คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15106/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่จำเลยผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับเงินส่วนที่เหลือ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ การที่โจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีโดยอ้างว่า หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วจำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วมนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยและจำเลยร่วมโต้แย้งสิทธิของโจทก์ขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว โดยคำร้องแสดงเหตุเพียงว่า จำเลยมีทางแพ้คดีซึ่งโจทก์อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน แต่การที่จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จำเลยร่วมนั้น หาได้ทำให้โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยหรือให้จำเลยร่วมใช้ค่าทดแทนตามความหมายแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) ไม่ และแม้การกระทำดังกล่าวอาจทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 แต่โจทก์มิได้กล่าวในคำร้องว่า จำเลยและจำเลยร่วมสมคบกันโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ และมิได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท อีกทั้งมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้บุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือศาลเห็นจำเป็นให้เรียกบุคคลภายนอกคดีเข้ามาเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงไม่อาจแปลความว่าคำร้องของโจทก์ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีได้ การที่ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีและศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จำเลยร่วมทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ และให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยร่วมมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
แม้ระหว่างพิจารณาได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จำเลยร่วมไปแล้ว แต่สภาพแห่งหนี้อาจไม่เปิดช่องให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ จึงต้องกำหนดในคำพิพากษาไว้ด้วยว่า หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ ก็ให้จำเลยคืนเงินที่รับไปพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องเพราะโจทก์มีคำขอบังคับในส่วนนี้มาท้ายคำฟ้องด้วยแล้ว ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ทั้งที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับมาท้ายฟ้องนั้น เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 36183 และที่ดินโฉนดเลขที่ 36184 ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ให้แก่โจทก์ ให้จำเลยรับเงินจำนวน 330,000 บาท ไปจากโจทก์ หากจำเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 510,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางสุพิณ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่าภายหลังที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ให้แก่จำเลยร่วม จำเลยมีทางแพ้คดีโจทก์ ซึ่งโจทก์อาจฟ้องจำเลยร่วมเป็นจำเลยเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เรียกนางสุพิณเข้ามาเป็นจำเลยร่วม
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องว่า หากจำเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ ให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดคืนเงินจำนวน 510,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ด้วย ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 13683 และที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 13684 ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันชำระค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด หากจำเลยและจำเลยร่วมไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 330,000 บาท ให้แก่จำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 36183 และเลขที่ 36184 ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยรับว่าในวันนัดโอนที่ดินตามสัญญา โฉนดที่ดินเลขที่ 36183 ของจำเลยยังติดจำนองธนาคารอยู่ ก่อนหรือในวันนัดโอนที่ดินจำเลยหาได้ไถ่ถอนจำนองให้เรียบร้อยไม่ กลับไถ่ถอนวันที่ 26 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังกำหนดนัด 1 วัน ตามสารบัญสำเนาโฉนดที่ดิน แสดงว่าในวันนัดจำเลยไม่พร้อมที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ ที่จำเลยอ้างว่าหากโจทก์มาตามนัด จำเลยจะไถ่ถอนจำนองแล้วโอนที่ดินให้โจทก์ได้ในวันเดียวกัน หรือที่อ้างว่าโจทก์ขอขยายเวลาการโอนที่ดินเป็นวันที่ 3 มกราคม 2551 และวางมัดจำเพิ่ม เป็นข้ออ้างลอย ๆ ดังนั้นที่โจทก์อ้างว่าจำเลยขอเลื่อนการโอนที่ดินเป็นกลางเดือนมกราคม 2551 จึงมีความน่าเชื่อถือ แต่ถึงกำหนดจำเลยก็ผิดนัดอีก ต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2551 โจทก์กลัวว่าจำเลยจะโอนที่ดินให้บุคคลภายนอกซึ่งโจทก์จะได้รับความเสียหาย จึงขออายัดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน และให้ทนายความโจทก์มีหนังสือแจ้งว่าจำเลยผิดสัญญา กับให้จำเลยโอนที่ดินทั้งสองแปลงแก่โจทก์ ตามหนังสือและใบตอบรับ แต่จำเลยเพิกเฉย พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสองแปลง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของจำเลยข้อต่อไปที่ว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีหรือไม่ เห็นว่า จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อนี้ เพราะเป็นเรื่องของจำเลยร่วม ไม่เกี่ยวกับจำเลย อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยร่วมมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้โจทก์ แต่จำเลยผิดสัญญาไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ และรับเงินส่วนที่เหลือ หากโอนไม่ได้ให้ใช้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ และไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือตามสัญญา คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยผิดสัญญาไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ การที่โจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีโดยอ้างว่า หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วจำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ให้แก่จำเลยร่วมนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยและจำเลยร่วมโต้แย้งสิทธิของโจทก์ขึ้นมาใหม่ภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว โดยคำร้องของโจทก์ได้แสดงเหตุเพียงว่า จำเลยมีทางแพ้คดี ซึ่งโจทก์อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน อันเป็นการยื่นคำร้องขอให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ก) แต่การที่จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยร่วมนั้น หาได้ทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยหรือให้จำเลยร่วมใช้ค่าทดแทนตามความหมายแห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่ และแม้การกระทำของจำเลยและจำเลยร่วมอาจทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ได้ก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้กล่าวในคำร้องไว้ด้วยว่า จำเลยและจำเลยร่วมสมคบกันโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยไม่สุจริตทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ และไม่ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลง อีกทั้งมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้บุคคลภายนอกต้องเข้ามาในคดี หรือศาลเห็นจำเป็นให้เรียกบุคคลภายนอกคดีเข้ามาเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงไม่อาจแปลความว่าคำร้องของโจทก์ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ข) โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีได้ ชอบที่โจทก์จะต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่ ศาลชั้นต้นควรที่จะสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์เสียตั้งแต่ต้น การที่ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีและศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี และการที่จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยร่วมทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จึงให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลง กับให้จำเลยร่วมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีได้
อนึ่ง เนื่องจากในระหว่างพิจารณาได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยร่วมไปแล้ว สภาพแห่งหนี้จึงอาจไม่เปิดช่องให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ จึงต้องกำหนดในคำพิพากษาไว้ด้วยว่า หากจำเลยไม่อาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่อง ก็ให้จำเลยคืนเงิน 510,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ทั้งไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ได้มีคำขอบังคับในส่วนนี้มาท้ายคำฟ้องด้วยแล้ว ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ทั้งที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยรับผิดในส่วนนี้มาด้วยนั้น เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหาทั้งสามกรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยไม่อาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ได้เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่อง ก็ให้จำเลยคืนเงิน 510,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้จำเลยชำระค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด และยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยร่วมทั้งหมด แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะไปฟ้องเป็นคดีใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกาแทนโจทก์ 3,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share