คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4170/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือการร้องขอซ้ำนั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายล้มละลายส่วนที่ว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาองค์กรทางธุรกิจไว้และเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรมซึ่งจะได้รับชำระหนี้จำนวนไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามมาตรา 90/4 นั้น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลาย การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีฟื้นฟูกิจการ โดยผู้ร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีหนึ่งถือเสมือนว่าเป็นการกระทำแทนบุคคลอื่นๆ ด้วย หากมีการร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยอ้างมูลเหตุเดิมหรือช่องทางในการฟื้นฟูกิจการเดียวกันก็ย่อมเป็นการร้องขอซ้ำได้เช่นกัน
ในการร้องขอฟื้นฟูกิจการคดีนี้ผู้ร้องได้อ้างเหตุในการร้องขอฟื้นฟูกิจการว่า ลูกหนี้ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวและการเปลี่ยนค่าเงินบาทในปี 2540 ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น มูลเหตุในการร้องขอฟื้นฟูกิจการคดีนี้เป็นเหตุที่มีการร้องขอฟื้นฟูกิจการมาแล้วในคดีแรก แม้ว่าผู้ร้องขอคดีนี้จะไม่ได้เป็นผู้ร้องขอเองก็ตาม แต่เมื่อคดีแรกศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ อันมีผลทำให้เจ้าหนี้ต้องถูกปรับยอดหนี้ลงมาและมีสิทธิเรียกร้องเฉพาะหนี้ที่ค้างอยู่ตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งหลังจากศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว ก็ไม่ปรากฏเหตุใหม่ในสาระสำคัญที่ทำให้ลูกหนี้หรือผู้ร้องขอมีสิทธิร้องขอฟื้นฟูกิจการได้อีก ทั้งศาลวินิจฉัยในคดีแรกมาแล้วว่าลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้และในคดีแรกมีการดำเนินกระบวนพิจารณาจนกระทั่งศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเช่นนี้ การที่เจ้าหนี้มายื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีนี้อีก จึงเป็นการร้องขอซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
นอกจากนี้ยังปรากฏว่าในการร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีที่สามนั้น ธนาคาร ส. ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการซึ่งเป็นผู้รับโอนจากห้าธนาคารในประเทศในขณะที่คดีแรกอยู่ระหว่างพิจารณาชั้นอุทธรณ์ การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีที่สามจึงเป็นการร้องขอซ้อนและดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแรกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 และมาตรา 144 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 และการที่ผู้ร้องขอมายื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีนี้โดยเหตุทำนองเดียวกับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการคดีที่สามอีก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีที่สาม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

ย่อยาว

ผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และมีคำสั่งตั้งบริษัทพีซีแอล แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน หากว่ายังไม่สามารถมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนได้ให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้บริหารชั่วคราว
ผู้คัดค้านทั้งหกยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งยกคำร้องขอ
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และแต่งตั้งบริษัทพีซีแอล แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/10 และ 90/17 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งหกอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ก่อนที่ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการคดีนี้เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2554 เคยมีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มาก่อนแล้ว 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 คดีหมายเลขดำที่ ฟ.14/2542 คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.12/2542 ซึ่งธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอ ในคดีดังกล่าวปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและมีการปฏิบัติครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผน และต่อมาศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/70 วรรคสอง เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2551 ครั้งที่ 2 คดีหมายเลขดำที่ ฟ.6/2551 คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.48/2551 ลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของตนเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน แต่ปรากฏว่าผู้ทำแผนไม่สามารถเสนอแผนฟื้นฟูกิจการได้ภายในกำหนดและศาลได้มีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 ครั้งที่ 3 คดีหมายเลขดำที่ ฟ.4/2553 คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.24/2553 ธนาคารสแตนดาร์ด พีแอลซีได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องขอคดีดังกล่าวได้รับโอนหนี้สินของลูกหนี้จากธนาคารสแตนดาร์ด เอเชีย จำกัด ซึ่งรับโอนมาจากห้าธนาคารในประเทศไทยซึ่งรวมถึงธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ด้วย เมื่อคดีแรกธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับลูกหนี้เป็นผู้ร้องขอและคดีแรกอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ดังนั้นการที่ผู้ร้องขอคดีดังกล่าวซึ่งเป็นผู้รับโอนหนี้มาจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มายื่นคำร้องอีก จึงเป็นการร้องซ้อนและดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำทั้งสองคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173, 144 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ให้ยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีดังกล่าว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีนี้ เป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาซ้ำหรือเป็นการร้องขอซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และมาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือการร้องขอซ้ำนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ที่ว่านำมาใช้โดยอนุโลมนั้นหมายความว่า นำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับกฎหมายล้มละลายส่วนที่ว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไว้ในมาตรา 144 ว่า “เมื่อศาลใดได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น” และบัญญัติเรื่องการฟ้องซ้ำหรือร้องซ้ำไว้ในมาตรา 148 ว่า “คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัย โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน…” บทบัญญัติของกฎหมายล้มละลายส่วนที่ว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาองค์กรทางธุรกิจไว้และเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรม ซึ่งจะได้รับชำระหนี้จำนวนไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย นอกจากนี้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/8 บัญญัติว่า “ผู้ร้องขอจะถอนคำร้องขอไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต แต่ถ้าศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้ ในกรณีที่ผู้ร้องขอทิ้งคำร้องขอ หรือขาดนัดพิจารณา หรือศาลอนุญาตให้ถอนคำร้องขอ ก่อนที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับ เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายและลูกหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน” และมาตรา 90/9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอแล้ว ให้ดำเนินการไต่สวนเป็นการด่วน… กับให้ส่งสำเนาคำร้องขอให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบ…” จากวัตถุประสงค์และหลักกฎหมายจึงเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามมาตรา 90/4 นั้น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลาย การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีฟื้นฟูกิจการโดยผู้ร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีหนึ่งถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการกระทำการแทนบุคคลอื่นๆ ด้วย หรือในกรณีที่คดีแรกมีการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จนกระทั่งศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้วตามมาตรา 90/70 หากว่ามีการร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยอ้างมูลเหตุเดิมหรือช่องทางในการฟื้นฟูกิจการเดียวกันก็ย่อมเป็นการร้องขอซ้ำได้เช่นกัน ในการร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีนี้ผู้ร้องได้อ้างเหตุในการร้องขอฟื้นฟูกิจการว่า ลูกหนี้ได้ประสบปัญหาเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมถดถอยโดยลูกหนี้ได้เริ่มประสบปัญหาทางการเงินตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวในการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการเงินที่ยังคงอยู่ไม่สามารถจะให้สินเชื่อเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้การเปลี่ยนค่าเงินบาทในปี 2540 ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น หากลูกหนี้ปิดกิจการลงจะมีผลกระทบต่อบุคคลต่างๆ กรณีจึงเห็นได้ชัดว่ามูลเหตุในการร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีนี้ก็สืบเนื่องจากประเทศไทยได้ประสบปัญหาภาวะวิกฤติเศรษฐกิจอันเป็นเหตุที่มีการร้องขอฟื้นฟูกิจการมาแล้วในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.14/2542 คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.12/2542 แม้ว่าผู้ร้องขอจะไม่ได้เป็นผู้ร้องขอเองก็ตาม แต่เมื่อในคดีแรกนี้ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ อันมีผลทำให้เจ้าหนี้ต้องถูกปรับยอดหนี้ลงมาและมีสิทธิเรียกร้องเฉพาะหนี้ที่ค้างอยู่ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหลังจากศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว ก็ไม่ปรากฏเหตุใหม่ในสาระสำคัญที่ทำให้ลูกหนี้หรือผู้ร้องขอมีสิทธิร้องขอฟื้นฟูกิจการได้อีก ดังนั้น การร้องขอฟื้นฟูกิจการอีกในมูลเหตุที่เคยมีการร้องขอฟื้นฟูกิจการมาแล้ว ย่อมเป็นการทำให้เจ้าหนี้ถูกปรับลดหนี้ลงจากแผนฟื้นฟูกิจการในแต่ละคดีหลายครั้งโดยไม่เป็นธรรม ทั้งศาลวินิจฉัยในคดีแรกมาแล้วว่าลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้ และในคดีก่อนมีการดำเนินกระบวนพิจารณาจนกระทั่งศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเช่นนี้ การที่เจ้าหนี้มายื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีนี้อีก จึงเป็นการร้องขอซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 นอกจากนี้ยังปรากฏว่าในการร้องขอฟื้นฟูกิจการเป็นคดีที่สาม คดีหมายเลขดำที่ ฟ.4/2553 คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.24/2553 ซึ่งธนาคารสแตนดาร์ด พีแอลซี ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่า ผู้ร้องขอในคดีดังกล่าวรับโอนหนี้มาจากธนาคารสแตนดาร์ด เอเชีย จำกัด ซึ่งรับโอนหนี้จากห้าธนาคารในประเทศรวมทั้งธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ด้วย เมื่อคดีแรกธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับลูกหนี้ผู้ร้องขอในคดีแรกอยู่ระหว่างพิจารณาชั้นอุทธรณ์ของศาลฎีกา ดังนั้นการที่ผู้ร้องขอซึ่งเป็นผู้รับโอนหนี้มาจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มายื่นคำร้องอีก จึงเป็นการร้องขอซ้อนและดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 และมาตรา 144 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 เช่นนี้ การที่ผู้ร้องขอในคดีนี้ได้มายื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2554 โดยเหตุทำนองเดียวกับในการร้องขอฟื้นฟูกิจการคดีที่สาม จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 นอกจากนี้การร้องขอฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องในคดีนี้ เป็นการร้องขอซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.12/2542 และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.24/2553 จึงต้องห้ามมิให้ยื่นคำร้องขอ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 รวมทั้งอุทธรณ์ในประเด็นอื่นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 อีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอ ให้ผู้ร้องขอใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนผู้คัดค้านทั้งหกโดยให้ผู้ร้องขอใช้ค่าทนายความแก่ผู้คัดค้านคนละ 30,000 บาท

Share