แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ตามคำฟ้องจะไม่ได้กล่าวถึงที่ดินโฉนดเลขที่11114ถึง11117รวม4โฉนดแต่โจทก์ก็ได้กล่าวในคำฟ้องว่าเมื่อปี2511จำเลยที่1ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่7496ได้จดทะเบียนเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของป. เพื่อให้รถบรรทุกเข้าออกจากโรงสีสู่ถนนสรรประศาสน์มากว่า10ปีป. ได้ทำทางภารจำยอมเป็นถนนมีความกว้าง5ถึง6เมตรต่อมาที่ดินโฉนดเลขที่7496ได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น4โฉนดโดยมีจำเลยที่2ถึงที่5เป็นผู้รับโอนมาครั้นต่อมาเดือนพฤษภาคม2531จำเลยทั้งห้าร่วมกันปักเสาปูนเข้าไปในทางทำให้ทางแคบลงเหลือความกว้างเพียง3เมตรโจทก์ไม่สามารถนำรถบรรทุกขนข้าวเปลือกได้จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าถอนเสาปูนออกไปห้ามมิให้จำเลยทั้งห้ากระทำการใดๆอันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์ของภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่7496มีเนื้อที่2ไร่ต่อมาได้ทำการแบ่งเป็นแปลงย่อยอีก4แปลงคือแปลงโฉนดเลขที่11114ถึง11117รวม4โฉนดและตกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่2ถึงที่5คนละแปลงส่วนโฉนดเดิมคงเหลือเนื้อที่91ตารางวาโดยมีความกว้าง3เมตรยาว125เมตรและได้จดทะเบียนเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของป. ทั้งตามคำขอของโจทก์ขอบังคับมิให้จำเลยทั้งห้ากระทำการใดๆอันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์ของภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกดังนี้ตามคำฟ้องพอเข้าใจได้ว่าโจทก์มุ่งประสงค์ให้ที่ดินโฉนดเลขที่11114ถึง11117รวม4โฉนดซึ่งถูกแบ่งแยกมาจากโฉนดเลขที่7496และมีชื่อจำเลยที่2ถึงที่4เป็นเจ้าของตกเป็นทางภารจำยอมโดยมีความกว้าง5ถึง6เมตรยาว125เมตรซึ่งมีความกว้างเกินกว่าที่จดทะเบียนไว้2ถึง3เมตรตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความด้วย การได้สิทธิในทางภารจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1401ประกอบมาตรา1382นั้นจะต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งห้าโดยปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดินเพื่อให้ได้ทางภารจำยอมแต่การที่โจทก์ใช้ทางล้ำออกไปมากกว่าที่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินนั้นถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยความยินยอมของเจ้าของที่ดินโดยปริยายมิใช่เป็นการใช้สิทธิในทางพิพาทโดยการกระทำที่เป็นปรปักษ์ต่อจำเลยทั้งห้าแม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทมานานเพียงใดโจทก์ก็ไม่อาจอ้างว่าได้สิทธิภารจำยอมในทางพิพาทตามบทกฎหมายดังกล่าวประกอบกับโจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางสำหรับรถบรรทุกขนาดเล็กและขนาดใหญ่บรรทุกข้าวจากโรงสีของโจทก์อันเป็นการใช้ทางพิพาทเพื่อประโยชน์แก่การค้าของโจทก์มิใช่เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยตรงเมื่อจำเลยที่1จดทะเบียนภารจำยอมมีความกว้างเพียง3เมตรโจทก์จะใช้ทางพิพาทเพื่อประโยชน์แก่การค้าของโจทก์มากกว่า3เมตรผิดไปจากที่จดทะเบียนไว้โดยจำเลยที่1มิได้ยินยอมด้วยไม่ได้อีกทั้งการที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันปักเสาปูนลงในทางพิพาทด้านที่ติดกับที่ดินของโจทก์ทำให้ทางภารจำยอมเหลือความกว้างอยู่เพียง3เมตรนั้นแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งห้ามิได้กระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์ของภารจำยอมที่จำเลยที่1จดทะเบียนไว้ลดหรือเสื่อมความสะดวกไปโจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งห้ารื้อถอนเสาปูนที่ปักไว้และเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งห้าไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 4936, 4937และ 11118 ตำบลหน้าเมือง (บ้านใหม่) อำเภอเมืองฉะเชิงเทราจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันและเดิมใช้เป็นที่ตั้งของโรงสีข้าวจิตติพล โดยโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่4936 มาจากบริษัทสหะทุนไทย จำกัด เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2521และซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4937 กับโฉนดเลขที่ 11118 มาจากนายปรีชา เปรมศิลป์ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2522 เมื่อปี 2511ขณะที่ที่ดินโฉนดเลขที่ 7496 ตำบลหน้าเมือง (บ้านใหม่)อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ยังเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวและที่ดินโฉนดเลขที่ 4936 กับ 11118 ยังเป็นของนายปรีชา เปรมศิลป์ จำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนภารจำยอมให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7496 ตกอยู่ภายใต้บังคับภารจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ 4936 และ 11118 โดยยอมให้นายปรีชาเจ้าของที่ดินดังกล่าวใช้รถบรรทุกผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 7496 เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสรรประศาสน์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 จึงได้มีการใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นทางสำหรับรถบรรทุกทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ขนข้าวผ่านเข้าออกไปยังโรงสีข้าวในที่ดินโฉนดเลขที่ 4936, 4937 และ 11118 เป็นความกว้างประมาณ5-6 เมตร ยาวตลอดแนวเรื่อยมา จนกระทั่งปัจจุบันนับเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นทางภารจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ 4936, 4937 และ 11118 โดยอายุความอีกสถานหนึ่งเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2531 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 7496 มาจากจำเลยที่ 1 บางส่วนได้ร่วมกันปักเสาปูนสี่เหลี่ยมขนาด 5×5 นิ้วฟุต สูงประมาณ 1 เมตร จำนวน 1 ต้นลงในทางภารจำยอมดังกล่าว ด้านติดกับที่ดินของโจทก์ ทำให้ทางภารจำยอมเหลือความกว้างอยู่เพียงประมาณ 3 เมตร เพื่อกีดขวางไม่ให้รถบรรทุกข้าวผ่านเข้าออกไปยังโรงสีข้าวในที่ดินของโจทก์ได้อย่างสะดวก จากนั้นจำเลยทั้งห้าได้ส่งคนมาข่มขู่ให้โจทก์จ่ายค่าผ่านทางให้เป็นรายเดือน มิฉะนั้นจะปักเสาลักษณะเดียวกันลงในทางภารจำยอมให้ตลอดแนว โจทก์เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องจึงได้ขอให้จำเลยทั้งห้ารื้อถอนเสาดังกล่าวออกไป แต่จำเลยทั้งห้าไม่กระทำตาม วันที่ 17 กันยายน 2531 จำเลยทั้งห้ากลับนำเสาปักในลักษณะเดียวกันอีกจนตลอดความยาวของทางภารจำยอมเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถนำรถบรรทุกขนาดใหญ่หรือรถเทรเล่อร์ที่โจทก์เคยใช้บรรทุกข้าวอยู่ตามปกติผ่านเข้าออกได้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายวันละ 2,000 บาท นับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 13 วันคิดเป็นเงิน 26,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้ารื้อถอนเสาปูนที่ปักไว้ออกจากทางภารจำยอม และปรับฟื้นผิวทางให้กลับคืนสภาพเดิมห้ามไม่ให้กระทำการใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งทางภารจำยอมของโจทก์ลดไปหรือเสื่อมความสะดวก กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 26,000 บาท และค่าเสียหายอีกวันละ 2,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งห้าจะถอนเสาที่ปักไว้ทั้งหมดออกจากทางภารจำยอม
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7496 ตกอยู่ภายใต้ทางภารจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ 4936 และ 11118 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 จริงแต่จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชอบในสิทธิดังกล่าวต่อไป ทางภารจำยอมที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้นายปรีชาไว้นั้นมีความกว้างเพียง3 เมตร ซึ่งนายปรีชาได้จัดทำเป็นถนนลูกรังขึ้นแต่ไม่สามารถจะทำให้เป็นถนนที่มีผิวการจราจรกว้างเต็มเนื้อที่ 3 เมตรได้เพราะหากเต็ม 3 เมตร ดินลูกรังที่นำมาถมไว้ด้านนอกริมเขตแดนจะไหลลื่นสูญหายไปหมด นายปรีชาจึงถมดินลูกรังไว้เฉพาะด้านในที่ติดกับที่ดินของจำเลยส่วนอื่น แล้วใช้เป็นถนนสัญจรไปมามีผิวการจราจรกว้างไม่ถึง 3 เมตรเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2512 โดยจำเลยได้นำเสามาปักกั้นเป็นแนวเขตแดนไว้ตั้งแต่นั้น ไม่ใช่ว่าจำเลยเพิ่งจะนำเสามาปักไว้ในภายหลัง เพียงแต่ว่าเมื่อเสาต้นใดถูกรถของโจทก์ชนหักไปจำเลยก็จะนำเสาต้นใหม่มาปักแทนไว้เท่านั้น นายปรีชาและโจทก์ไม่เคยใช้ทางดังกล่าวจนมีขนาดกว้าง 5-6 เมตรมาก่อนโจทก์เพิ่งจะนำรถบรรทุกขนาดใหญ่ รถเทรเล่อร์ และรถบรรทุกพ่วงท้ายมาใช้ขนข้าวเข้าออกเมื่อปี 2530 จึงไม่อาจอ้างว่าได้สิทธิทางภารจำยอมกว้าง 5-6 เมตร โดยอายุความได้ เสาที่จำเลยปักไว้ไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในเขตทางภารจำยอมไม่ทำให้ประโยชน์ในการใช้ทางภารจำยอมของโจทก์ลดลงหรือเสื่อมความสะดวกโจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 4937 ของโจทก์เข้ามาเกี่ยวข้องกับทางภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7496 ของจำเลยที่ 2 อย่างไรและตั้งแต่เมื่อไรจึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมทางภารจำยอมที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้นายปรีชาไว้มีความกว้างเพียง 3 เมตร มีอาณาเขตเพียงแค่เสาที่โจทก์ขอให้รื้อถอน ซึ่งเป็นเสาที่จำเลยปักทำเป็นแนวเขตไว้ตั้งแต่ปี 2512 นายปรีชาและโจทก์ไม่เคยใช้ทางดังกล่าวกว้างเกินกว่าเสาที่จำเลยปักไว้ โจทก์เพิ่งนำรถบรรทุกขนาดใหญ่รถเทรเล่อร์ และรถบรรทุกพ่วงท้ายมาใช้ขนข้าวเข้าออกเมื่อปี 2530จึงไม่ได้สิทธิทางภารจำยอมกว้างถึง 5-6 เมตร และการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการเพิ่มภาระแก่ที่ดินของจำเลยโดยไม่มีสิทธิ ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาห้ามไม่ให้โจทก์ใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ รถเทรเล่อร์และรถบรรทุกพ่วงท้ายผ่านทางภารจำยอมพิพาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันถอนเสาปูนที่ปักไว้บนทางภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7496 ตำบลหน้าเมือง (บ้านใหม่)อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา และปรับทางภารจำยอมให้กลับคืนสภาพเดิม ห้ามไม่ให้กระทำการใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์ของทางภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 111,600 บาท และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ยุติว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 7496 ตำบลหน้าเมือง (บ้านใหม่) อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 2 ไร่ มีชื่อจำเลยที่ 1เป็นเจ้าของ ครั้นปี 2511 จำเลยที่ 1 ได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็น 4 โฉนด คือโฉนดเลขที่ 11114 ถึง 11117 ส่วนหมายเลขโฉนดเดิมยังคงไว้และเหลือเนื้อที่ 91 ตารางวา โดยมีความกว้าง 3 เมตรยาว 125 เมตร ซึ่งจำเลยที่ 1 จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 4936 และ 11118 ซึ่งมีชื่อนายปรีชา เปรมศิลป์ เป็นเจ้าของเพื่อให้รถบรรทุกขนข้าวเข้าออกจากโรงสีสู่ถนนสรรประศาสน์ ต่อมาที่ดินที่ถูกแบ่งแยกได้ตกมาเป็นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และที่ดินกับโรงสีที่มีชื่อนายปรีชาตกมาเป็นของโจทก์ โจทก์ได้ดำเนินกิจการโรงสี ต่อมาคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ได้ขอให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 11114 ถึง 11117 รวม 4 โฉนด ตกเป็นทางภารจำยอมกว้าง 5 ถึง 6 เมตร ยาว 125 เมตร ซึ่งมีความกว้างกว่าที่จดทะเบียนไว้ 2 ถึง 3 เมตร ตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ตามคำฟ้องจะไม่ได้กล่าวถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 11114 ถึง 11117 รวม 4 โฉนด แต่โจทก์ก็ได้กล่าวในคำฟ้องว่า เมื่อปี 2511 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7496 ได้จดทะเบียนเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของนายปรีชา เปรมศิลป์ เพื่อให้รถบรรทุกเข้าออกจากโรงสีสู่ถนนสรรประศาสน์มากกว่า 10 ปี นายปรีชาได้ทำทางภารจำยอมเป็นถนนมีความกว้าง 5 ถึง 6 เมตร ต่อมาที่ดินโฉนดเลขที่ 7496 ได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น 4 โฉนด โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นผู้รับโอนมาครั้นต่อมาเดือนพฤษภาคม 2531 จำเลยทั้งห้าร่วมกันปักเสาปูนเข้าไปในทาง ทำให้ทางแคบลงเหลือความกว้างเพียง 3 เมตร โจทก์ไม่สามารถนำรถบรรทุกข้าวเปลือกได้ จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าถอนเสาปูนออกไป ห้ามมิให้จำเลยทั้งห้ากระทำการใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์ของภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 7496 มีเนื้อที่ 2 ไร่ ต่อมาได้ทำการแบ่งเป็นแปลงย่อยอีก 4 แปลง คือแปลงโฉนดเลขที่ 11114ถึง 11117 รวม 4 โฉนด และตกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 คนละแปลง ส่วนโฉนดเดิมคงเหลือเนื้อที่ 91 ตารางวา โดยมีความกว้าง 3 เมตร ยาว 125 เมตร และได้จดทะเบียนเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของนายปรีชาทั้งตามคำขอของโจทก์ขอบังคับมิให้จำเลยทั้งห้ากระทำการใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์ของภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ดังนี้ ตามคำฟ้องพอเข้าใจได้ว่าโจทก์มุ่งประสงค์ให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 11114 ถึง 11117 รวม 4 โฉนดซึ่งถูกแบ่งแยกมาจากโฉนดเลขที่ 7496 และมีชื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5เป็นเจ้าของตกเป็นทางภารจำยอมโดยมีความกว้าง 5 ถึง 6 เมตรยาว 125 เมตร ซึ่งมีความกว้างเกินกว่าที่จดทะเบียนไว้ 2 ถึง 3 เมตรตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความด้วย หากโจทก์มุ่งประสงค์เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 7496 หลังแบ่งแยกแล้วโดยมีความกว้าง 3 เมตร ยาว 125 เมตร ซึ่งฝ่ายจำเลยก็ยินยอมให้โจทก์ใช้เป็นทางผ่านก็คงไม่เกิดกรณีพิพาท ที่เกิดพิพาทกันก็เป็นเพราะโจทก์จะเอาทางภารจำยอมมีความกว้าง 5 ถึง 6 เมตร เกินกว่าที่จดทะเบียนไว้ 2 ถึง 3 เมตร เข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 11114 ถึง11117 รวม 4 โฉนด ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แต่ละคนเป็นเจ้าของเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์
ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ทางพิพาทที่มีความกว้างเกินกว่า3 เมตร ตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความหรือไม่และค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใดนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่ได้วินิจฉัยเพราะเห็นว่าจำเลยทั้งห้าไม่ได้รบกวนสิทธิภารจำยอมของโจทก์ จำเลยทั้งห้าจึงไม่ต้องรับผิด แต่ประเด็นดังกล่าวคู่ความได้สืบพยานหลักฐานกันมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรพิจารณาพิพากษาไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาอีกสำหรับประเด็นที่ว่าทางพิพาทมีความกว้างเกินกว่า 3 เมตร ตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การได้สิทธิในทางภารจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 นั้นจะต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งห้าโดยปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดินเพื่อให้ได้ทางภารจำยอม แต่การที่โจทก์ใช้ทางล้ำออกไปมากกว่าที่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรานั้น ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยความยินยอมของเจ้าของที่ดินโดยปริยาย มิใช่เป็นการใช้สิทธิในทางพิพาทโดยการกระทำที่เป็นปรปักษ์ต่อจำเลยทั้งห้า แม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทมานานเพียงใด โจทก์ก็ไม่อาจอ้างว่าได้สิทธิภารจำยอมในทางพิพาทตามบทกฎหมายดังกล่าวประกอบกับโจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางสำหรับรถบรรทุกขนาดเล็กและขนาดใหญ่บรรทุกข้าวจากโรงสีของโจทก์อันเป็นการใช้ทางพิพาทเพื่อประโยชน์แก่การค้าของโจทก์ มิใช่เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยตรง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนทางภารจำยอมมีความกว้างเพียง 3 เมตร โจทก์จะใช้ทางพิพาทเพื่อประโยชน์แก่การค้าของโจทก์มากกว่า 3 เมตรผิดไปจากที่จดทะเบียนไว้โดยจำเลยที่ 1 มิได้ยินยอมด้วยไม่ได้ทั้งทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันปักเสาปูนลงในทางพิพาทด้านที่ติดกับที่ดินของโจทก์ ทำให้ทางภารจำยอมเหลือความกว้างอยู่เพียง 3 เมตร นั้น แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งห้ามิได้กระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์ของภารจำยอมที่จำเลยที่ 1จดทะเบียนไว้ลดหรือเสื่อมความสะดวกไป โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งห้ารื้อถอนเสาปูนที่ปักไว้และเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งห้าไม่ได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับค่าเสียหายอีกต่อไป
พิพากษายืน