แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยให้การต่อสู้เกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนว่า จำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมายในงานภาพยนตร์ งานวรรณกรรม และงานศิลปกรรมอันมีลักษณะเป็นงานจิตรกรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ศิลปประยุกต์ ที่เป็นตัวงานเรียกว่า อุลตร้าแมน หรือยอดมนุษย์ ในลักษณะเป็นรูปคนที่เป็นตัวละครต่างๆ ในตระกูลเดียวกันกับอุลตร้าแมน งานภาพยนตร์อุลตร้าแมนทั้งปวง สัตว์ประหลาดที่เป็นตัวละครในภาพยนตร์ดังกล่าว ภาพเหมือน ภาพวาด และภาพถ่ายในลักษณะต่างๆ ของตัวละครตระกูลอุลตร้าแมน และสัตว์ประหลาดในภาพยนตร์ดังกล่าว และจำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ รวมทั้ง ชื่อ รูปรอยประดิษฐ์ หรือข้อความในการประกอบการค้าประเภทลักษณะตัวละครอุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ในลักษณะต่างๆ และสัตว์ประหลาดต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งชื่อและข้อความว่า อุลตร้าแมน หรือยอดมนุษย์ซึ่งได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วนอกราชอาณาจักร โดยได้รับโอนสิทธิจากบริษัท ซ. ในประเทศญี่ปุ่น แต่จำเลยไม่ได้อ้างว่า จำเลยเป็นผู้สร้างสรรค์ในงานเกี่ยวกับอุลตร้าแมน คดีจึงไม่มีประเด็นว่า จำเลยมีลิขสิทธิ์โดยการสร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับอุลตร้าแมนต่างๆ ตามฟ้องหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยทำนองว่า จำเลยได้พัฒนาหรือสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนตัวต่างๆ ที่จำเลยอนุญาตให้ใช้สิทธิตามฟ้องตามสิทธิของจำเลยในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธินั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 5,577,523.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 714,444,45 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2547 จำเลยทำสัญญาอนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนทีก้า (ULTRAMAN TIGA) อุลตร้าแมนไดน่า (ULTRAMAN DYNA) อุลตร้าแมน ไกญ่า (ULTRAMAN GAIA) และอุลตร้าแมนคอสมอส (ULTRAMAN COSMOS) เพื่อผลิตเป็นเสื้อกางเกงสำหรับผู้ใหญ่ออกจำหน่ายโดยไม่จำกัดแบบและจำนวนในเขตประเทศไทย มีกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2547 ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2550 ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และจำเลยได้รับเงินค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวจำนวน 1,200,000 บาท จากโจทก์ครบถ้วนแล้ว ต่อมาวันที่ 29 ธันวาคม 2547 ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด ได้นำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมพนักงานของโจทก์และยึดเสื้อที่มีรูปอุลตร้าแมนที่อยู่ภายในร้านของโจทก์ไป โดยกล่าวหาว่าโจทก์ละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปอุลตร้าแมน โจทก์จึงติดต่อจำเลยเพื่อสอบถามปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์และได้ตกลงแก้ไขสัญญาเดิมโดยเปลี่ยนการอนุญาตให้ใช้สิทธิในอุลตร้าแมนเดิมตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นอุลตร้าแมน ลีโอ (ULTRAMAN LEO) อุลต้าแมน แอสตร้า (ULTRAMAN ASTRA) อุลตร้าเซเว่น 21 (ULTRA SEVEN 21) และอุลตร้าแมนนีออส (ULTRAMAN NEOS) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2548 ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2550 ตามสัญญาแนบท้ายสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2548 จำเลยมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวแก่โจทก์ และริบเงินค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิ หลังจากนั้นวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7457/2550 ระหว่างบริษัทซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด โจทก์ บริษัทซึบูราญ่า ไชโย จำกัด จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 4 คน โดยมีจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีนั้นโดยศาลฎีกาในคดีดังกล่าวมีคำวินิจฉัยว่า บริษัทซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานอุลตร้าแมน และหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ลงวันที่ 4 มีนาคม 2519 ในคดีนี้ที่จำเลยอ้างว่าได้รับอนุญาตจากบริษัทซึบูราญ่า โปรด์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เป็นเอกสารปลอมทั้งฉบับ จำเลยไม่มีสิทธิจะแสวงหาประโยชน์ใดๆ จากผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาฉบับดังกล่าวได้ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาอนึ่งคดีนี้จำเลยให้การต่อสู้เกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนว่า จำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมายในงานภาพยนตร์ งานวรรณกรรม และงานศิลปกรรมอันมีลักษณะเป็นงานประเภทจิตรกรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ศิลปประยุกต์ ที่เป็นตัวงานเรียกว่า “อุลตร้าแมน (ULTRAMAN) หรือยอดมนุษย์ อาทิ เช่น ในลักษณะเป็นรูปคนที่เป็นตัวละครประเภทต่างๆ ในตระกูลเดียวกันกับอุลตร้าแมน คือ อุลตร้าคิว อุลต้าแมน อุลตร้าเซเว่น อุลตร้าแมนซอฟฟี่ อุลตร้าแมนแจ็ค อุลตร้าแมนเอซ อุลตร้าแมนทาโร่มาเธอร์ออฟอุลตร้า และฟาเธอร์ออฟอุลตร้า รวมตลอดถึงงานภาพยนตร์ชุดอุลตร้าแมนทั้งปวง และสัตว์ประหลาดที่เป็นตัวละครในภาพยนตร์ดังกล่าว อาทิเช่น การาม่อน คาเนกอน เรคคิง โกโรร่า บัลตัน ฯลฯ รวมทั้งภาพเหมือน ภาพวาด และภาพถ่ายในลักษณะต่างๆ ของตัวละครตระกูลอุลตร้าแมน และสัตว์ประหลาดในภาพยนตร์ดังกล่าวทั้งปวง และจำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ รวมทั้งชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความในการประกอบการค้าประเภทลักษณะตัวละครอุลตร้าแมน หรือยอดมนุษย์ในลักษณะต่างๆ ทั้งปวง และสัตว์ประหลาดต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งชื่อ คำและข้อความว่า อุลตร้าแมน (ULTRAMAN) หรือยอดมนุษย์ซึ่งได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วนอกราชอาณาจักร โดยได้รับโอนสิทธิจากบริษัทซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด ในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา ซึ่งจำเลยได้รับสิทธิดังกล่าวในอาณาเขตทั่วโลก ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นโดยไม่จำกัดเวลา แต่จำเลยไม่ได้อ้างว่า จำเลยเป็นผู้สร้างสรรค์ในงานเกี่ยวกับอุลตร้าแมน คดีจึงไม่มีประเด็นว่า จำเลยมีลิขสิทธิ์โดยการสร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับอุลตร้าแมนต่างๆ ตามฟ้องหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยทำนองว่า จำเลยได้พัฒนาหรือสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนตัวต่างๆ ที่จำเลยอนุญาตให้ใช้สิทธิตามฟ้องตามสิทธิของจำเลยในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิลงวันที่ 4 มีนาคม 2519 นั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ย้อนสำนวนกลับให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาใหม่ในประเด็นว่า จำเลยมีลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนทั้งแปดตัวที่สัญญาให้โจทก์ใช้ลิขสิทธิ์ตามสัญญาทั้งสองฉบับหรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยอ้างว่า ตามสัญญาลงวันที่ 4 มีนาคม 2519 บริษัทซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด ได้โอนลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนให้แก่จำเลย แต่เมื่อพิจารณาข้อความตามสัญญาดังกล่าวที่ใช้ข้อความ “This Agreement… to grant licenses concerning the following, articles terms and conditions to Mr. Sompote…” ซึ่งแปลได้ความว่า “ข้อตกลงฉบับนี้…เพื่ออนุญาตให้ใช้สิทธิตามหัวข้อ ระยะเวลา และเงื่อนไขให้แก่นายสมโพธิ…” โดย ใน Article 3 Scope of License ซึ่งแปลว่า “ข้อ 3 ขอบเขตของสิทธิ” ระบุว่า “All rights expendered by this License Granting Agreement shall define and include : …. 3.4 Copyright…” ซึ่งแปลได้ความว่า “สิทธิทั้งปวงตามข้อตกลงมอบสิทธิฉบับนี้ให้หมายถึงและรวมถึง : … 3.4 ลิขสิทธิ์” อันเป็นเพียงอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เท่านั้นไม่ใช่สัญญาโอนลิขสิทธิ์ทั้งยังจำกัดเฉพาะผลงานอุลตร้าแมนในภาพยนตร์ทั้งเก้าเรื่อง ซึ่งจำกัดเฉพาะอุลตร้าแมน 8 ตัว คือ อุลตร้าแมน อุลตร้าแมนซอฟฟี่ อุลตร้าเซเว่น อุลตร้าแมนแจ็ค อุลตร้าแมนเอซ ฟาเธอร์ออฟอุลตร้า อุลตร้าแมนทาโร่ มาเธอร์ออฟอุลตร้า ดังนี้ แม้หากฟังว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ตามสัญญาดังกล่าวไม่ใช่สัญญาปลอม ก็ไม่ทำให้จำเลยได้ลิขสิทธิ์ในผลงานนอกเหนือจากผลงานอุลตร้าแมนในภาพยนตร์ทั้งเก้าเรื่องตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าว ส่วนผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ทั้งสองฉบับตามที่จำเลยอนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธินั้นคือ อุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า อุลตร้าแมนคอสมอส อุลตร้าแมนลีโอ อุลตร้าแมนแอสตร้า อุลต้าเซเว่น 21 และอุลตร้าแมนนีออส ซึ่งสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิลงวันที่ 4 มีนาคม 2519 ไม่ครอบคลุมถึงอุลตร้าแมนใหม่ทั้งแปดตัว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีลิขสิทธิ์ในงานอุลตร้าแมนใหม่ทั้งแปดตัวตามที่จำเลยทำสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ทั้งสองฉบับกับโจทก์ตามฟ้อง เมื่อจำเลยไม่มีลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนทั้งแปดตัวตามฟ้องดังกล่าว สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ที่โจทก์ทำกับจำเลยทั้งสองฉบับ จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยมาแต่แรก ดังนั้นเงินที่โจทก์ได้จ่ายเป็นค่าตอบแทนค่าใช้ลิขสิทธิ์ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ทั้งสองฉบับ จำนวน 1,200,000 บาท นั้น จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์ทั้งหมด แต่เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินให้แก่โจทก์ จำนวน 714,444.45 บาท และโจทก์ไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าลิขสิทธิ์ที่ได้รับจากโจทก์อีกจำนวน 485,555.55 บาท ให้แก่โจทก์ได้ เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์อื่นของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ