คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 163/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างผู้บริหาร ระบุว่า ผู้ว่าจ้างอาจพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีตามผลประกอบการของโรงพิมพ์ตำรวจและผลการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินของคณะกรรมการโรงพิมพ์ตำรวจ ในอัตราไม่เกินกว่าร้อยละ 30 ของค่าตอบแทนรวมในแต่ละปี ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ได้มีถ้อยคำที่เป็นการผูกมัดโรงพิมพ์ตำรวจว่าจะต้องจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีแก่โจทก์ทุกปี แต่กลับเป็นการให้สิทธิแก่โรงพิมพ์ตำรวจเพียงฝ่ายเดียวในการพิจารณาว่าจะจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีแก่โจทก์หรือไม่ แม้ข้อสัญญาดังกล่าวมีถ้อยคำต่อไปว่า…….จ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีตามผลประกอบการของโรงพิมพ์ตำรวจและผลการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินของคณะกรรมการโรงพิมพ์ตำรวจ ในอัตราไม่เกินกว่าร้อยละ 30 ของค่าตอบแทนรวมในแต่ละปี ก็เป็นการกล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการกำหนดจำนวนค่าตอบแทนพิเศษประจำปีหลังจากที่มีการพิจารณาว่าจะจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวแก่โจทก์แล้วเท่านั้น เมื่อคณะกรรมการโรงพิมพ์ตำรวจเห็นว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โรงพิมพ์ตำรวจได้รับความเสียหาย และมีมติไม่จ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีสำหรับการปฏิบัติงานในปีที่ 2 แก่โจทก์ อันเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามสัญญาข้อ 3.2 ย่อมไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าตอบแทนพิเศษประจำปีไม่ได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 295,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 216,241.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 พฤษภาคม 2556) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 โรงพิมพ์ตำรวจซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลยโดยประธานกรรมการโรงพิมพ์ตำรวจลงชื่อเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพิมพ์ตำรวจ มีกำหนดเวลา 2 ปี ตามสำเนาสัญญาจ้างผู้บริหาร หลังจากโจทก์ปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพิมพ์ตำรวจจนครบกำหนดเวลาตามสัญญาแล้ว ได้ขอให้มีการพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีสำหรับการปฏิบัติงานในปีที่ 2 แก่โจทก์ตามสัญญา แต่คณะกรรมการโรงพิมพ์ตำรวจมีมติไม่จ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีตามที่โจทก์ขอ โดยแจ้งว่ามีรายงานการสอบสวนระบุว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพิมพ์ตำรวจด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยให้เครดิตในการรับจ้างพิมพ์งานแก่บริษัท จี แอล เอส กรุ๊ป จำกัด และไม่สามารถเรียกเก็บค่าจ้างพิมพ์งานจากบริษัทดังกล่าวเป็นเงิน 449,400 บาท ทำให้โรงพิมพ์ตำรวจได้รับความเสียหาย ตามสำเนาหนังสือ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยต้องจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า สัญญาจ้างผู้บริหาร ข้อ 3.2 ระบุว่า ผู้ว่าจ้างอาจพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีตามผลประกอบการของโรงพิมพ์ตำรวจและผลการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินของคณะกรรมการโรงพิมพ์ตำรวจ ในอัตราไม่เกินกว่าร้อยละ 30 ของค่าตอบแทนรวมในแต่ละปี ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ได้มีถ้อยคำที่เป็นการผูกมัดโรงพิมพ์ตำรวจว่าจะต้องจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีแก่โจทก์ทุกปี แต่กลับเป็นการให้สิทธิแก่โรงพิมพ์ตำรวจเพียงฝ่ายเดียวในการพิจารณาว่าจะจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีแก่โจทก์หรือไม่ แม้ข้อสัญญาดังกล่าวมีถ้อยคำต่อไปว่า…….จ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีตามผลประกอบการของโรงพิมพ์ตำรวจและผลการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินของคณะกรรมการโรงพิมพ์ตำรวจ ในอัตราไม่เกินกว่าร้อยละ 30 ของค่าตอบแทนรวมในแต่ละปี ก็เป็นการกล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการกำหนดจำนวนค่าตอบแทนพิเศษประจำปีหลังจากที่มีการพิจารณาว่าจะจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวแก่โจทก์แล้วเท่านั้น เมื่อคณะกรรมการโรงพิมพ์ตำรวจเห็นว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โรงพิมพ์ตำรวจได้รับความเสียหาย และมีมติไม่จ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีสำหรับการปฏิบัติงานในปีที่ 2 แก่โจทก์ อันเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามสัญญาข้อ 3.2 ย่อมไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าตอบแทนพิเศษประจำปีไม่ได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ซึ่งรวมค่าขึ้นศาลในอนาคตเป็นเงิน 4,424 บาท แต่จำเลยชำระมา 4,596 บาท จึงชำระเกินมา 172 บาท และศาลอุทธรณ์มิได้สั่งคืน ศาลฎีกาจึงสั่งคืนให้
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ 172 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share