คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างทำของกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงจึงอาจนำพยานบุคคลมาสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขข้อความในสัญญาจ้างทำของได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความมาตรา94 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยต้องชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์รวมเป็นเงิน248,625บาทแต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเบี้ยปรับจำนวน249,625บาทและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเป็น248,625บาทเพื่อให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา143

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2533 โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยปลูกสร้างอาคารทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น จำนวน 13 หลังในราคาหลังละ 85,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 1,105,000 บาท ตกลงชำระค่าจ้างเป็น 6 งวด จำเลยก่อสร้างงานตามสัญญาแล้วเสร็จไป 2 งวดส่วนงานงวดที่ 3 ดำเนินการไปบางส่วนแล้วจำเลยทิ้งงานไป โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย จำเลยต้องชำระค่าปรับจากการทำงานเป็นเงินวันละ 5,525 บาท รวมเป็นค่าปรับจำนวน 259,675 บาท และจำเลยเบิกเงินค่าจ้างไปรวมเป็นเงิน 840,000 บาท แต่จำเลยดำเนินงานเสร็จไปตามสัญญาเพียงงานงวดที่ 3 คิดเป็นค่าจ้างจำนวน 459,090 บาทจึงเป็นเงินค่าจ้างที่เบิกเกินไป 380,910 บาท เมื่อรวมค่าปรับดังกล่าวข้างต้นแล้วเป็นเงิน 640,585 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 14,004 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 654,585 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 640,585 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญาว่าจ้างเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ไม่มีผลผูกพันโจทก์กับจำเลย เนื่องจากโจทก์และจำเลยไม่มีเจตนาใช้สัญญาดังกล่าวบังคับต่อกัน โจทก์ขอให้จำเลยทำสัญญาเพื่อนำไปอ้างต่อบริษัทเท่านั้น โจทก์ตกลงกับจำเลยด้วยวาจาว่าจ้างเหมาเฉพาะค่าแรงงานให้จำเลยก่อสร้างอาคารทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น จำนวน13 หลัง เป็นเงินหลังละ 125,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน1,650,000 บาท มีระยะเวลาการก่อสร้าง 6 เดือน โดยโจทก์เป็นฝ่ายจัดหาวัสดุก่อสร้างทั้งหมด จำเลยทำงานก่อสร้างแล้วเสร็จไปประมาณร้อยละ 90 ของงานทั้งหมดคิดเป็นเงินค่าจ้างจำนวน 1,462,000 บาทแต่โจทก์จ่ายค่าจ้างให้จำเลยเพียง 840,000 บาท โจทก์คงค้างชำระค่าจ้างเป็นเงินจำนวน 622,500 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเนื่องจากจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่ต้องชำระค่าปรับเพราะโจทก์จำเลยไม่มีเจตนาใช้หนังสือสัญญาว่าจ้างท้ายฟ้องบังคับต่อกัน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทวงถามให้โจทก์ชำระค่าจ้างที่ค้างชำระแล้ว แต่โจทก์ไม่ชำระ ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ชำระค่าจ้างที่ค้างชำระและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 635,163 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 622,500 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์จำเลยได้ทำเป็นหนังสือ มีเงื่อนไขผูกพันกันโดยชัดแจ้งตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 โจทก์ตกลงให้ค่าจ้างจำเลยหลังละ 85,000 บาท มิใช่125,000 บาท จำเลยได้ทำการก่อสร้างคิดเป็นปริมาณงานเพียงร้อยละ 40 เป็นเงินค่าจ้างจำนวน 459,090 บาท โจทก์ไม่ได้ติดค้างค่าจ้างจำเลย จึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินจำนวน 622,500 บาทแก่จำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 249,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2534เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระเงินจำนวน300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 14,004 บาท ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์รับฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ในเรื่องอัตราค่าจ้างปลูกสร้างอาคารทาวน์เฮาส์พิพาทแตกต่างไปจากที่ปรากฎในสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.3 เป็นการยอมรบการสืบพยานบุคคลแก้ไขพยานเอกสาร ต้องห้ามตามกฎหมายนั้นเห็นว่า สัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.3 เป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงโจทก์จึงอาจนำพยานบุคคลมาสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขข้อความในสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.3 ได้ไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94ทั้งคดีนี้ปรากฎว่าตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมายหมาย จ.3 ข้อ 1 กำหนดการว่าจ้างก่อสร้างอาคารทาวน์เฮาส์พิพาทจำนวน 13 หลัง ข้อ 2 กำหนดค่าจ้างในอัตราหลังละ 85,000 บาท แม้จะมีข้อความต่อไปว่า งวดที่ชำระเงินจำนวน 180,000 บาท ต่อหลัง งวดที่ 2 ชำระเงินจำนวน180,000 บาท ต่อหลัง งวดที่ 3 ชำระเงินจำนวน 180,000 บาท ต่อหลังงวดที่ 4 ชำระเงินจำนวน 180,000 บาท ต่อหลัง งวดที่ 5 ชำระเงินจำนวน180,000 บาท ต่อหลัง งวดที่ 6 ชำระเงินจำนวน 205,000 บาท ต่อหลังแต่สัญญาว่าจ้างตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นแบบพิมพ์ที่นำมากรอกจำนวนเงินและรายละเอียดอื่น ๆ โดยคำว่า “ต่อหลัง” เป็นคำที่ปรากฎในแบบพิมพ์อยู่แล้ว ทั้งเมื่อรวมเงินที่ต้องชำระทั้ง 6 งวดแล้วเป็นจำนวนเงิน1,105,000 บาท เท่ากับค่าจ้างหลังละ 85,000 บาท รวม 13 หลังจึงเป็นที่เห็นได้ว่าการกำหนดการชำระเงินทั้ง 6 งวด เป็นการกำหนดค่าจ้างก่อสร้างอาคารทาวน์เฮาส์พิพาททั้ง 13 หลัง แต่โจทก์และจำเลยมิได้ขีดฆ่าคำว่าต่อหลังตามแบบพิมพ์ออก กรณีหาเป็นการนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขข้อความในสัญญาว่าจ้างเอกสารหมายจ.3 ไม่ ศาลอุทธรณ์จึงรับฟังคำเบิกความพยานบุคคลของโจทก์ในเรื่องค่าจ้างปลูกสร้างอาคารทาวน์เฮาส์พิพาทว่าตกลงจ้างในอัตราหลังละ85,000 บาท รวมเป็นเงินค่าจ้างทั้งสิ้น 1,105,000 บาท ได้
แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเบี้ยปรับจำนวน249,625 บาท แก่โจทก์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น ปรากฎว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยต้องชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์วันละ 5,525บาท เป็นเวลา 45 วัน รวมเป็นเงิน 248,625 บาท ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 249,625 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อหลงผิดดังกล่าวให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 548,625 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 248,625 บาท นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2534 และจากต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง(วันที่ 31 ตุลาคม 2534) ต้องไม่เกิน 14,004 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share