คำวินิจฉัยที่ 34/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ต้องหาถูกจับกุมดำเนินคดีอาญาและถูกควบคุมในห้องขังสถานีตำรวจภูธร เจ้าหน้าที่สิบเวรผู้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมและเก็บรักษากุญแจห้องขังพบเหตุเพลิงไหม้สถานีตำรวจ ตามหน้าที่ต้องเปิดประตูห้องขังนำตัวผู้ต้องหาออกมาให้พ้นจากอันตราย แต่กลับแจ้งเหตุและรอคำสั่งผู้บังคับบัญชาแล้วจึงช่วยเหลือผู้ต้องหาในห้องขังทำให้เพลิงไหม้ห้องขังและผู้ต้องหาถูกไฟคลอกเสียชีวิตนั้นเกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า มูลความแห่งคดีสืบเนื่องมาจากพนักงานสอบสวนจับกุมผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาและถูกควบคุมตัวระหว่างสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาจนถึงแก่ความตายขณะอยู่ในอำนาจควบคุมของเจ้าหน้าที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๔/๑ บัญญัติให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาไปยังศาล ถ้าไม่อาจส่งไปได้ในขณะนั้น เนื่องจากเป็นเวลาที่ศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการ ให้พนักงานสอบสวนที่รับตัวผู้ถูกจับไว้มีอำนาจปล่อยผู้ถูกจับชั่วคราวหรือควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้จนกว่าจะถึงเวลาศาลเปิดทำการ อันเป็นขั้นตอนการดำเนินการที่กำหนดให้อำนาจพนักงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะโดยตรงเพื่อนำไปสู่การฟ้องคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญา และตามมาตรา ๒ (๑) ก็บัญญัติว่า “ศาล” หมายความถึงศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาซึ่งมีอำนาจเกี่ยวกับคดีอาญา ดังนั้นศาลที่มีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบการสอบสวนของพนักงานสอบสวน คือ ศาลยุติธรรมซึ่งมีอำนาจเกี่ยวกับคดีอาญา แม้ผู้ฟ้องจะบรรยายฟ้องในทำนองว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ก็ตาม แต่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวก็เป็นเรื่องการสอบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดไปลงโทษทางอาญา เมื่อมีความเสียหายหรือข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่เกิดขึ้น ศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจในการตรวจสอบขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๔/๒๕๕๘

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนนทบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๗ นางสุรินทร์ เนตรพลับ ที่ ๑ นางสาวจินตนา เกษลักษณ์ ที่ ๒ นายจักรพันธ์ สรงภู่ ที่ ๓ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๔๕/๒๕๕๗ ความว่า นายเจิด สรงภู่ เป็นบุตรของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และเป็นบิดาของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ถูกจับกุมดำเนินคดีอาญาเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เวลาประมาณ ๒๒.๓๐ นาฬิกา ข้อหาพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต มีพันตำรวจโทชำนาญ วงศ์ศรีเผือก เป็นพนักงานสอบสวน ระหว่างที่นายเจิดถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องควบคุมผู้ต้องหาหรือห้องขังของสถานีตำรวจภูธรไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เวลาประมาณ ๐๓.๔๐ นาฬิกา ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้สถานีตำรวจภูธรไทรน้อย ขณะเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ตำรวจของสถานีตำรวจภูธรไทรน้อย สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่บนสถานีตำรวจหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้อยตำรวจตรี สมรัก เย็นสบาย เจ้าหน้าที่สิบเวร นั่งปฏิบัติหน้าที่เวรยามที่โต๊ะทำงานตั้งอยู่ในห้องควบคุมผู้ต้องหาหรือหน้าห้องขังขณะนั้น มีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องหาและเก็บรักษากุญแจห้องควบคุมผู้ต้องหา เมื่อเห็นอยู่แล้วว่าเพลิงที่ลุกไหม้กำลังลุกลามหรือไหม้ห้องควบคุมผู้ต้องหา ซึ่งตามอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ต้องหาที่อยู่ในห้องขัง อีกทั้งตามวิสัยและพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นจะต้องรีบเปิดประตูห้องควบคุมผู้ต้องหาหรือห้องขัง เพื่อนำตัวผู้ต้องหาออกมาให้พ้นจากอันตราย อันเป็นหน้าที่ของตนตามกฎหมายโดยตรงและหน้าที่ตามหลักมนุษยธรรมแต่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวกลับไปแจ้งเหตุเพลิงไหม้และรอรับคำสั่งจากพันตำรวจโท ชำนาญ วงศ์ศรีเผือก ต่อเมื่อได้รับคำสั่งแล้วจึงได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ต้องขังแต่ด้วยเหตุที่เวลาได้ล่วงเลยไปจนไม่อาจช่วยเหลือได้ทันท่วงที ทำให้เพลิงได้ลุกไหม้ห้องควบคุมผู้ต้องหาหรือห้องขัง เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาที่อยู่ในห้องขังในขณะนั้นทั้งหมดรวม ๔ คน ถูกไฟคลอกเสียชีวิตคาห้องขัง ซึ่งในจำนวนนั้นมีนายเจิด บุตรชายของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และเป็นบิดาของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ รวมอยู่ด้วย การเสียชีวิตของนายเจิด จึงเกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาตามกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ขณะเกิดเหตุสิบเวรผู้พบเหตุเพลิงไหม้และพยายามเข้าช่วยผู้ต้องหาในห้องควบคุมแต่ไม่สามารถช่วยได้ทัน เนื่องจากมีกลุ่มควันดำหนาทึบพร้อมไอความร้อนลอยออกมาจากห้องควบคุมผู้ต้องหาและลุกลามอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถไขกุญแจได้เพราะสำลักควันไฟและได้รับบาดเจ็บไฟลวกที่เส้นผมและมือ เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาเสียชีวิต ผลการตรวจที่เกิดเหตุเชื่อว่าสาเหตุเกิดจากการสะสมความร้อน อาร์คหรือสปาร์คที่ขายึดขั้วหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ติดอยู่กับคานคอนกรีตกลางห้องเก็บของ เมื่อพลาสติกขายึดขั้วหลอดได้รับความร้อนสะสมมากจนเกิดการลุกไหม้ลามไปยังห้องควบคุมผู้ต้องหาซึ่งอยู่ติดกัน จึงเป็นอุบัติเหตุที่ไม่สามารถควบคุมได้และไม่ได้เกิดจากความประมาทของเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ไม่อาจเรียกค่าเสียหายได้เนื่องจากไม่แน่ชัดว่าเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายหรือไม่ ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ บรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูและผู้ฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การตายของนายเจิดเกิดขึ้นขณะอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งได้จับกุมตัวนายเจิดมาดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย ความตายของนายเจิดหากเกิดความเสียหายขึ้นแก่บุคคลใดย่อมเป็นความเสียหายที่เกิดจากเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายบังคับให้ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงเป็นเรื่องขั้นตอนการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามฟ้องว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี จับกุมนายเจิด ทรงภู่ เพื่อดำเนินคดีอาญา ในระหว่างควบคุมตัวไว้ในห้องควบคุมผู้ต้องหาบนสถานีตำรวจภูธรไทรน้อย เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เวลาประมาณ ๐๓.๔๐ นาฬิกา ได้เกิดเหตุเพลิงลุกไหม้สถานีตำรวจภูธรไทรน้อย ขณะเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ตำรวจของสถานีตำรวจภูธรไทรน้อย สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่บนสถานีตำรวจหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้อยตำรวจตรี สมรัก เย็นสบาย เจ้าหน้าที่สิบเวร ได้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามอยู่ในขณะนั้น มีโต๊ะทำงานอยู่ในห้องควบคุมผู้ต้องหาหรือห้องขัง มีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องหาและเก็บรักษากุญแจห้องควบคุมผู้ต้องหา เมื่อเห็นอยู่แล้วว่าเพลิงที่ลุกไหม้กำลังลุกลามและไหม้ห้องควบคุมผู้ต้องหา ซึ่งตามอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ต้องหาที่อยู่ในห้องขัง อีกทั้งตามวิสัยและพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นจะต้องรีบเปิดประตูห้องควบคุมผู้ต้องหาหรือห้องขังเพื่อนำตัวผู้ต้องหาออกมาให้พ้นจากอันตราย อันเป็นหน้าที่ของตนตามกฎหมายโดยตรงและเป็นหน้าที่ตามหลักมนุษยธรรม แต่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวกลับไปแจ้งเหตุเพลิงไหม้และรอรับคำสั่งจากพันตำรวจโทชำนาญ วงศ์ศรีเผือก ต่อเมื่อได้รับคำสั่งแล้วจึงย้อนกลับไปช่วยเหลือผู้ต้องขัง แต่ด้วยเหตุที่เวลาได้ล่วงเลยไปจนไม่อาจช่วยเหลือได้ทันท่วงทีทำให้เพลิงได้ลุกไหม้ห้องควบคุมผู้ต้องหาหรือห้องขัง เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาที่อยู่ในห้องขังในขณะนั้นทั้งหมดรวม ๔ คน ถูกไฟคลอกเสียชีวิตคาห้องขัง ซึ่งในจำนวนนั้นมีนายเจิด สรงภู่ บุตรชายของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และเป็นบิดาของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ รวมอยู่ด้วย ผู้ฟ้องคดีทั้งสามจึงยื่นฟ้องต่อศาลเรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีจึงเห็นได้ว่า การฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามไม่ได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิด ที่เกิดจากการจับกุมหรือการคุมขังนายเจิดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากแต่เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิด อันเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ กรณีไม่รีบเปิดประตูห้องควบคุมผู้ต้องหาหรือห้องขัง เพื่อนำตัวผู้ต้องหาออกมาให้พ้นจากอันตราย ทั้งที่เห็นอยู่แล้วว่าขณะนั้นไฟกำลังลุกลามและไหม้ห้องควบคุมผู้ต้องหา และโดยที่หน้าที่ดังกล่าว เป็นหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ต้องหาที่อยู่ในห้องขัง ซึ่งเป็นหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันเป็นอำนาจหน้าที่ในทางปกครองโดยแท้และเป็นอำนาจหน้าที่ที่แยกต่างหากอย่างชัดเจนจากอำนาจในการจับกุม สอบสวนหรืออำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาในระหว่างการสอบสวนคดีอาญาที่พนักงานสอบสวนได้ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อนายเจิด ในข้อหาพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ใช่อำนาจตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่นำไปสู่การลงโทษผู้กระทำผิดในคดีอาญา คำฟ้องคดีนี้จึงมิใช่ข้อพิพาทจากการกระทำละเมิดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา หากแต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๔ บัญญัติว่า เจ้าพนักงานต้องเอาตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๘๓ โดยทันที และเมื่อถึงที่นั้นแล้วให้ส่งตัวผู้ถูกจับแก่พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไปและมาตรา ๘๗ บัญญัติว่า ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับเกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี การที่พันตำรวจโทชำนาญ วงศ์ศรีเผือก พนักงานสอบสวนและร้อยตำรวจตรีสมรัก เย็นสบาย ควบคุมตัวนายเจิดไว้ที่ห้องควบคุมสถานีตำรวจภูธรไทรน้อยจึงเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๔ และมาตรา ๘๗ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๗ วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวและมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวนหรือทำการฟ้องคดี ให้นำตัวผู้ถูกจับไปส่งศาลภายใน ๔๘ ชั่วโมง นับแต่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน นายเจิดถูกจับกุมเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เวลา ๒๒.๓๐ นาฬิกา ข้อหาพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และเหตุเพลิงไหม้สถานีตำรวจภูธรไทรน้อยเกิดเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เวลา ๐๓.๔๐ นาฬิกา ซึ่งนับแต่นายเจิดถูกจับกุมและควบคุมตัวจนกระทั่งเกิดเหตุเพลิงไหม้ยังไม่พ้นระยะเวลา ๔๘ ชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา ๘๗ วรรคสาม กำหนดให้พนักงานสอบสวนสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้เป็นระยะเวลา ๔๘ ชั่วโมง การที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ห้องควบคุมสถานีตำรวจภูธรไทรน้อย และเป็นเหตุให้นายเจิดถึงแก่ความตาย กรณีจึงเป็นการกระทำละเมิดซึ่งเกิดจากการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ ทั้งได้กำหนดให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิพากษาคดีอาญาในเรื่องนั้น ๆ เป็นศาลที่มีเขตอำนาจด้วย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ต้องหาถูกจับกุมดำเนินคดีอาญาและถูกควบคุมในห้องขังสถานีตำรวจภูธรไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เจ้าหน้าที่สิบเวรผู้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมและเก็บรักษากุญแจห้องขังพบเหตุเพลิงไหม้สถานีตำรวจ ตามอำนาจหน้าที่ต้องเปิดประตูห้องขังเพื่อนำตัวผู้ต้องหาออกมาให้พ้นจากอันตราย แต่กลับแจ้งเหตุและรอคำสั่งผู้บังคับบัญชาสั่งการแล้วจึงช่วยเหลือผู้ต้องหาในห้องขังทำให้เพลิงไหม้ห้องขังและผู้ต้องหาถูกไฟคลอกเสียชีวิตนั้น เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาตามกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินพร้อมดอกเบี้ย ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า สิบเวรผู้พบเหตุไม่สามารถช่วยได้ทันเนื่องจากสำลักควันไฟและได้รับบาดเจ็บไฟลวก สาเหตุเพลิงไหม้เกิดจากอุบัติเหตุและไม่ได้เกิดจากความประมาทของเจ้าหน้าที่รัฐ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า มูลความแห่งคดีสืบเนื่องมาจากพนักงานสอบสวนจับกุมผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาและถูกควบคุมตัวระหว่างสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาจนถึงแก่ความตายขณะอยู่ในอำนาจควบคุมของเจ้าหน้าที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๔/๑ บัญญัติให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาไปยังศาล ถ้าไม่อาจส่งไปได้ในขณะนั้น เนื่องจากเป็นเวลาที่ศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการ ให้พนักงานสอบสวนที่รับตัวผู้ถูกจับไว้มีอำนาจปล่อยผู้ถูกจับชั่วคราวหรือควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้จนกว่าจะถึงเวลาศาลเปิดทำการ อันเป็นขั้นตอนการดำเนินการที่กำหนดให้อำนาจพนักงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะโดยตรงเพื่อนำไปสู่การฟ้องคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญา และตามมาตรา ๒ (๑) ก็บัญญัติว่า “ศาล” หมายความถึงศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาซึ่งมีอำนาจเกี่ยวกับคดีอาญา ดังนั้นศาลที่มีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบการสอบสวนของพนักงานสอบสวน คือ ศาลยุติธรรมซึ่งมีอำนาจเกี่ยวกับคดีอาญา แม้ผู้ฟ้องจะบรรยายฟ้องในทำนองว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ก็ตาม แต่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวก็เป็นเรื่องการสอบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดไปลงโทษทางอาญา เมื่อมีความเสียหายหรือข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่เกิดขึ้น ศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจในการตรวจสอบขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสุรินทร์ เนตรพลับ ที่ ๑ นางสาวจินตนา เกษลักษณ์ ที่ ๒ นายจักรพันธ์ สรงภู่ ที่ ๓ ผู้ฟ้องคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share