คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1375/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับโดยพลการมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายแม้ข้อบังคับใหม่จะเป็นคุณแก่ลูกจ้างโดยส่วนรวมยิ่งกว่าข้อบังคับเดิมแต่ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินบำเหน็จไม่เป็นคุณแก่โจทก์ดังนั้นข้อบังคับส่วนที่เกี่ยวกับเงินบำเหน็จจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามสำนวนเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาโจทก์สำนวนแรกและสำนวนที่สามลาออกจากงาน โจทก์สำนวนที่สองออกจากงานเพราะเกษียณอายุ โจทก์ทั้งสามสำนวนมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามคำสั่งที่ 46/2506 ของจำเลย แต่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้ไม่ครบถ้วน และไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์สำนวนที่สอง ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จที่ขาดแก่โจทก์ทั้งสามสำนวนและจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์สำนวนที่สอง กับให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยของเงินบำเหน็จและค่าชดเชยแก่โจทก์สำนวนที่สองและที่สาม

จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า เดิมจำเลยใช้ข้อบังคับอยู่ 2 ฉบับคือ คำสั่งที่ 46/2506 ใช้กับพนักงานรายเดือนประจำ และคำสั่งที่ 19/2510 ใช้กับคนงานรายวันหรือคนงานเหมาเดือน แต่ข้อบังคับดังกล่าวไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้างของจำเลยจำเลยกับลูกจ้าง จึงร่วมกันเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับใหม่โดยยกเลิกข้อบังคับเดิมและใช้คำสั่งที่ 34/2520 แทน แม้ข้อบังคับฉบับนี้จะมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ ก็ตาม แต่ก็เป็นคุณแก่ลูกจ้างโดยส่วนรวม ทั้งจำเลยถือเป็นหลักปฏิบัติเป็นเวลา 5 ปี แล้ว ไม่มีลูกจ้างคนใดโต้เถียงจึงมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสามสำนวน เมื่อจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์สำนวนแรกและสำนวนที่สามครบถ้วนตามคำสั่งที่ 34/2520 แล้วโจทก์สำนวนแรกและสำนวนที่สามจะเรียกเงินบำเหน็จเพิ่มโดยอาศัยข้อบังคับเดิมซึ่งยกเลิกไปแล้วหาได้ไม่ อย่างไรก็ตาม ถ้าโจทก์สำนวนที่สามมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามคำสั่งที่ 46/2506 โจทก์สำนวนที่สามมีอายุการทำงานไม่ถึงตามฟ้อง ส่วนโจทก์สำนวนที่สองเป็นลูกจ้างประเภทคนงานเหมาเดือน ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ ตามคำสั่งที่ 46/2506 คงมีสิทธิแต่ได้รับเงินชดเชยตามคำสั่งที่ 19/2510 จำเลยจ่ายเงินชดเชยตามข้อบังคับดังกล่าวให้แก่โจทก์สำนวนที่สองครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินบำเหน็จหรือค่าชดเชยอีก ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวน

วันนัดพิจารณา โจทก์สำนวนที่สองสละข้อเรียกร้องเรื่องเงินบำเหน็จคงติดใจเรียกร้องเฉพาะค่าชดเชย โจทก์สำนวนแรกกับจำเลยรับกันว่า ถ้าโจทก์สำนวนแรกมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามคำสั่งที่ 46/2506 จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จขาดตามฟ้องจริง คู่ความแถลงรับกันว่าคำสั่งที่ 34/2520 ซึ่งจำเลยใช้ในปัจจุบันเป็นคุณแก่ลูกจ้างโดยส่วนรวมยิ่งกว่าคำสั่งที่ 46/2506

ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยว่า คำสั่งที่ 34/2520 จำเลยกระทำขึ้นโดยพลการ แต่ก็เป็นคุณแก่ลูกจ้างส่วนใหญ่จึงมีผลผูกพันโจทก์ เมื่อจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์สำนวนแรกและสำนวนที่สามครบถ้วนตามข้อบังคับดังกล่าวแล้ว โจทก์สำนวนแรกและสำนวนที่สามไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินบำเหน็จเพิ่ม ส่วนโจทก์สำนวนที่สองซึ่งรับเงินตามคำสั่งที่ 19/2510 นั้น ถือว่าเป็นค่าชดเชยโจทก์สำนวนที่สองไม่มีสิทธิเรียกร่าชดเชยอีก พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวน

โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 20 บัญญัติโดยชัดแจ้งว่า ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานจะเป็นคูรแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับโดยพลการ มิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ ทั้งข้อบังคับใหม่ที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขเกี่ยวกับเงินบำเหน็จมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของโจทก์สำนวนแรกและสำนวนที่สามที่มีอยู่แล้วโดยโจทก์ทั้งสองสำนวนจะได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับใหม่น้อยกว่าข้อบังคับเดิมแม้ข้อบังคับใหม่จะเป็นคุณแก่ลูกจ้างโดยส่วนรวมยิ่งกว่าข้อบังคับเดิม แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินบำเหน็จไม่เป็นคุณแก่โจทก์สำนวนแรกและสำนวนที่สาม ดังนั้น ข้อบังคับตามคำสั่งที่ 34/2520 ส่วนที่เกี่ยวกับเงินบำเหน็จ จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์สำนวนแรกและสำนวนที่สาม การจ่ายเงินบำเหน็จจึงต้องจ่ายตามข้อบังคับตามคำสั่งที่ 46/2506 สำหรับโจทก์สำนวนแรกจำเลยยอมรับแล้วว่าถ้าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามคำสั่งที่ 16/2506 จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จขาดตามฟ้องจริง จำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จเพิ่มให้แก่โจทก์สำนวนแรกตามฟ้อง ส่วนโจทก์สำนวนที่สามจำเลยให้การโต้เถียงเรื่องอายุของการทำงาน และอายุของการทำงานเป็นเกณฑ์ซึ่งจะต้องนำมาคำนวณเงินบำเหน็จ แต่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริง จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงในข้อนี้

ถึงแม้ข้อบังคับตามคำสั่งที่ 19/2510 จะจั่วหัวข้อว่า เงินชดเชยเนื่องจากถูกเลิกจ้าง แต่เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการจ่ายเงินตามข้อบังคับแตกต่างจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ดังนั้น เงินที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์สำนวนที่สองจึงเป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ไม่ใช่ค่าชดเชย จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์สำนวนที่สองตามฟ้อง

พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จเพิ่มแก่โจทก์สำนวนแรกและให้จ่ายค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์สำนวนที่สอง กับให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเกี่ยวกับโจทก์สำนวนที่สาม ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงเรื่องอายุการทำงานของโจทก์สำนวนที่สาม แล้วคำนวณเงินบำเหน็จเพิ่มและพิพากษาใหม่

Share