คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1888/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เรื่องค่าเสียหายโจทก์บรรยายกล่าวไว้ในคำฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้อง จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ และตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนว่าจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวแม้จำเลยทั้งสามไม่ให้การต่อสู้ในเรื่องค่าเสียหาย ศาลก็อาจกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายได้ การชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 182, 183 ไม่ได้กำหนดว่าในคดีแต่ละเรื่องนั้นให้มีการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทได้เพียงครั้งเดียวจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมขึ้นมาในระหว่างการพิจารณาไม่ได้ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสาม ให้อำนาจศาล เมื่อศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นการจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติม ให้ศาลทำการสืบพยานหลักฐานต่อไป ซึ่งอาจรวมทั้งการที่จะเรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่ด้วย โดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ขึ้นในระหว่างการพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าในการชี้สองสถานครั้งแรกกำหนดประเด็นไว้ไม่ครบถ้วน และกำหนดให้โจทก์จำเลยนำสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นที่กำหนดเพิ่ม ไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการสืบพยานแต่อย่างใดจึงชอบแล้ว
การฟ้องขับไล่เป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของทรัพย์ปกป้องทรัพย์สินของตนไม่ให้จำเลยทั้งสามซึ่งไม่มีสิทธิเข้าเกี่ยวข้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีกำหนดอายุความ ส่วนการเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 มีกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และการนับอายุความนั้น ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทั้งสามอยู่ในที่ดินที่จำเลยที่ 1 นำมาขายฝากแก่โจทก์มาโดยตลอด เมื่อโจทก์อ้างว่าครบกำหนดไถ่คืนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ไถ่คืน และโจทก์บอกกล่าวให้ออกไปจากที่ดินแล้วจำเลยทั้งสามไม่ยอมออกไปเป็นการอยู่โดยละเมิด ฉะนั้นตราบใดที่จำเลยทั้งสามไม่ยอมออกไป การละเมิดก็ยังคงมีอยู่ อายุความย่อมยังไม่เริ่มนับจนกว่าจะหยุดการทำละเมิดคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากให้แก่โจทก์โดยมีเงื่อนไขว่าให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนการขายฝากภายใน 3 เดือน นับแต่วันจดทะเบียนการขายฝาก แต่จำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอนการขายฝากในกำหนด ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังร่วมกันครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิและนำที่ดินไปให้จำเลยที่ 3 เช่า โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสามออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าวและให้ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยเป็นการละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามออกไปจากที่ดินดังกล่าว และส่งมอบการครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ก่อนครบกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนการขายฝากดังกล่าวจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไถ่ถอนการขายฝากที่ดินทั้งสองแปลง โดยจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ไถ่ถอนการขายฝากให้แก่บิดาโจทก์ และโจทก์ก็รู้เห็นยินยอม ซึ่งเช็คฉบับดังกล่าวโจทก์เรียกเก็บเงินได้แล้ว ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ไถ่ถอนที่ดินที่ขายฝากในกำหนดเวลา แต่สำหรับที่ดินของจำเลยที่ 1 โจทก์ยังไม่ได้ไปทำการจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เนื่องจากจำเลยที่ 1 กับบิดาโจทก์และโจทก์ยังประกอบกิจการค้าขาย พึ่งพาซึ่งกันและกันมีความไว้วางใจกัน การที่จำเลยที่ 1 ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทเป็นการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินของตนเอง โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วเนื่องจากโจทก์มิได้ใช้สิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันทำละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ไปทำการจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากหากโจทก์ไม่ยอมขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนการขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จริง แต่ชำระหนี้ไถ่ถอนการขายฝากแล้วโดยยังมิได้จดทะเบียนไถ่ถอน จำเลยที่ 3 มิใช่ผู้เช่าที่ดินเพียงแต่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเท่านั้น โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากที่ดินพิพาท ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ไม่ได้ฟ้องภายใน 1 ปี ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระหนี้ไถ่ถอนการขายฝากให้แก่โจทก์ จึงยังไม่มีการจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากให้แก่จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามออกจากที่ดิน และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ในศาลชั้นต้น กับค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากที่ดินให้แก่โจทก์ กำหนดไถ่ถอนภายใน 3 เดือน มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสาม ประการแรกว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมว่าค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใดนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เรื่องค่าเสียหายโจทก์บรรยายกล่าวไว้ในคำฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องไว้ จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ และตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนว่าจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวแม้จำเลยทั้งสามไม่ให้การต่อสู้ในเรื่องค่าเสียหาย ศาลก็อาจกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายได้ การชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 182, 183 ไม่ได้กำหนดว่าในคดีแต่ละเรื่องนั้นให้มีการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทได้เพียงครั้งเดียวจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมขึ้นมาในระหว่างการพิจารณาไม่ได้ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสาม ให้อำนาจศาล เมื่อศาล เห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นการจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติม ให้ศาลทำการสืบพยานหลักฐานต่อไป ซึ่งอาจรวมทั้งการที่จะเรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่ด้วย โดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ขึ้นในระหว่างการพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าในการชี้สองสถานครั้งแรกกำหนดประเด็นไว้ไม่ครบถ้วน และกำหนดให้โจทก์จำเลยนำสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นที่กำหนดเพิ่ม ไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการสืบพยานแต่อย่างใด
ประการที่สอง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องขอให้ขับไล่ฐานละเมิดและเรียกค่าเสียหาย ไม่ได้บังคับตามสัญญาขายฝากหรือกล่าวหาว่าผิดสัญญาอันจะต้องกล่าวระบุรายละเอียดในข้อสัญญา โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายฟ้องเกี่ยวกับราคาขายฝากและสินไถ่ ฟ้องโจทก์เท่าที่บรรยายฟ้องมาได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง จึงไม่เคลือบคลุม
ประการที่สาม คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขายฝากที่ดินแล้วไม่ไถ่คืนและไม่ยอมออกไปจากที่ดินนั้น เป็นการอยู่โดยละเมิด ทำให้โจทก์เสียหาย การฟ้องขับไล่นั้นเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของทรัพย์ปกป้องทรัพย์สินของตนไม่ให้จำเลยทั้งสามซึ่งไม่มีสิทธิเข้าเกี่ยวข้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีกำหนดอายุความ ส่วนการเรียกค่าเสียหายนั้นเป็นการเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 มีกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และการนับอายุความนั้น ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทั้งสามอยู่ในที่ดินที่จำเลยที่ 1 นำมาขายฝากแก่โจทก์มาโดยตลอด เมื่อโจทก์อ้างว่าครบกำหนดไถ่คืนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ไถ่คืนและโจทก์บอกกล่าวให้ออกไปจากที่ดินแล้วจำเลยทั้งสามไม่ยอมออกไปเป็นการอยู่โดยละเมิด ฉะนั้น ตราบใดที่จำเลยทั้งสามไม่ยอมออกไป การละเมิดก็ยังคงมีอยู่ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ประการสุดท้าย พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยทั้งสาม ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คให้แก่บิดาโจทก์ชำระหนี้ค่าสุกรเมื่อปี 2524 ก่อนมีการขายฝากที่ดินพิพาท ไม่ใช่เช็คชำระหนี้ไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสิทธิของโจทก์
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share