คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5771/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สมาคมโจทก์มีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อเผยแพร่ศาสนาอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เรื่องควบคุมสมาคมและองค์การต่าง ๆ การที่สมาคมโจทก์ไม่แจ้งจำนวนสมาชิกทุกประเภทและรายชื่อกรรมการ ไม่รายงานกิจการที่สมาคมได้ดำเนินการไปต่อจำเลยที่ 1 อันเป็นการขัดต่อข้อบังคับดังกล่าวไม่แจ้งจำเลยที่ 1 ภายในกำหนดว่าประสงค์จะดำเนินกิจการอีกต่อไปทั้งสมาชิกของสมาคมโจทก์มีความแตกแยกเป็นหลายฝ่ายถึงขั้นแจ้งความจับกุมสมาชิกซึ่งกันและกัน นำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลหลายคดี อันเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง และขัดต่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้นเป็นที่เสียหายแก่สมาคมโจทก์ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลสมาคมโจทก์ย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนการอนุญาตที่ให้ไว้แก่สมาคมโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการละเมิดโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 สมคบกับสมาชิกของสมาคมโจทก์ที่ไม่ใช่กรรมการหรือผู้ดำเนินงาน และไม่ใช่ผู้ที่สมาคมมอบหมายบางคนออกคำสั่งที่ 92/2522 เพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสมาคมโจทก์เพื่อแกล้งโจทก์ เป็นการละเมิดโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนเสีย ให้สมาคมโจทก์ดำเนินกิจการต่อไปในนามเดิม และให้จำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนสมาคมโจทก์ใหม่โดยใช้ชื่อเดิม
จำเลยทั้งสองให้การว่า เหตุที่มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของโจทก์เพราะโจทก์ ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติและสมาชิกสมาคมโจทก์แตกความสามัคคี ก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองจึงไม่เป็นการละเมิดโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายโดยฟังข้อเท็จจริงยุติว่า สมาคมโจทก์มีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อเผยแพร่ศาสนา อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2486การดำเนินกิจการของสมาคมโจทก์เดิมอยู่ในความควบคุมของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ต่อมามีการถอน มาเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แล้วโอนมาอยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 สมาคมโจทก์จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เรื่อง ควบคุมสมาคมและองค์การต่าง ๆ ตามข้อ 5 ข้อ 6ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 เอกสารหมาย ล.5 คือ ต้องแจ้งจำนวนสมาชิกทุกประเภทให้ทราบทุกระยะ 12 เดือน ต้องแจ้งชื่อกรรมการใหม่ภายใน 7 วัน ต้องส่งหัวข้อการประชุมคณะกรรมการภายใน 15 วันนับแต่วันประชุม ต้องส่งรายงานประจำปีแสดงกิจการที่ ได้กระทำทุกปีต้องแจ้งให้ทราบถึงการจุดประชุมใหญ่สมาชิกประจำปี หรือการประชุมวิสามัญล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และต้องแจ้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อบังคับภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมได้ลงมติ ปรากฏว่าสมาคมโจทก์ไม่เคยแจ้งจำนวนสมาชิกทุกประเภทกับรายชื่อกรรมการทั้งไม่เคยรายงานกิจการที่สมาคมได้ดำเนินไปให้จำเลยที่ 1 ทราบแต่อย่างใด อันเป็นการขัดต่อข้อบังคับของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติดังกล่าว ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2521 จำเลยที่ 1 ได้ประกาศให้สมาคม สโมสร และมูลนิธิ ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นทราบว่าหากประสงค์จะดำรงอยู่ต่อไปให้แจ้งต่อจำเลยที่ 1 ทราบภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2521หากไม่แจ้งจะถือว่าไม่ประสงค์จะดำเนินกิจการต่อไป จำเลยที่ 1จะพิจารณาเพิกถอนการอนุญาตที่ให้ไว้ โจทก์ได้ประกาศดังกล่าวและไม่แจ้งจำเลยที่ 1 ภายในกำหนดว่าประสงค์จะดำเนินกิจการอีกต่อไปจริง ประกอบกับสมาชิก ของสมาคมโจทก์มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน แตกแยกเป็นหลายฝ่าย เนื่องจากผลประโยชน์ของสมาคมมีมาก มีการแจ้งความจับกุมสมาชิกโจทก์ซึ่งกันและกัน และนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลหลายคดี อันเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองและขัดต่อวัตถุประสงค์ของสมาคมที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่ศาสนาเป็นที่เสียหายแก่สมาคมโจทก์ ในกรณีเช่นนี้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลสมาคมโจทก์ต่อจากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติและสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรสั่งเพิกถอนการอนุญาตที่ให้ไว้แก่สมาคมโจทก์ได้ ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กลั่นแกล้งมีคำสั่ง เพิกถอนการอนุญาตสมาคมโจทก์คำสั่งที่ 92/2522 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2522 ของจำเลยที่ 1ที่ให้เพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสมาคมโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.8หรือ ล.14 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดโจทก์ไม่มีเหตุที่ศาลจะสั่งเพิกถอน ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share