แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่หักค่าจ้างที่จ่ายแก่ลูกจ้างส่งเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และนายจ้างมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมภายในกำหนดเวลา มิฉะนั้นต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มกับมีโทษตามกฎหมาย เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหักค่าจ้างของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดเป็นเงินสมทบแล้วไม่นำส่งเงินสมทบ จนกระทั่งถูกสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 10 ติดตามทวงถาม และมีการทำสัญญารับสภาพหนี้กันไว้ จึงเป็นการบังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 10 แล้ว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่คืนเงินค่าจ้างที่หักเป็นเงินสมทบแล้วให้แก่โจทก์ทั้งสิบเจ็ด โจทก์ทั้งสิบเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องเป็นคดีนี้
ย่อยาว
รายชื่อโจทก์ทั้งสิบเจ็ดสำนวนปรากฏตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
คดีทั้งสิบเจ็ดสำนวนศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยเรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17
โจทก์ทั้งสิบเจ็ดฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่หักไว้ให้กับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 ตามลำดับดังนี้ 3,600 บาท 2,840 บาท 3,000 บาท 1,000 บาท 980 บาท 2,400 บาท 2,568 บาท 1,500 บาท 2,840 บาท 2,880 บาท 2,500 บาท 2,000 บาท 3,165 บาท 800 บาท 2,000 บาท 2,400 บาท และ 1,110 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และค่าจ้างโจทก์ที่ 11 จำนวน 2,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดอกเบี้ยทุกรายการนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยไม่ให้การ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้กับโจทก์ทั้งสิบเจ็ดตามลำดับดังนี้ 2,400 บาท 2,400 บาท 2,400 บาท 1,000 บาท 980 บาท 2,400 บาท 2,400 บาท 1,500 บาท 2,400 บาท 2,400 บาท 2,400 บาท 2,000 บาท 2,400 บาท 800 บาท 2,000 บาท 2,400 บาท และ 1,110 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องจ่ายเงินสมทบคืนแก่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างโดยให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันสังคมขึ้น กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่หักค่าจ้างที่จ่ายแก่ลูกจ้างส่งเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคมแก่สำนักงานประกันสังคม เพื่อให้ลูกจ้างได้สิทธิเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่วันที่ถูกนายจ้างหักค่าจ้างเป็นเงินสมทบตามมาตรา 47 วรรคแรกและนายจ้างมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมภายในกำหนดเวลา มิฉะนั้นต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มกับมีโทษตามกฎหมาย เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหักค่าจ้างของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดตามฟ้องเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแล้วไม่นำส่งเงินสมทบภายในกำหนดเวลา จนกระทั่งถูกสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 10 ติดตามทวงถามและมีการทำสัญญารับสภาพหนี้กันไว้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ โดยจำเลยยอมรับว่าได้ค้างชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมส่วนของลูกจ้างตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 ถึงเดือนสิงหาคม 2551 และค้างชำระเงินสมทบส่วนของนายจ้าง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ถึงเดือนสิงหาคม 2551 จำเลยตกลงยินยอมชำระเงินดังกล่าวแก่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 10 โดยขอผ่อนชำระเงินสมทบเป็นรายเดือนทุกเดือนตั้งแต่ภายในวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2553 กับยอมชำระเงินเพิ่มให้เสร็จภายในวันที่ 28 สิงหาคม 2553 ผิดนัดงวดใดให้ถือว่าผิดนัดการผ่อนชำระหนี้ทุกงวด และยินยอมให้สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 10 ดำเนินคดีตามกฎหมาย อันเป็นการบังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 10 เจ้าหนี้ตามกฎหมายแล้ว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่คืนเงินค่าจ้างที่หักเป็นเงินสมทบแล้วให้แก่โจทก์ทั้งสิบเจ็ด โจทก์ทั้งสิบเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องเป็นคดีนี้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อไปว่าศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดเกินกว่าที่จำเลยหักไว้นั้น ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสิบเจ็ด