คำวินิจฉัยที่ 38/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๘/๒๕๔๗

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗

เรื่อง อำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่ง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องและศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็น มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) โดยนางอัจฉรา ตั้งมติธรรม และนายอธิป พีชานนท์ กรรมการผู้มีอำนาจ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตจตุจักร ที่ ๑ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่๒๑๖๒/๒๕๔๕ข้อเท็จจริงสรุปได้ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๑๘๘ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๑ ไร่ ๘ ตารางวา อยู่ติดกับโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๐๕๓เลขที่ดิน ๗๗๒ เนื้อที่ ๙ ไร่ ๑ งาน ๕๐ ตารางวา แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ฟ้องคดีใช้เป็นถนนส่วนบุคคลในโครงการคอนโดมิเนียมศุภาลัยปาร์ค เพื่อให้ลูกค้าหรือผู้อยู่อาศัยในโครงการของผู้ฟ้องคดีใช้เป็นเส้นทางเข้าออกสู่ถนนพหลโยธิน บริเวณซอยพหลโยธิน ๒๑และด้านในสุดของถนนดังกล่าวติดต่อเยื้องกันกับซอยวิภาวดีรังสิต ๓๐ เป็นระยะทางประมาณ๒๕๐ เมตร ซึ่งผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดินมาจากบริษัท เรย์แลม แบตเตอรี่ จำกัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ และเริ่มใช้เป็นทางออกสู่ถนนพหลโยธินตั้งแต่ซื้อมาการใช้ถนนดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีได้ใช้เหล็กกั้นยกขึ้นลงและมีป้อมยามรักษาการณ์เพื่อแสดงอาณาเขตทั้งที่ดินด้านซอยวิภาวดีรังสิต ๓๐ และด้านที่ออกสู่ถนนพหลโยธิน และยังได้จัดวางกระถางต้นไม้เพื่อประดับให้เกิดความสวยงามและเป็นระเบียบ กับป้ายโครงการคอนโดมิเนียมด้านติดปากซอยพหลโยธิน ๒๑ไว้ด้วย ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีไม่เคยแสดงออกไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะอุทิศที่ดินดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะ รวมถึงเจ้าของที่ดินเดิมก็ได้สงวนสิทธิ์ในการใช้ถนนส่วนบุคคลนี้ด้วยกิริยาอาการหวงกันกรรมสิทธิ์โดยตรงจนถึงผู้ฟ้องคดีประมาณเดือนตุลาคม ๒๕๔๒ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่งในขณะนั้น ได้นำป้ายบอกเส้นทางลัดของกรุงเทพมหานครไปติดตั้งไว้จำนวน ๒ จุด คือ ปากซอยพหลโยธิน ๒๑ และปากซอยวิภาวดีรังสิต ๓๐ เพื่อเป็นทางลัด ทั้ง ๆ ที่ทราบว่าถนนเป็นที่ดินส่วนบุคคล การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันนำป้ายบอกเส้นทางลัดมาติดตั้ง ทำให้มีผู้สัญจรมาใช้ถนนทั้งฝั่งถนนวิภาวดีรังสิตและฝั่งถนนพหลโยธิน ทั้งที่บุคคลเหล่านั้นมิได้อาศัยอยู่ในซอยวิภาวดีรังสิต ๓๐โดยเข้าใจตามป้ายบอกเส้นทางลัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่นำมาติดตั้ง ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทราบว่าเส้นทางลัดสำหรับออกสู่ซอยพหลโยธิน ๒๑ เป็นถนนส่วนบุคคล ใช้สำหรับผู้อาศัยคอนโดมิเนียมของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น การนำป้ายบอกเส้นทางลัดมาติดตั้งในบริเวณดังกล่าว ย่อมกระทบถึงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของผู้ฟ้องคดี เป็นการกระทำละเมิดและไม่ชอบในทางปกครอง และก่อให้ผู้ฟ้องคดีต้องได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดปัญหาจากการจราจร นอกจากนี้ ปรากฏว่ามีบุคคลภายนอกที่มิได้อาศัยอยู่ในซอยวิภาวดีรังสิต ๓๐ มารวมตัวกับผู้อาศัยอยู่จริงเพียงไม่กี่คนทำเรื่องร้องเรียนว่าผู้ฟ้องคดีนำกระถางต้นไม้มาเรียงและตั้งป้อมยามรวมถึงไม้ปิดกั้นบนถนนต่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง โดยอ้างว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นทางสาธารณประโยชน์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อออกสู่ถนนพหลโยธิน ๒๑ และนำเรื่องไปฟ้องต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๐๖๐/๒๕๔๓ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบพยานจำเลย ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาคำร้องของกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยวินิจฉัยว่าที่ดินที่ประชาชนใช้เข้าออกโดยมิได้มีผู้ใดหวงห้ามเป็นเวลานานกว่า ๔๐ ปีแล้ว จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดียกเลิกการปิดกั้นทางเข้า-ออกและรื้อถอนป้ายส่วนบุคคลออกไป ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งยกอุทธรณ์และแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดีจึงขอศาลพิพากษาให้
๑. เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เลขที่ กท ๙๐๔๑/๘๑๒๐ ลงวันที่ ๑๔ธันวาคม ๒๕๔๔
๒. เพิกถอนคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามหนังสือเลขที่ กท ๙๐๔๑/๕๕๐๖ ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๔๕
๓. ให้ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีกรรมสิทธิ์โดยชอบ ซึ่งไม่ใช่เป็นที่ดินที่ใช้เป็นทางสาธารณประโยชน์
๔. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง รื้อถอนป้ายบอกเส้นทางลัดออกทั้ง ๒ ฝั่ง คือ ฝั่งซอยวิภาวดีรังสิต ๓๐ และฝั่งซอยพหลโยธิน ๒๑
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำให้การต่อสู้คดี พร้อมคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีนี้เป็นคดีที่มีข้อพิพาทกันในเรื่องกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีในที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายที่ดิน อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับมอบหมายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ และในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ ได้ออกคำสั่งเลขที่ กท๙๐๔๑/๘๑๒๐ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๔ ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนแนวเหล็กกั้นรถยนต์ขนาดยาวประมาณ ๔ เมตร จำนวน ๒ แห่ง และกระถางต้นไม้จำนวน ๕๐ กระถาง ออกไปให้พ้นจากที่สาธารณประโยชน์ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง และผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยกอุทธรณ์ตามหนังสือที่ กท ๙๐๔๑/๕๕๐๖ ลงวันที่๒๗ สิงหาคม๒๕๔๕ จึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีโต้แย้งเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในการพิจารณาพิพากษาคดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาให้ได้ความว่าคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังนั้น จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระทำการโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง(๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้คู่ความโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นทางสาธารณะ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่อ้างหรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองว่าเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ฟ้องคดีตามที่ผู้ฟ้องคดีอ้างหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๘ และมาตรา ๑๓๐๔ ทั้งนี้บทบัญญัติตามมาตรา ๑๒๙๘ กำหนดให้การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน นอกจากจะอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายอื่นประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของเจ้าของที่ดิน ตลอดจนพยานหลักฐานการใช้ประโยชน์ของประชาชน คดีละเมิดเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์และมีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์กันเช่นนี้ จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ยกเลิกการปิดกั้นทางเข้า-ออก และรื้อถอนป้ายส่วนบุคคล รวมทั้งขอให้แสดงสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องผู้อำนวยการสำนักงานเขตจตุจักร ที่ ๑ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ว่านำป้ายบอกเส้นทางลัดของกรุงเทพมหานครไปติดตั้งไว้บริเวณปากซอยพหลโยธิน ๒๑ และปากซอยวิภาวดีรังสิต๓๐ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้เป็นเส้นทางลัด โดยที่ทราบว่าถนนดังกล่าวเป็นที่ดินส่วนบุคคลของผู้ฟ้องคดีผลจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ทำให้มีผู้สัญจรมาใช้ถนนทั้งฝั่งถนนพหลโยธินและฝั่งถนนวิภาวดีรังสิต ทั้งที่บุคคลเหล่านั้นมิได้อาศัยอยู่ในซอยวิภาวดีรังสิต ๓๐แต่เข้าใจตามป้ายบอกเส้นทางลัดที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองนำมาติดตั้ง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดียกเลิกการปิดกั้นทางเข้า-ออก และรื้อถอนป้ายส่วนบุคคลออกไป ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ วินิจฉัยยกอุทธรณ์คำสั่งของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีให้การต่อสู้ว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เห็นว่าแม้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าการออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง เป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิของผู้ฟ้องคดี แต่การจะพิจารณาว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเป็นต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันเสียก่อน จึงจะสามารถพิจารณาได้ว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการละเมิด ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ยกเลิกการปิดกั้นทางเข้าออกและรื้อถอนป้ายส่วนบุคคล รวมทั้งขอให้แสดงสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ระหว่างบริษัท ศุภาลัยจำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตจตุจักร ที่ ๑ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลแพ่ง

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share