แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ก่อนจำเลยจะรดน้ำมนต์ให้ผู้เสียหายไม่ได้บอกว่าจะต้องถูกเนื้อตัวผู้เสียหายด้วย เมื่อจำเลยลูบไล้ใบหน้าและหน้าอก ผู้เสียหายจึงถามจำเลยว่าทำไมต้องทำเช่นนั้น แสดงว่าผู้เสียหายไม่ได้ยินยอมให้จำเลยกระทำเช่นนั้นได้ จำเลยอาศัยความเป็นพระภิกษุที่ผู้เสียหายให้ความนับถือและกระทำเพียงครั้งเดียวในลักษณะฉวยโอกาส ในขณะที่ผู้เสียหายไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อนจึงไม่อาจปกป้องตัวเองได้ทัน การกระทำในลักษณะฉวยโอกาสดังกล่าวย่อมทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำอนาจารผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 278
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 276, 278
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนางสาวสุรีรัตน์หรือตุ้ม ผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุนายอ้วนซึ่งเป็นคนรักทอดทิ้งผู้เสียหายไป ได้ปรึกษานางสาวผึ้งซึ่งเป็นเพื่อน นางสาวผึ้งบอกว่าที่วัดลุ่มคงคารามมีการรดน้ำมนต์และสะเดาะเคราะห์ วันเกิดเหตุวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา ผู้เสียหายนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างไปที่วัดดังกล่าว เมื่อไปถึงสอบถามพระในวัดทราบว่า เจ้าอาวาสไปธุระ จึงกลับไปก่อน วันเดียวกันเวลาประมาณ 17 นาฬิกา ผู้เสียหายไปที่วัดอีกพบจำเลยซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่กุฏิ จำเลยถามว่ามาทำไม ผู้เสียหายบอกว่าคนรักตีตัวออกห่างอยากให้กลับมาอยู่ด้วยกัน จำเลยบอกว่าจะต้องรดน้ำมนต์และลงนะหน้าทอง ผู้เสียหายตกลง จำเลยส่งผ้าขนหนูแก่ผู้เสียหายบอกว่าให้เปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วให้ผู้เสียหายนั่งยอง ๆ ในห้องน้ำของกุฏิ จำเลยถือกระป๋องซึ่งมีน้ำมนต์มารดผู้เสียหาย ระหว่างรดน้ำมนต์จำเลยใช้มือลูบไล้ใบหน้าและหน้าอกผู้เสียหาย ผู้เสียหายถามว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ จำเลยบอกว่าเพื่อให้น้ำมนต์เข้าสู่ร่างกายจะทำให้ขลัง จำเลยใช้เวลารดน้ำมนต์ประมาณ 10 นาที แล้วให้ผู้เสียหายใส่เสื้อผ้า จำเลยบอกว่ากรณีลงนะหน้าทองจำเลยไม่มีเวลาพอเพราะต้องไปสวดศพ ให้ผู้เสียหายโทรศัพท์มาหาจำเลยในเวลาประมาณ 21 นาฬิกา แล้วผู้เสียหายกลับไป เมื่อถึงเวลาดังกล่าวผู้เสียหายโทรศัพท์ไปหาจำเลยและไปพบจำเลยที่วัดซึ่งขณะนั้นยืนรออยู่หน้ากุฏิ จำเลยพาผู้เสียหายเข้าประตูด้านข้างกุฏิไปที่ห้องพระ จำเลยให้ผู้เสียหายถอดเสื้อผ้าออกหมด นอนลงบนเสื่อซึ่งมีผ้าปู จำเลยใส่เพียงสบง ส่วนท่อนบนเปลือยจำเลยบอกให้ผู้เสียหายหลับตา จำเลยใช้มือลูบไล้จากใบหน้าลงมาถึงหน้าท้องผู้เสียหาย โดยจำเลยท่องคาถาไปด้วย จำเลยใช้หัวเข่าแยกขาของผู้เสียหายและขึ้นคร่อม พยายามใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าในช่องคลอดผู้เสียหาย ผู้เสียหายบอกว่าไม่ใช่การลงนะหน้าทองแล้ว จำเลยให้ผู้เสียหายหลับตาไม่ต้องพูด จำเลยพยายามใส่อวัยวะเพศเข้าในช่องคลอดอีก ผู้เสียหายดิ้นรนร้องขอความช่วยเหลือ จำเลยตกใจปล่อยตัวผู้เสียหาย ผู้เสียหายใส่เสื้อผ้าวิ่งออกจากห้องพระไปเปิดประตูด้านข้างของกุฏิพร้อมตะโกนขอความช่วยเหลือ ได้ยินเสียงคนอยู่ข้างนอกถามว่ามีอะไรกัน ผู้เสียหายบอกว่าจำเลยจะข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อเปิดประตูออกมาชายเหล่านั้นซึ่งภายหลังทราบว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้ช่วยผู้เสียหายและจับกุมจำเลย เห็นว่า สำหรับความผิดฐานกระทำอนาจารนั้น แม้โจทก์จะมีผู้เสียหายเพียงปากเดียวที่ยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด และในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธในความผิดฐานนี้ตามบันทึกคำให้การก็ตาม แต่ได้ความจากคำเบิกความของนายเริงฤทธิ์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้างานตรวจการคณะสงฆ์ กรมการศาสนา มีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจตราพระภิกษุสามเณรที่ประพฤติมิชอบในพระธรรมวินัยทั่วประเทศ เบิกความว่า วันที่ 22 พฤษภาคม 2541 พยานได้รับคำสั่งจากรองอธิบดีกรมการศาสนาให้ไปสอบข้อเท็จจริงเรื่องที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงข่าวว่าจำเลยกระทำอนาจารและพยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายว่าเป็นอย่างไร มีการข่มเหงรังแกพระหรือไม่ พยานไปที่วัดสำโรงซึ่งมีพระครูปัญญา เป็นเจ้าอาวาสและเป็นเจ้าคณะตำบลบางกรวย โดยวัดลุ่มคงคารามที่จำเลยเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในเขตการปกครองของเจ้าคณะตำบลดังกล่าว พยานพบจำเลยซึ่งเพิ่งได้รับการปล่อยชั่วคราวจากเจ้าพนักงานตำรวจแล้วได้มาพักที่วัดนี้ พยานสอบปากคำจำเลยโดยให้จำเลยเล่าความจริงให้ฟัง จำเลยเล่าว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 17 นาฬิกา ผู้เสียหายมาหาจำเลยขอให้รดน้ำมนต์ จำเลยพาไปที่กุฏิและให้ผู้เสียหายถอดเสื้อผ้าทั้งหมดรวมทั้งชุดชั้นในโดยให้นุ่งผ้าเช็ดตัวนั่งพนมมือในห้องน้ำ จากนั้นจำเลยรดน้ำมนต์ให้ผู้เสียหาย และลูบไล้ตามตัวของผู้เสียหาย เสร็จแล้วผู้เสียหายกลับไป พยานทำบันทึกถ้อยคำของจำเลยไว้ อ่านให้จำเลยฟังแล้วให้จำเลยลงชื่อ หลังจากนั้นได้ทำรายงานให้อธิบดีกรรมการศาสนาและปลัดกระทรวงศึกษาธิการทราบ นายเริงฤทธิ์เป็นเจ้าพนักงานของรัฐกระทำตามอำนาจหน้าที่ได้สอบปากคำจำเลยโดยเปิดเผยที่วัดสำโรงต่อหน้านายชัชรินทร์ ศึกษาธิการอำเภอบางกรวยและพระมหาตรรกวิท พระวัดลุ่มคงคารามที่จำเลยเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งทั้งสองได้ลงชื่อเป็นพยานในบันทึกถ้อยคำของจำเลยด้วย จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่านายเริงฤทธิ์จะเบิกความปรักปรำจำเลยซึ่งเป็นพระสงฆ์ให้ต้องรับโทษ ทั้งการสอบปากคำได้กระทำหลังเกิดเหตุเพียง 2 วัน และคำให้การดังกล่าวเป็นผลร้ายแก่จำเลยเอง จึงเชื่อว่าจำเลยให้ปากคำโดยสมัครใจด้วยความสัตย์จริงจึงสามารถใช้ยันจำเลยได้ เมื่อคำให้การดังกล่าวสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหายจึงทำให้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังแม้ผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เมื่อผู้เสียหายกลับบ้าน ผู้เสียหายเล่าให้มารดาฟังว่าไปรดน้ำมนต์มา โดยไม่ได้บอกว่าจำเลยถูกเนื้อต้องตัว เนื่องจากคิดว่าจำเลยไม่จงใจลวนลามนั้น ก็เป็นความเข้าใจของผู้เสียหายเองว่าการกระทำนั้นเป็นส่วนหนึ่งของพิธีรดน้ำมนต์ ซึ่งก่อนจำเลยรดน้ำมนต์ให้ผู้เสียหายไม่ได้บอกว่าจะต้องถูกเนื้อตัวผู้เสียหายด้วย เมื่อจำเลยลูบไล้ใบหน้าและหน้าอก ผู้เสียหายจึงถามจำเลยว่าทำไมต้องทำเช่นนั้นด้วย ย่อมแสดงว่าผู้เสียหายไม่ได้ยินยอมให้จำเลยกระทำเช่นนั้นได้จำเลยอาศัยความเป็นพระภิกษุที่ผู้เสียหายให้ความนับถือและกระทำเพียงครั้งเดียวในลักษณะฉวยโอกาส ในขณะที่ผู้เสียหายไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อนจึงไม่อาจปกป้องตัวเองได้ทัน การกระทำในลักษณะฉวยโอกาสดังกล่าวย่อมทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ความเข้าใจของผู้เสียหายว่าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีรดน้ำมนต์เช่นนี้ไม่ทำให้จำเลยพ้นผิด ที่จำเลยนำสืบว่า ผู้เสียหายมีความประพฤติทางเพศและอาชีพไม่น่าเชื่อถือ ผู้เสียหายมีรายได้น้อย ไม่รู้จักวัดที่เกิดเหตุมาก่อนจึงไม่น่าเชื่อว่าจะไปที่วัดถูกและไม่น่าเชื่อว่าจะมีเงินจ้างรถจักรยานยนต์รับจ้างไปที่วัดถึง 3 ครั้งนั้น เห็นว่าการที่ผู้เสียหายสอบถามที่อยู่ของวัดจากนางสาวผึ้งแล้ว ย่อมไปที่วัดที่เกิดเหตุได้ไม่ยากส่วนรายได้ ความประพฤติ และอาชีพของผู้เสียหายเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ต้องคำนึงถึง แต่ที่สำคัญขึ้นอยู่กับคำเบิกความของผู้เสียหายว่ามีเหตุผล และสอดคล้องกับพยานหลักฐานอื่นหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคง พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้ใช้มือลูบไล้ใบหน้าและหน้าอกผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำอนาจารผู้เสียหาย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นพิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 80, 278 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำอนาจาร จำคุก 1 ปี ฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 6 ปี คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปี