แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในฐานะผู้กู้ยืมจำนวนเงิน 600,000 บาท และจำเลยที่ 2 กับที่ 4 ให้ร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ยืมจำนวนเงิน 50,000 บาท อีก โดยอาศัยมูลเหตุการกู้ยืมเงินเช่นเดียวกัน แม้โจทก์จะอ้างมูลหนี้กู้ยืมคนละจำนวน และอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ต่างกู้เงินโจทก์อีกต่างหากก็ตาม แต่มูลหนี้คดีนี้ก็คือการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 โดยโจทก์อ้างในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืม โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน แต่ไม่ได้ระบุจำนวนเงินไว้ในสัญญากู้ยืมเช่นเดียวกับคดีก่อน และอ้างอีกว่าหากบุตรจำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องการใช้เงินมาขอกู้เงินจากโจทก์เพิ่มก็ขอให้โจทก์ให้กู้โดยอาศัยสัญญากู้ฉบับดังกล่าว โดยให้บุตรของจำเลยที่ 1 เพียงแต่ทำหลักฐานการรับเงินจากโจทก์ให้โจทก์ยึดเป็นประกัน จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อโจทก์เอง เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ โจทก์จึงได้รวบรวมเงินที่จำเลยทั้งสี่กู้ไปจากโจทก์รวมเป็นเงินจำนวน 600,000 บาท กรอกลงในช่องที่ว่างไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน แล้วนำไปฟ้องจำเลยทั้งสี่ตามคดีเดิม ดังนั้นมูลหนี้คดีนี้ก็เป็นมูลหนี้เดิมที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไปแล้วในคดีเดิมนั่นเอง โดยอาศัยเหตุที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไป มีจำเลยที่ 2 และที่ 4 ค้ำประกันรวมกับที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 กู้ยืมโจทก์ด้วย เท่ากับโจทก์ได้รื้อร้องฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะ ผู้กู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 กับที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้กู้ยืมด้วย จึงเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีเดิมต้องห้ามตามกฎหมาย ทั้งคดีเดิมศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยไปแล้วว่า สัญญาการกู้ยืมเงินเป็นสัญญากู้ปลอม โจทก์ไม่อาจอาศัยสัญญากู้ยืมปลอมดังกล่าวมาเป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดีได้ เพราะถือว่าการกู้ยืมไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ และลำพังเฉพาะหลักฐานการรับเงินของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่โจทก์อ้างก็ไม่ใช่หลักฐานการกู้ยืมเงินที่จะฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้รับผิดได้
หลักฐานการรับเงิน ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าจำเลยที่ 3 กู้ยืมเงินจากโจทก์และตกลงจะใช้เงินคืนแก่โจทก์หรือกำหนดการเสียดอกเบี้ยไว้อันเป็นลักษณะของการกู้ยืมเงิน หลักฐานการรับเงิน จึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 50,000 บาท 284,500 บาท 8,000 บาท และ 160,000 บาท ตามลำดับนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กันยายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 พฤศจิกายน 2542) ต้องไม่เกิน 18,750 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2536 จำนวนเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 75,000 บาท และฟ้องจำเลยที่ 2 กับที่ 4 ให้ร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์เพียง 50,000 บาท แต่โจทก์ไปกรอกข้อความเป็นจำนวนเงิน 600,000 บาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์กรอกข้อความจำนวนเงินเกินไปจากความเป็นจริง โดยจำเลยที่ 1 ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นสัญญาปลอม แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จะยอมรับว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 50,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์ก็ตาม โจทก์ก็ไม่อาจอาศัยสัญญากู้ยืมเงินปลอมดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานฟ้องร้องบังคับจำเลยที่ 1 ให้ชำระเงินที่กู้ยืมที่ถือว่าการกู้ยืมเงินไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดโดยโจทก์ไม่อุทธรณ์ ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 9684/2538 คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 20482/2539 ของศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 20482/2539 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในฐานะผู้กู้ยืมจำนวนเงิน 600,000 บาท และจำเลยที่ 2 กับที่ 4 ให้ร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ยืมจำนวนเงิน 50,000 บาท อีก โดยอาศัยมูลเหตุการณ์กู้ยืมเงินเช่นเดียวกัน แม้โจทก์จะอ้างมูลหนี้กู้ยืมคนละจำนวน โดยโจทก์อ้างคดีเดิมว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจำนวน 600,000 บาท แต่คดีนี้โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจำนวน 50,000 บาท และอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ต่างกู้เงินโจทก์อีกต่างหากก็ตาม แต่มูลหนี้คดีนี้ก็คือการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 โดยโจทก์อ้างในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืม โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน แต่ไม่ได้ระบุจำนวนเงินไว้ในสัญญากู้ยืมเช่นเดียวกับคดีก่อน และอ้างอีกว่าหากบุตรจำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องการใช้เงินมาขอกู้เงินจากโจทก์เพิ่มก็ขอให้โจทก์ให้กู้โดยอาศัยสัญญากู้ฉบับดังกล่าว โดยให้บุตรของจำเลยที่ 1 เพียงแต่ทำหลักฐานการรับเงินจากโจทก์ให้โจทก์ยึดเป็นประกัน จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อโจทก์เอง เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ โจทก์จึงได้รวบรวมเงินที่จำเลยทั้งสี่กู้ไปจากโจทก์รวมเป็นเงินจำนวน 600,000 บาท กรอกลงในช่องที่ว่างไว้ในสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2536 แล้วนำไปฟ้องจำเลยทั้งสี่ตามคดีเดิม ดังนั้นมูลหนี้คดีนี้ก็เป็นมูลหนี้เดิมที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไปแล้วในคดีเดิมนั่นเอง โดยอาศัยเหตุที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไป มีจำเลยที่ 2 และที่ 4 ค้ำประกันรวมกับที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 กู้ยืมโจทก์ด้วย เท่ากับโจทก์ได้รื้อร้องฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 กับที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้กู้ยืมด้วย จึงเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีเดิมต้องห้ามตามกฎหมาย ทั้งคดีเดิมศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยไปแล้วว่า สัญญาการกู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นสัญญากู้ปลอม โจทก์ไม่อาจอาศัยสัญญากู้ยืมปลอมดังกล่าวมาเป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดีกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ได้ เพราะถือว่าการกู้ยืมไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ และลำพังเฉพาะหลักฐานการรับเงินของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่โจทก์อ้างก็ไม่ใช่หลักฐานการกู้ยืมเงินที่จะฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้รับผิดได้ ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 กู้ยืมเงินโจทก์ไป 3 ครั้ง รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 11,000 บาท แล้วทำบันทึกการรับเงินให้โจทก์ยึดถือไว้ ย่อมฟังได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินแล้วนั้น เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จึงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า หลักฐานการรับเงิน เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินหรือไม่ เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า มูลหนี้คดีนี้เป็นมูลหนี้เดิมที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2536 และที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่า หลังจากทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 3 และบุตรคนอื่นของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลง ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2536 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ประสงค์จะเปลี่ยนสัญญากู้ยืมเงินและหลักประกัน ในวันดังกล่าวโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับใหม่และคืนสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2533 ให้แก่จำเลยที่ 1 ไป นอกจากนี้โจทก์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้านว่า สัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2536 ระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ จำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน หมายความว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชอบจำนวนเงินที่บุตรทุกคนได้กู้ไปจากโจทก์ กับที่เบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงว่า สรุปในเรื่องนี้จำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้มารับเงินกู้ หากจำเลยที่ 1 ไม่เป็น ผู้กู้ โจทก์ก็จะไม่ให้เงินกู้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อีกทั้งหลักฐานการรับเงิน ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าจำเลยที่ 3 กู้ยืมเงินจากโจทก์และตกลงจะใช้เงินคืนแก่โจทก์หรือกำหนดการเสียดอกเบี้ยไว้อันเป็นลักษณะของการกู้ยืมเงิน หลักฐานการรับเงิน จึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสี่มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ