทที่ถูกลักไปสามารถนำเช็คพิพาทซึ่งมีการปลอมลายมือชื่อและประทับตราปลอมไปเบิกเงินจากจำเลยได้ ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลย เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท (ต้นเงินตามเช็ค 200,000 บาท)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนรายการต้นเงินและดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดให้แก่โจทก์ หากสภาพแห่งหนี้ไม่อาจบังคับดังกล่าวได้ ให้จำเลยชดใช้เงินตามเช็คจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ถึงวันฟ้องจำนวน 28,874.03 บาท รวมเป็นเงิน 228,874.03 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายและตราประทับในเช็คพิพาทเป็นลายมือชื่อและตราประทับปลอมหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะมีเพียงนายวีรศักดิ์ กรรมการโจทก์ กับนางสาวธนวรรณ พนักงานการเงินของโจทก์ เบิกความยืนยันว่า นายวีรศักดิ์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาท และตราประทับในเช็คพิพาทแตกต่างจากตัวอย่างตราประทับที่มอบให้ไว้แก่จำเลย โดยมิได้จัดให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อและตราประทับในเช็คก็ตาม แต่คำเบิกความของพยานโจทก์สอดคล้องกับหลักฐานตัวอย่างลายมือชื่อของนายวีรศักดิ์และตัวอย่างตราประทับ กับลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายและตราประทับในเช็คพิพาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเอกสาร ทั้งสองฉบับแล้วเห็นได้ว่า มีความแตกต่างกันในรูปลักษณะลายเส้นและคุณสมบัติการเขียนซึ่งไม่น่าจะเป็นลายมือของบุคคลคนเดียวกัน ส่วนตราที่ประทับในเช็คพิพาทก็มีลักษณะแตกต่างจากตัวอย่างตราประทับ โดยตามตัวอย่างตราประทับมีเส้นเงาที่ตัวอักษรประดิษฐ์คำภาษาอังกฤษว่า “แอนไทซ์” และที่เส้นขีดใต้ตัวอักษร ส่วนตราประทับในเช็คไม่มีเส้นเงาดังกล่าว นายวีรศักดิ์และนางธารินีมีหน้าที่เกี่ยวกับการสั่งจ่ายเช็คของโจทก์ ซึ่งมีการสั่งจ่ายเป็นประจำตามปกติในทางการค้าของโจทก์ในจำนวนเช็คที่จำเลยอ้างซึ่งโจทก์สั่งจ่ายก่อนวันที่มีผู้นำเช็คพิพาทไปเบิกเงินจำนวน 48 ฉบับ ไม่ปรากฏว่ามีเช็คฉบับใดใช้ตราประทับผิดไปจากตัวอย่างที่ตกลงกันไว้ การที่เช็คพิพาทมีตราประทับต่างจากตราที่เคยใช้ประทับในการสั่งจ่ายเช็คตามปกติจึงสนับสนุนคำเบิกความของนายวีรศักดิ์และนางสาวธนวรรณให้มีน้ำหนักรับฟังว่านายวีรศักดิ์ไม่ได้เป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทดังที่พยานทั้งสองของโจทก์เบิกความ ที่จำเลยนำนายอรรถพร ซึ่งเป็นพนักงานผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบลายมือชื่อและตราประทับในเช็คพิพาทมาเบิกความเป็นพยานอ้างว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายและตราประทับในเช็คพิพาทเหมือนกับตัวอย่างลายมือชื่อของนายวีรศักดิ์และตัวอย่างตราประทับ คำเบิกความพยานจำเลยดังกล่าวขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่เห็นได้จากเอกสาร จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ลายมือชื่อนายวีรศักดิ์ ผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท เป็นลายมือปลอมและตราประทับในเช็คต่างจากตราประทับที่โจทก์มอบตัวอย่างให้ไว้แก่จำเลย แม้จะได้ความจากนายวีรศักดิ์พยานโจทก์ว่า โจทก์ยังมีตราอีกแบบหนึ่งที่ใช้ในกิจการอื่นซึ่งมีขนาดเดียวกันกับตราประทับที่มอบตัวอย่างให้ไว้แก่จำเลยแต่ไม่มีเส้นเงาเช่นเดียวกับตราประทับในเช็คพิพาทก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเป็นลายมือปลอม จำเลยจึงไม่อาจอ้างเช็คพิพาทเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่โจทก์ได้ เว้นแต่โจทก์จะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า ตราที่ประทับในเช็คพิพาทเป็นตราสำคัญที่แท้จริงของโจทก์หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายและตราที่ประทับในเช็คพิพาทเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของนายวีรศักดิ์ กรรมการผู้มีอำนาจ และตราสำคัญที่แท้จริงของโจทก์และพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดในการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทที่มีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายและตราประทับปลอมต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า แม้ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทจะมีความคล้ายคลึงกับตัวอย่างลายมือชื่อของนายวีรศักดิ์ กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์อย่างมากจนยากที่จะสังเกตเห็นถึงความแตกต่างก็ตาม แต่สำหรับตราประทับในเช็คพิพาทกับตัวอย่างตราประทับนั้น มีความแตกต่างกันเห็นได้ชัดว่าเป็นตราคนละแบบ เป็นการใช้ตราประทับในเช็คผิดจากข้อตกลง ซึ่งพนักงานของจำเลยควรต้องปฏิเสธการจ่ายเงินอยู่แล้ว อีกทั้งเมื่อพบความผิดปกติของตราประทับเช่นนี้ โดยวิสัยของวิญญูชนย่อมเกิดความสงสัยไม่แน่ใจว่าผู้ลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คที่แท้จริงหรือไม่ จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการที่ประชาชนให้ความไว้วางใจ พนักงานของจำเลยที่ทำหน้าที่ตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คที่มีผู้นำมายื่นเพื่อเบิกเงินจึงต้องมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อเป็นพิเศษกว่าคนทั่วไป หากนายอรรถพร พนักงานของจำเลย ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คและตราประทับในเช็คพิพาทใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละเอียดรอบคอบย่อมจะสามารถสังเกตเห็นความแตกต่างของตราประทับและลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายและทราบได้ว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือปลอม การที่นายอรรถพรรับรองให้จ่ายเงินตามเช็คพิพาทจึงเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถือว่าจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทและหักบัญชีกระแสรายวันเอาแก่โจทก์โดยละเมิด แม้จะมีข้อตกลงตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดในการจ่ายเงินตามเช็คในกรณีที่โจทก์ประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาเช็คเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้เช็คไปและมีผู้ปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายนำมาเบิกเงินจากจำเลยก็ตาม จำเลยก็จะยกข้อตกลงดังกล่าวขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทปลอมเป็นข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 วรรคแรก ตอนท้าย เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์หาได้ไม่ แต่อย่างไรก็ดีการกำหนดค่าสินไหมทดแทนในหนี้ที่เกิดจากการละเมิดแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223, 438 และ 442 นางสาวธนวรรณ ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาสมุดเช็คของโจทก์เบิกความว่า พยานเก็บสมุดเช็คไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน ในห้องทำงานซึ่งมีพนักงานอื่นอีก 5 คน นั่งทำงานอยู่ด้วย พยานทราบมาก่อนว่าลิ้นชักโต๊ะทำงานถูกงัดและตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีทรัพย์สินใดหายหลังจากได้รับสำเนาบัญชีกระแสรายวันพบรายการเช็คที่โจทก์ไม่ได้สั่งจ่ายจึงไปตรวจสอบสมุดเช็คและทราบว่ามีเช็ค 2 ฉบับ หายไป ดังนี้ หากนางสาวธนวรรณตรวจสอบสมุดเช็คเสียแต่แรกเมื่อทราบว่าลิ้นชักโต๊ะทำงานถูกงัดก็จะทราบได้ว่ามีคนร้ายลักเช็คของโจทก์และโจทก์อาจแจ้งอายัดเช็คต่อจำเลยได้ทันก่อนที่จะมีการปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายและนำเช็คพิพาทไปเบิกเงินจากจำเลย การที่นางสาวธนวรรณทราบว่ามีคนร้ายงัดลิ้นชักโต๊ะทำงานที่มีสมุดเช็คอยู่ในลิ้นชักแต่มิได้ตรวจสอบสมุดเช็คที่ตนมีหน้าที่เก็บรักษา นับว่านางสาวธนวรรณมิได้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาเช็คเท่าที่ควร ทำให้ไม่สามารถระงับความเสียหายได้ทันที เป็นเหตุให้ผู้ที่ได้เช็คพิพาทที่ถูกลักไปสามารถนำเช็คพิพาทซึ่งมีการปลอมลายมือชื่อและประทับตราปลอมไปเบิกเงินจากจำเลยได้ ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลย เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท ส่วนที่ฟ้องโจทก์มีคำขอให้เพิกถอนรายการต้นเงินและดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัด หรือให้จำเลยใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ถึงวันฟ้อง และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยในเงินค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิด โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งในข้อนี้ โดยในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาโจทก์เพียงขอให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้มีการเพิกถอนดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดและให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยในอัตราตามคำขอท้ายฟ้องต่อไป จึงให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยในค่าเสียหายเท่าที่โจทก์มีคำขอในชั้นฎีกา
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท

Share