คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9928/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย” ดังนั้น เมื่อบริษัท ส. ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้รับอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทดังกล่าวย่อมมีผลเฉพาะบริษัทดังกล่าวเท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมาผูกพันตามหนี้ที่กำหนดไว้ในแผน ส่วนจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันหาหลุดพ้นไปด้วยไม่ เนื่องจากแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยผู้ค้ำประกันแต่อย่างใดตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น หากโจทก์ได้รับชำระหนี้จากบริษัทดังกล่าวตามแผนซึ่งเมื่อพิจารณาตามมูลค่าที่แท้จริงของสิ่งที่นำมาชำระหนี้ทำให้หนี้ลดลงไปได้บางส่วน หนี้ส่วนของจำเลยผู้ค้ำประกันย่อมระงับไปเพียงบางส่วนเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทดังกล่าวจนครบถ้วน จำเลยจึงต้องมีความรับผิดในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาส่วนที่เหลือตามฟ้องให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท
จำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีนำมาขายทอดตลาดแล้วไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา และหลังจากนั้นก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไปขอตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินจากสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อยและสาขาธนบุรี ก็ไม่ปรากฏว่ามีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอีกแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก จึงต้องข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างในส่วนนี้ได้ว่าตนไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงรับฟังได้ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อจำเลยยังคงต้องรับผิดในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามฟ้อง และไม่มีพฤติการณ์อย่างอื่นที่แสดงว่ามีเหตุอื่นที่จำเลยไม่ควรล้มละลายแต่อย่างใด การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2544 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 6861/2544 ให้จำเลยกับพวกร่วมกันชำระเงิน 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่หากโจทก์ได้รับชำระหนี้ในคดีที่บริษัทสยาม วี.เอ็ม.ซี กระจกนิรภัย จำกัด ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีข้างต้นที่ถูกฟื้นฟูกิจการแล้วเพียงใดก็ให้สิทธิได้รับชำระหนี้ลดลงเพียงนั้น กับให้จำเลยกับพวกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยค่าขึ้นศาลให้ใช้เพียงเท่าที่ชนะคดี สำหรับค่าทนายความเห็นสมควรกำหนดให้ 20,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยกับพวกร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ โจทก์ได้รับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการของบริษัทสยาม วี.เอ็ม.ซี กระจกนิรภัย จำกัด แล้วไม่พอชำระหนี้ได้ทั้งหมด โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิ 1,068,507 บาท หักชำระหนี้แก่โจทก์แล้วคงเหลือหนี้ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2549 จำนวนเงิน 12,525,466.12 บาท หลังจากนั้นโจทก์คำนวณยอดหนี้ตามคำพิพากษาที่ค้างชำระ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ตามฟ้องแล้วมีต้นเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 9,929,390.05 บาท กับค่าฤชาธรรมเนียมที่ใช้แทนและค่าทนายความอีก 220,915 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,150,305.50 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามฟ้องให้โจทก์หรือไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า บริษัทสยาม วี.เอ็ม.ซี กระจกนิรภัย จำกัด ได้รับอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการ และโจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้เต็มจำนวนแล้ว ทำให้จำเลยไม่สามารถไล่เบี้ยจากบริษัทดังกล่าวในภายหน้าได้ เมื่อโจทก์เห็นชอบตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทดังกล่าวและยอมรับเงื่อนไขการชำระหนี้แล้ว ต้องถือว่าหนี้ดังกล่าวของโจทก์ระงับแล้ว จำเลยฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้ดังกล่าวด้วย จึงไม่มีหนี้ต่อโจทก์อีกต่อไปนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย” ดังนั้น เมื่อบริษัทสยาม วี.เอ็ม.ซี. กระจกนิรภัย จำกัด ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ 6861/2544 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้รับอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทดังกล่าว ย่อมมีผลเฉพาะบริษัทดังกล่าวเท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมาผูกพันตามหนี้ที่กำหนดไว้ในแผน ส่วนจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันหาหลุดพ้นไปด้วยไม่ เนื่องจากแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยผู้ค้ำประกันแต่อย่างใดตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น หากโจทก์ได้รับชำระหนี้จากบริษัทดังกล่าวตามแผนซึ่งเมื่อพิจารณาตามมูลค่าที่แท้จริงของสิ่งที่นำมาชำระหนี้ทำให้หนี้ลดลงไปได้บางส่วน หนี้ส่วนของจำเลยผู้ค้ำประกันย่อมระงับไปเพียงบางส่วนเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทดังกล่าวจนครบถ้วน จำเลยจึงต้องมีความรับผิดในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาส่วนที่เหลือตามฟ้องให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีนำมาขายทอดตลาดแล้วไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา และหลังจากนั้นก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไปขอตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินจากสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อยและสาขาธนบุรี ก็ไม่ปรากฏว่ามีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอีกแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก จึงต้องข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างในส่วนนี้ได้ว่าตนไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงรับฟังได้ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อจำเลยยังคงต้องรับผิดในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามฟ้อง และไม่มีพฤติการณ์อย่างอื่นที่แสดงว่ามีเหตุอื่นที่จำเลยไม่ควรล้มละลายแต่อย่างใด การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share