แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พ. และ ม. ตกลงแบ่งที่ดินในโฉนดที่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันออกเป็นสัดส่วน ต่างไม่รุกล้ำกัน ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตอนกลางที่พ.ครอบครองมาแต่เดิม เมื่อพ.ตายโจทก์บุตรพ. ได้ครอบครองต่อมาเกิน 10 ปี โดย ม. กับบุตรมิได้เข้าเกี่ยวข้อง ม. ยกที่ดินส่วนของตนให้นาย ม. ซึ่งเป็นบุตรจำเลยซึ่งเป็นบุตรสะใภ้ ม. และบ้านอยู่ห่างที่พิพาท 4 เส้นเศษเชื่อว่ารู้ถึงการครอบครองที่พิพาทของโจทก์ จำเลยซื้อที่ดินจากนาย ม.จึงถือไม่ได้ว่าซื้อโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต การได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทของโจทก์โดยทางครอบครอง แม้ยังมิได้จดทะเบียนก็ใช้ยันจำเลยได้จำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. ม.1299 วรรคสอง
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องเฉพาะส่วนที่อยู่ภายในเส้นสีเขียวในแผนที่พิพาท เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 1 งานเศษ เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสามโดยทางครอบครอง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 6586 ตำบลพิกุลทอง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ตามโฉนดมี 5 ไร่ 1 งาน แต่ปรากฏจากการรังวัดในการทำแผนที่พิพาทคดีนี้ว่ามีเนื้อที่เพียง 3 ไร่ 2 งาน 36 ตารางวา เดิมมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ 4 คน คือนางเอี่ยม, นายรอด, นางเพ่งและนายมูน ได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วนมาหลายสิบปีแล้ว ตอนเหนือเนื้อที่ตามแผนที่พิพาท 1 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวาเดิมนางเอี่ยมและนายรอดครอบครอง ปัจจุบันนางเหว่าและนายฉางครอบครองตอนกลางเนื้อที่ตามแผนที่พิพาท 1 ไร่ 1 งาน 85 ตารางวา นางเพ่งครอบครองตอนใต้เนื้อที่ตามแผนที่พิพาท 1 งาน 41 ตารางวา นายมูนครอบครอง นายมูนตายเมื่อประมาณ 50 ปีก่อนฟ้อง เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2505 นายเพ่งและนางแมนน้องนายมูนรับมรดกที่ดินส่วนของนายมูน สารบัญแก้ทะเบียนโฉนดที่ดินเลขที่ 6596 บันทึกว่า “นางแมน นางเพ่ง รับมรดกเฉพาะส่วนของนายมูน ส่วนของนางเหว่า นางเอี่ยม นางเพ่ง ตามเดิม” ในวันเดียวกันนั้นนางเพ่งยอมให้นางแมนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกับตน สารบัญแก้ทะเบียนบันทึกว่า “นางเพ่งให้นางแมนถือกรรมสิทธิ์ร่วมเฉพาะส่วนของตน ส่วนของนางแมน นางเหว่า นางเอี่ยม คงเดิม” ต่อมานางเพ่งตาย ที่ดินส่วนของนางเพ่งตกได้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายชุบ ประสพโชค บุตรของนางเพ่ง บุคคลดังกล่าวปลูกเรือนอยู่ในที่ดินตอนกลางที่นางเพ่งครอบครองมาแต่เดิม 3 หลัง โดยปลูกทางด้านตะวันตกของที่ดิน ต่อมานายชุบตาย ที่ดินส่วนของนายชุบตกได้แก่โจทก์ที่ 3ผู้เป็นบุตรเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2511 นางแมนทำนิติกรรมและจดทะเบียนยกที่ดินส่วนของตนให้นายม้วน แสนพยุง บุตรของตน วันที่ 3 มกราคม 2523 นายม้วน ทำนิติกรรมและจดทะเบียนขายที่ดินส่วนของตนให้จำเลยและนายเลี้ยง หวานสุดใจ จำเลยเป็นภริยานายน้อย แสนพยุง บุตรนางแมน ที่พิพาทคือที่ดินภายในเส้นสีแดงในแผนที่พิพาทเนื้อที่ 2 งาน 57 ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตอนกลางที่นางเพ่งครอบครองมาแต่เดิมอยู่ทางด้านตะวันออกของที่ดินที่โจทก์ทั้งสามปลูกบ้านอยู่” ฯลฯ
“ที่จำเลย ฎีกาว่านางเพ่งได้ทำนิติกรรมและจดทะเบียนยกที่ดินส่วนที่นางเพ่งครอบครองมาแต่เดิมซึ่งรวมถึงที่พิพาทด้วยให้นางแมน นางแมนทำนิติกรรมและจดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าวให้นายม้วน จำเลยและนายเลี้ยงซื้อที่ดินดังกล่าวจากนายม้วน ที่พิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยและนายเลี้ยง หาตกเป็นมรดกแก่ฝ่ายโจทก์ไม่ โจทก์ทั้งสามมิได้ครอบครองที่พิพาทและจำเลยได้ซื้อที่พิพาทโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์ทั้งสามจะอ้างการได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยทางครอบครองมาต่อสู้จำเลยไม่ได้นั้น ตามบันทึกในสารบัญแก้ทะเบียนโฉนดที่ดินเลขที่ 6596 ที่ศาลฎีกายกข้อความมากล่าวข้างต้น ปรากฏว่า นางเพ่งหาได้ยกที่ดินส่วนของตนให้นางแมนทั้งหมดไม่ เพียงแต่ยอมให้นางแมนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวร่วมกับนางเพ่งเท่านั้น เมื่อนางเพ่งตาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวส่วนของนางเพ่งจึงตกได้แก่ทายาทโดยธรรมคือโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายชุบบิดาโจทก์ที่ 3 ที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่านางเพ่งและนางแมนแบ่งการครอบครองที่ดินกันเป็นสัดส่วน โดยนางแมนครอบครองที่ดินส่วนที่นายมูนเคยครอบครองมาทั้งหมด ส่วนนางเพ่งครอบครองที่ดินส่วนที่นางเพ่งครอบครองมาแต่เดิมต่อไปนั้น นอกจากตัวโจทก์ทั้งสามแล้ว ฝ่ายโจทก์ยังมีนายฉาบ จันทร์หอม ซึ่งมีบ้านอยู่ตอนเหนือของที่ดินโฉนดเลขที่ 6596 และเป็นญาติกับโจทก์ทั้งสามและจำเลย นางสวย สุดสวาท ซึ่งมีบ้านอยู่ติดกับที่พิพาท มาเบิกความสนับสนุนว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายชุบบิดาโจทก์ที่ 3 ปลูกต้นไม้ยืนต้นในที่พิพาทและเก็บดอกผลของต้นไม้ดังกล่าว เมื่อศาลชั้นต้นไปดูที่พิพาทก็พบว่าที่พิพาทเป็นที่โล่งเตียน มีไม้ยืนต้นปลูกอยู่หลายต้น ส่วนที่ดินภายในเส้นสีม่วงตามแผนที่พิพาทยังเป็นป่ารก มีกอไผ่ 4 กอนายม้วนบุตรนางแมนพยานจำเลยเบิกความว่าไม่เคยเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินที่นางแมนยกให้เลย ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่านางเพ่งและนางแมนได้ตกลงกับแบ่งที่ดินที่บุคคลทั้งสองมีชื่อในโฉนดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ร่วมกันออกเป็นสัดส่วน ที่ดินที่นางเพ่งครอบครองมาแต่เดิมให้เป็นของนางเพ่ง ส่วนที่ดินที่นายมูนครอบครองมาแต่เดิมให้เป็นของนางแมน ต่างฝ่ายต่างไม่รุกล้ำกัน เมื่อนางเพ่งตายแล้ว โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายชุบบุตรนางเพ่งได้ครอบครองที่ดินภายในเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของต่อเนื่องจากนางเพ่งติดต่อกันเป็นเวลาเกินสิบปีแล้ว โดยนางแมนกับบุตรมิได้เข้าเกี่ยวข้อง โจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับนายชุบจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว เมื่อนายชุบตายกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของนายชุบตกได้แก่โจทก์ที่ 3 บุตรนายชุบ ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามยังมิได้จดทะเบียนการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว สิทธิของโจทก์ทั้งสามจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยผู้เป็นบุคคลภายนอกได้หรือไม่ ในปัญหานี้ คดีได้ความว่าจำเลยเป็นบุตรสะใภ้ของนางแมน และบ้านจำเลยอยู่ห่างที่พิพาทเพียง 4 เส้นเศษ ศาลฎีกาจึงเชื่อว่าจำเลยซื้อที่ดินจากนายม้วนโดยรู้อยู่ว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายชุบได้ครอบครองที่พิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินสิบปีแล้ว ดังนั้นจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยซื้อที่ดินมาจากนายม้วนโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต การได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทของโจทก์ทั้งสามโดยทางครอบครอง แม้จะยังมิได้จดทะเบียนก็ใช้ยันกับจำเลยได้ จำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 1352/2521 ระหว่าง นายโกวิท พงศ์สุรชีวิน โจทก์ นางทองพูล แผ้วพาลชน จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน