คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1329/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.บุตรชายโจทก์ต่อมาส. ขายที่ดินพิพาทให้แก่น้องชาย ส.แล้วน้องชายส. ขายให้โจทก์ จำเลยและบุตรสาวโจทก์เป็นสามีภรรยากัน ก่อนที่จำเลยและบุตรสาวโจทก์จะแต่งงานกัน จำเลยได้ออกเงินปลูกเรือนหอในที่ดินพิพาทซึ่ง ขณะนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.โดยบุตรสาวโจทก์เป็นผู้ขออนุญาตส. และโจทก์ยินยอมอนุญาตให้ จำเลยปลูกเรือนหอได้ ต่อมาจำเลยกับน้องภรรยาจำเลยเกิดทะเลากัน ภรรยาจำเลย โจทก์และญาติโจทก์ที่อยู่อาศัยในเรือนหอพากันออกไปจากเรือนหอ แล้วโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนเรือนหอออกไปจากที่ดินโจทก์ ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทไม่มีความประสงค์จะให้เรือนหอของจำเลยปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ต่อไป ก็ย่อมมีอำนาจขับไล่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336
แม้โจทก์จะเคยให้ความยินยอมร่วมกับ ส. อนุญาตให้จำเลยปลูกเรือนหอลงในที่ดิน ก็ไม่มีผลผูกพันโจทก์และไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินในภายหลัง
ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 ที่เกี่ยวกับเรือนหอนั้น เป็นบทบัญยัติพิเศษยกเว้นกฎหมายลักษณะทรัพย์ ไม่ให้ถือว่าเรือนหกที่ชายปลูกลงในที่ดินของฝ่ายหญิงตกเป็นส่วนควบของที่ดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายหญิงผู้เป็นเจ้าของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 107 โดยให้ถือว่าเรือนหอนั้นเป็นกรรมสิทธิ์และสินเดิมของชายและเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา มิใช่เป็นบทบัญญัติตัดทอนอำนาจกรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินให้ลดน้อยลงแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาจากนายสมพร กูรมะโรหิต จำเลยได้ปลูกบ้านในที่ดินดังกล่าวโดยไม่มีสัญญาเช่า โจทก์ไม่มีความประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์อีกต่อไปจึงได้มอบอำนาจให้ทนายโจทก์บอกกล่าว ให้จำเลยรื้อบ้านดังกล่าวออกไปจากที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมรื้อถอนออกไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรื้อถอนบ้านดังกล่าวและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยและภริยาของจำเลยซึ่งเป็นบุตรสาวของโจทก์ตกลงที่จะทำการสมรสกัน โจทก์ตกลงจะยกที่ดินแปลงพิพาทให้แก่ภริยาจำเลย ให้จำเลยถมดินและปลูกบ้านลงในที่พิพาทโดยใส่ชื่อภริยาจำเลย เมื่อปลูกบ้านเสร็จ จำเลยและภริยาให้ทำการสมรสกันและอยู่กินกันในบ้านหลังนี้ตลอดมา เหตุที่จำเลยไม่ทวงถามหรือเร่งรัดให้โจทก์โอนที่พิพาทให้เพราะเกรงว่าจะผิดพ้องหมองใจกัน ต่อมาจำเลยยากจนลงเกิดระหองระแหงในครอบครัวโจทก์พลอยโกรธเคืองจำเลยไปด้วย และถือเอาเป็นสาเหตุขับไล่จำเลยโจทก์ไม่ได้เสียหายดังฟ้อง และโจทก์ฟ้องผิดตัว ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์

ศาลชั้นต้นเห็นว่า การปลูกเรือนหอในที่ดินของฝ่ายหญิงไม่ใช่เป็นการอาศัยอย่างธรรมดา กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 เมื่อจำเลยและบุตรสาวของโจทก์ยังมิได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 เป็นเรื่องการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ไม่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก จำเลยอาศัยที่ดินของบุคคลอื่นปลูกเรือนหอโดยไม่ได้จดทะเบียนอาศัยไว้ ต่อมากรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นตกมาเป็นของโจทก์เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่อาศัย และได้บอกกล่าวให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะอยู่ในที่พิพาทได้ พิพากษากลับให้จำเลยรื้อถอนเรือนพิพาทออกจากที่ดินโจทก์ และให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 200 บาทนับแต่วันฟ้อง

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนายสมศักดิ์บุตรโจทก์แล้วนายสมศักดิ์ขายให้แก่นายสมพรน้องชาย ต่อมาวันที่18 ธันวาคม 2518 โจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนายสมพร การซื้อขายได้ทำหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายบ้านพิพาทเลขที่ 70 เป็นเรือนหอปลูกลงในที่ดินพิพาทก่อนที่จำเลยและนางสมศรีบุตรสาวโจทก์จะได้แต่งงานกัน จำเลยเป็นผู้ออกเงินค่าปลูกสร้างแต่ให้นางสมศรีเป็นผู้ขออนุญาตปลูก ขณะปลูกสร้างที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสมศักดิ์ นายสมศักดิ์และโจทก์ยินยอมอนุญาตให้จำเลยปลูกเรือนหอ เมื่อปลูกเสร็จจำเลยและนางสมศรีภริยา โจทก์และญาติฝ่ายโจทก์ได้เข้าอยู่อาศัยด้วยต่อมาจำเลยกับน้องภริยาจำเลยเกิดทะเลาะกัน ภริยาจำเลย โจทก์และญาติโจทก์ทุกคนพากันออกไปจากบ้านดังกล่าวหมด คงเหลือแต่จำเลยผู้เดียว ขณะนี้จำเลยกับภริยายังไม่ได้หย่าขาดจากกันโจทก์ออกจากบ้านไปแล้วก็ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โดยโจทก์ถือว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ก่อนฟ้องจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้รื้อถอนบ้านเลขที่ 70 ซึ่งเป็นเรือนหอออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์แล้ว

ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ซึ่งมีเรือนหอของจำเลยปลูกอยู่ เมื่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่พิพาทไม่มีความประสงค์จะให้เรือนหอของจำเลยปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ต่อไปก็ย่อมมีอำนาจขับไล่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ส่วนที่โจทก์เคยให้ความรู้เห็นยินยอมร่วมกับนายสมศักดิ์อนุญาตให้จำเลยปลูกเรือนหอลงในที่ดิน ซึ่งขณะนั้นยังเป็นของนายสมศักดิ์อยู่นั้น หามีผลผูกพันโจทก์ไม่ เพราะในขณะนั้นโจทก์ยังไม่มีกรรมสิทธิ์หรือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกับนายสมศักดิ์แต่อย่างใดคำยินยอมอนุญาตของโจทก์ในกรณีเช่นนี้ ไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินในภายหลัง ที่จำเลยฎีกาว่าจะต้องนำมาตรา 1516 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับคดีนี้โดยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่ามาตรา 1516 เป็นบทบัญญัติพิเศษยกเว้นกฎหมายลักษณะทรัพย์ไม่ให้ถือว่าเรือนหอที่ชายปลูกลงในที่ดินของฝ่ายหญิงตกเป็นส่วนควบของที่ดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายหญิงผู้เป็นเจ้าของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 107 โดยให้ถือว่าเรือนหอนั้นเป็นกรรมสิทธิ์และสินเดิมของชาย และนอกจากนี้บทบัญญัติมาตรา 1516 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา และมิใช่เป็นบทบัญญัติตัดทอนอำนาจกรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินให้ลดน้อยลงแต่อย่างใดเลยด้วย จึงนำมาตรา 1516 มาปรับว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยและภริยายังไม่ได้หย่าขาดจากกันนั้นหาได้ไม่ เพราะเป็นคนละเรืองกันคดีนี้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทประสงค์ให้จำเลยรื้อถอนเรือนหอออกไปจากที่ดินโจทก์ ได้บอกกล่าวและให้เวลาแก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยก็ไม่ปฏิบัติตาม จึงเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ 200 บาทนั้นศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าสูงเกินไป ตามพฤติการณ์แห่งคดีสมควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ 50 บาทเท่านั้น

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะค่าเสียหายเป็นให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ 50 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share