คำวินิจฉัยที่ 32/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

วันเวลาที่เกิดเหตุมีผู้ก่อความรุนแรงใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิด ยิงใส่ฐานปฏิบัติการ ร้อย.ทพ.๔๓๐๒ มีการยิงตอบโต้กัน เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ซึ่งอยู่ในรถยนต์กระบะคันที่เกิดเหตุ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง เห็นว่า ขณะเกิดเหตุพิพาทในมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ และขณะเดียวกันรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งมาตรา ๑๖ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติให้ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง อันเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ไม่ให้ศาลปกครองมีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ส่วนมาตรา ๑๗ เป็นบทบัญญัติในเรื่องการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกกระทำละเมิด ซึ่งจะได้รับการเยียวยาหรือไม่ จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าการกระทำนั้นเป็นละเมิดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำละเมิดจึงจะได้รับการเยียวยา เมื่อการพิจารณาว่าการกระทำตามมาตรา ๑๖ นั้น เป็นละเมิดหรือไม่ อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม การพิจารณาความรับผิดผู้ที่กระทำละเมิดและการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายตามมาตรา ๑๗ จึงต้องได้รับการพิจารณาโดยศาลเดียวกัน ดังนั้นการที่โจทก์ทั้งห้า ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายได้บัญญัติยกเว้นอำนาจของศาลปกครองในการควบคุมตรวจสอบไว้ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๒/๒๕๕๘

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลปกครองสงขลา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดปัตตานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองสงขลาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๖ นายยา ดือราแม ที่ ๑ กับพวกรวม ๕ คน ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กองทัพบก ที่ ๑ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองสงขลา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๘/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง โดยเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๕ ขณะเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้ใช้อาวุธสงครามยิงใส่รถยนต์กระบะซึ่งมีผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้ขับและเป็นเจ้าของ โดยมีผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๕ และบุคคลอื่นนั่งโดยสารมาด้วย ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้รับอันตรายแก่กาย อนามัยและจิตใจอย่างสาหัสเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยราชการต้นสังกัด จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ในสังกัดได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ในวันเวลาที่เกิดเหตุผู้ก่อความรุนแรงใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิด ยิงใส่ฐานปฏิบัติการ ร้อย.ทพ.๔๓๐๒ จึงได้มีการสกัดเส้นทางที่เชื่อว่าคนร้ายจะหลบหนีภายหลังได้พบรถยนต์ต้องสงสัยและเข้าตรวจสอบรถยนต์คันดังกล่าวและให้คนในรถยนต์ลงจากรถ แต่รถยนต์คันดังกล่าวได้ขับถอยหลังลงเนินและมีคนกระโดดลงจากรถพร้อมมีเสียงปืนดังขึ้น จำนวน ๒ นัด และมีการยิงตอบโต้กัน เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ ๔๓ กองร้อยทหารพรานที่ ๔๓๐๒ ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยอำนาจกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงเป็นเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๒๓ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ มิได้กระทำด้วยความประมาทเลินเล่อ ทั้งยังมีการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายแล้ว จำนวนค่าเสียหายเกินจริงและไม่มีหลักฐาน ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๒๓ วรรคสอง ที่บัญญัติว่า การดำเนินคดีใด ๆ อันเนื่องมาจากข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามหมวดนี้ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อพิพาทในคดีนี้มีลักษณะเป็นคดีปกครองแม้มาตรา ๑๖ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้กำหนดให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองก็ตาม แต่การที่พระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีบทบัญญัติมาตรา ๑๗ เป็นอีกมาตราหนึ่งต่างหากและไม่ได้บัญญัติถ้อยคำกำหนดขอบเขตการบังคับใช้ว่าต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา ๑๖ ด้วย ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวยังคงเคารพและให้ความสำคัญต่อหลักการปกป้องคุ้มครองสิทธิของบุคคลอยู่เสมอ กรณีไม่อาจแปลความไปถึงขนาดที่ว่าการกระทำใดๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นความรับผิดของรัฐนั้น บุคคลผู้เสียหายจะถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิ โดยถูกจำกัดสิทธิหรือห้ามมิให้ฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง มาตรา ๑๗ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวได้รับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้ได้รับความเสียหายเอาไว้ โดยให้รัฐเป็นผู้รับผิดและให้การเรียกร้องค่าเสียหายเป็นไปตามกฎหมาย หลักที่กำหนดเรื่องนี้ไว้ อันได้แก่กฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหมายถึงการใช้สิทธิทางศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อันเป็นหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลในเรื่องความรับผิดของรัฐที่รับรองไว้อย่างชัดแจ้ง โดยมาตรา ๖๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ใช้บังคับขณะนั้น เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างตรงกันว่าเหตุพิพาทเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารที่ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ เห็นได้ว่า ไม่ได้มีบทบัญญัติเป็นการเฉพาะ ยกเว้นไม่ให้อยู่ในบังคับกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ส่วนบทบัญญัติมาตรา ๑๖ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวที่กำหนดมิให้บุคคลใดฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร อันเนื่องมาจากการปฏิบัติและดำเนินการตามกฎอัยการศึกนั้น เป็นเพียงบทบัญญัติที่คุ้มครองตัวเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ให้ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวจากการปฏิบัติงานเท่านั้น หาได้เป็นบทบัญญัติที่ลิดรอนหรือตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐหรือหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้ต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่อย่างใด
นอกจากนี้การใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องค่าเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ก็ดีหรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้กำหนดช่องทางให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉบับใด สามารถขอรับความช่วยเหลือจากรัฐตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด อันเป็นระบบการพิจารณาและการดำเนินการในทางปกครองโดยตรง ดังนั้นคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนข้อที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโต้แย้งว่า กรณีพิพาทที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการไปตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๒๓ วรรคสอง จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เป็นข้อโต้แย้งที่แตกต่างไปจากข้อเท็จจริงของเรื่องที่ปรากฏว่า พื้นที่ที่เกิดเหตุในคดีนี้อยู่ในจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นเขตท้องที่ที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ แล้วพื้นที่ในจังหวัดปัตตานีจึงมิได้มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามนัยมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่มีอำนาจ ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ทั้งยังเป็นข้อโต้แย้งที่ขัดกับคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเอง จึงไม่สมควรนำข้อโต้แย้งดังกล่าว มาเป็นสาระสำคัญในการวินิจฉัยในการพิจารณาเรื่องเขตอำนาจศาล คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดปัตตานีพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ เมื่อมีการฟ้องร้องดำเนินคดีจากมูลคดีดังกล่าว ย่อมต้องนำกฎหมายทั้งสองฉบับมาใช้บังคับ ทั้งยังเกี่ยวเนื่องกับพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งต้องนำมาบังคับใช้ร่วมด้วย ทั้งนี้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๒๓ บัญญัติว่า “บรรดาข้อกำหนดประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามหมวดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ” วรรคสอง บัญญัติว่า “การดำเนินคดีใดๆ อันเนื่องมาจากข้อกำหนดประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามหมวดนี้ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม” ความหมายของคำว่า “การดำเนินคดีใด ๆ” หมายถึง การดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ การสั่งรับฟ้องไปจนถึงการมีคำพิพากษาและการบังคับคดีตามคำพิพากษานั้นไม่อาจใช้วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้เลยและจะนำระเบียบอื่นใดที่มีฐานะรองจากที่กฎหมายบัญญัติมาตีความให้ผิดไปจากเจตนารมณ์ตามกฎหมายหลักว่า คดีอยู่ในอำนาจศาลใดนอกเหนือไปจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้ ศาลปกครองจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีเหล่านี้ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ ศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุพิพาท มาตรา ๒๑๘ บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงเว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้ หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนหรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ดังนั้น คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หากกฎหมายบัญญัติไม่ให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองหรือศาลอื่น คดีนั้นย่อมอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๘ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันเวลาที่เกิดเหตุมีผู้ก่อความรุนแรงใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิด ยิงใส่ฐานปฏิบัติการ ร้อย.ทพ.๔๓๐๒ มีการยิงตอบโต้กัน เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ซึ่งอยู่ในรถยนต์กระบะคันที่เกิดเหตุ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งได้ใช้อาวุธสงครามยิงใส่รถยนต์กระบะซึ่งมีผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้ขับ โดยมีผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๕ และบุคคลอื่นนั่งโดยสารมาด้วย เห็นว่าขณะเกิดเหตุพิพาทในคดีนี้ มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ และขณะเดียวกันรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งมาตรา ๑๖ แห่งพระราชกำหนด ดังกล่าวบัญญัติให้ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง อันเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ไม่ให้ศาลปกครองมีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ส่วนมาตรา ๑๗ เป็นบทบัญญัติในเรื่องการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกกระทำละเมิด ซึ่งจะได้รับการเยียวยาหรือไม่จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าการกระทำนั้นเป็นละเมิดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำละเมิดจึงจะได้รับการเยียวยา เมื่อการพิจารณาว่าการกระทำตามมาตรา ๑๖ นั้น เป็นละเมิดหรือไม่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม การพิจารณาความรับผิด ผู้ที่กระทำละเมิดและการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย ตามมาตรา ๑๗ จึงต้องได้รับการพิจารณา โดยศาลเดียวกัน ดังนั้นคดีนี้การที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายได้บัญญัติยกเว้นอำนาจของศาลปกครองในการควบคุมตรวจสอบไว้ ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายยา ดือราแม ที่ ๑ กับพวกรวม ๕ คน ผู้ฟ้องคดี กองทัพบก ที่ ๑ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share