คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 50/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยแทงผู้เสียหายเนื่องจากจำเลยโกรธผู้เสียหายที่ไม่ยอมรับผิดชอบต่อจำเลยและไม่ยอมเจรจากับจำเลยโดยดีถึงเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว กรณีที่เกิดแทงกันขึ้นจึงมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่เป็นการบันดาลโทสะ การที่จำเลยใช้อาวุธมีดปลายแหลม ซึ่งมีความยาวส่วนใบมีด5 นิ้วครึ่ง ความกว้างตรงส่วนกลางของใบมีด 1 นิ้วแทงถูกผู้เสียหายที่ท้องลึก 2 เซนติเมตร ซึ่งความลึกส่วนนี้แม้ไม่ถึงอวัยวะภายในที่จะเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายได้ก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีจำเลยไปล้มนอนหงาย จำเลยได้ติดตามไปนั่งคร่อมผู้เสียหายแล้วเงื้อมีดจะแทงผู้เสียหายอีก แต่ผู้เสียหายจับมือของจำเลยไว้ทันแล้วแย่งมีดกัน โดยมีบุคคลอื่นได้มาช่วยแย่งมีดด้วยซึ่งหากผู้เสียหายจับมือของจำเลยไม่ได้ จำเลยจะต้องแทงผู้เสียหายที่บริเวณอกและอาจทะลุถึงอวัยวะภายในซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญและอาจเป็นผลให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย การที่ผู้เสียหายและบุคคลอื่นมาช่วยแย่งเอามีดไปจากจำเลยได้ทันทำให้การกระทำของจำเลยไม่บรรลุผลดังเจตนาของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80จำเลยให้การว่าจำเลยแทงผู้เสียหายเนื่องจากบันดาลโทสะศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 จำคุก 10 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือนจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2528 จำเลยได้ใช้อาวุธมีดปลายแหลมของกลางแทงนายวิริยะ สารีพุฒ ผู้เสียหายที่บริเวณท้องและที่ต้นแขนขวา ปรากฏตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.2 ปัญหาแรกมีว่า จำเลยแทงผู้เสียหายโดยบันดาลโทสะเนื่องจากถูกผู้เสียหายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ ที่ผู้เสียหายเบิกความว่า จำเลยมีสาเหตุกับผู้เสียหายเนื่องจากจำเลยไปคุยกับนายชนิด ซึ่งเป็นครูใต้บังคับบัญชาของผู้เสียหายในห้องเรียน ผู้เสียหายจึงเรียกนายชนิดมาต่อว่าและทำเรื่องย้าย จำเลยจึงโกรธผู้เสียหายนั้น เห็นว่า นายชนิดได้ย้ายไปรับราชการเป็นครูที่โรงเรียนอื่นในอำเภอลาดยาวจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งยังอยู่ในเขตอำเภอของโรงเรียนเดิมและสาเหตุนี้ไม่มีเหตุผลที่จะฟังว่า จำเลยซึ่งไม่ปรากฏว่ามีความสัมพันธ์กับนายชนิดในลักษณะใดจะต้องโกรธแค้นผู้เสียหายถึงขั้นจะต้องแทงผู้เสียหาย แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความจากนายปรีชา กะระกลพยานโจทก์ซึ่งเป็นศึกษานิเทศก์ประจำสำนักงานประถมศึกษาอำเภอลาดยาวจังหวัดนครสวรรค์ ว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2528 จำเลยร้องเรียนต่อนายปรีชาว่า ผู้เสียหายข่มขืนกระทำชำเราจำเลยแต่ในวันนั้นนายปรีชาไปราชการ จำเลยจึงให้ถ้อยคำต่อนายสุรพล กมุตทชาติ โดยมอบเงินจำนวน 500 บาท ไว้ด้วยต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2528 นายปรีชาเจรจาไกล่เกลี่ยจำเลยกับผู้เสียหายแล้ว จำเลยตกลงไม่เอาความกับผู้เสียหายการร้องเรียนของจำเลยดังกล่าวได้มีขึ้นก่อนจำเลยแทงผู้เสียหายเมื่อจำเลยแทงผู้เสียหายและเจ้าพนักงานจับจำเลยได้และร้อยตำรวจตรีวีรศักดิ์ ทองสาริ รองสารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอลาดยาวได้สอบสวนจำเลยในวันเกิดเหตุ ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เอกสารหมาย จ.4 จำเลยก็ได้ให้การถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายซึ่งตรงกับทางนำสืบของจำเลยว่าผู้เสียหายได้ข่มขืนกระทำชำเราจำเลย ข้อเท็จจริงจึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า สาเหตุระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายเคยร่วมประเวณีกับจำเลยมาก่อน หาใช่มีสาเหตุจากการย้ายนายชนิดดังคำเบิกความของผู้เสียหายไม่ ต่อมาในวันเกิดเหตุ จำเลยมาดักพบผู้เสียหายแล้วนั่งรถของผู้เสียหายไป ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยประสงค์จะเจรจากับผู้เสียหายถึงเรื่องที่ผู้เสียหายนำเรื่องไปพูดประจานและเรื่องที่ผู้เสียหายไม่ยอมรับผิดชอบต่อจำเลย แล้วมีการโต้เถียงกันโดยผู้เสียหายไม่ยอมรับผิดชอบ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าผู้เสียหายนำเรื่องไปประจานเป็นคำเบิกความของจำเลยเพียงผู้เดียว ไม่ปรากฏผู้เสียหายไปพูดประจานต่อบุคคลใด ทั้งนายคงเกิดศรี และนางมุกดา ศรีตะลหฤทัย พยานโจทก์เบิกความว่าได้ยินเสียงจำเลยพูดกับผู้เสียหายว่า ลงมาพูดกันก่อน มาพูดกันให้รู้เรื่อง ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ดังนั้น สาเหตุที่แท้จริงที่จำเลยแทงผู้เสียหายจึงเป็นเรื่องที่จำเลยโกรธผู้เสียหายที่ไม่ยอมรับผิดชอบต่อจำเลยและไม่ยอมเจรจากับจำเลยโดยดีถึงเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมการกระทำของจำเลยไม่ใช่เป็นการบันดาลโทสะดังข้อฎีกาของจำเลย
ปัญหาต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยได้ใช้อาวุธมีดปลายแหลมของกลางซึ่งมีความยาวส่วนใบมีด 5 นิ้วครึ่ง ความกว้างตรงส่วนกลางของใบมีด 1 นิ้ว แทงถูกผู้เสียหายถูกที่ท้องลึก 2 เซนติเมตรนายปราโมทย์ เกียงตันติวงศ์ แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลและรักษาผู้เสียหายเบิกความว่าความลึกส่วนนี้ไม่ถึงอวัยวะภายในที่จะเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายได้ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีจำเลยไปล้มนอนหงายที่กองแกลบนั้น จำเลยได้ติดตามไปนั่งคร่อมผู้เสียหายแล้วเงื้อมีดจะแทงผู้เสียหายอีกแต่ผู้เสียหายจับมือของจำเลยไว้ได้ทันแล้วแย่งมีดกัน โดยนายคงพยานโจทก์ได้มาช่วยแย่งด้วย หากผู้เสียหายจับมือของจำเลยไม่ได้ก็ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยจะต้องแทงผู้เสียหายที่บริเวณอกและอาจทะลุถึงอวัยวะภายในซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญทั้งสิ้นและอาจเป็นผลให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย การที่ผู้เสียหายจับมือจำเลยไว้และนายคงมาช่วยแย่งเอามีดไปจากจำเลยเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่บรรลุผลดังเจตนาของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share